|
Aged Society
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้สูงอายุในสังคมไทยอาจได้รับการกล่าวถึงอย่างน้อยปีละครั้ง เมื่อวันผู้สูงอายุได้รับการบรรจุแทรกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในวันสำคัญของชาติ ควบคู่กับวันครอบครัว ท่ามกลางมหกรรมความรื่นเริงขนาดใหญ่ประจำปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา
แต่กลุ่มผู้สูงอายุของญี่ปุ่นกำลังดำเนินชีวิตประจำวันในมิติและท่วงทำนองที่แตกต่างออกไป
ตามมาตรฐานของสหประชาชาติ ว่าด้วยข้อกำหนดด้านประชากรศาสตร์ ญี่ปุ่น ถูกระบุให้เป็น Aging Society มาตั้งแต่เมื่อปี 1970 เมื่อประชากรสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรรวมของประเทศ หากแต่เพียง 24 ปีหลังจากนั้น ญี่ปุ่นก็ได้รับการปรับสถานะไปสู่ Aged Society เมื่อประชากรสูงวัยดังกล่าวได้เพิ่มสัดส่วนไปสู่ระดับมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศในปี 1994 ก่อนที่กลุ่มประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปสู่ระดับร้อยละ 17.5 ในปี 2000 และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นไปสู่ระดับร้อยละ 27.8 ภายในปี 2025 อีกด้วย
ขณะที่ผลสำรวจจำนวนประชากรชาวญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายน 2004 ที่ผ่านมาพบว่า ประชากรจำนวนกว่า 24.66 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ เป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และในจำนวนนี้มีประชากรที่มีอายุเกินกว่า 75 ปีขึ้นไปมากถึง 10.88 ล้านคน
การเปลี่ยนผ่านสถานะจาก Aging Society ไปสู่ Aged Society อย่างรวดเร็วของญี่ปุ่นดังกล่าว นับเป็นอัตราการเติบโตของกลุ่มประชากรสูงอายุที่ใช้เวลาสั้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนีและอังกฤษ ที่ใช้เวลากว่า 40 ปี หรือกรณีของสวีเดนที่ใช้เวลานานถึง 85 ปี มิพักต้องกล่าวถึงฝรั่งเศสที่ใช้เวลานาน ถึง 115 ปี ในการเปลี่ยนผ่านจาก Aging Society มาสู่ Aged Society นี้
การเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรสูงอายุในญี่ปุ่น นอกจากจะเป็นผลมาจากความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เอื้ออำนวยให้คนญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเกี่ยวเนื่องกับอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.29 ซึ่งเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในโลกเลยทีเดียว
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง อยู่ที่จำนวนประชากรที่มีอายุเกินกว่า 100 ปี ซึ่งมีเพียง 163 คน จากการสำรวจเมื่อปี 1963 ได้เพิ่มจำนวนเป็น 23,038 คน ในการสำรวจเมื่อปี 2004 ขณะที่ความยืนยาวของอายุชาวญี่ปุ่นเฉลี่ยได้เพิ่มจากระดับ 50-54 ปี เมื่อการสำรวจในปี 1947 มาสู่ที่ระดับ 81.84 ปี ในการสำรวจเมื่อปี 2003 ซึ่งหากสรุปบนฐานของสมการคณิตศาสตร์เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็ต้องระบุว่าชาวญี่ปุ่นมีอายุยืนยาวขึ้นด้วยอัตราขยายตัวเฉลี่ยในระดับ 6 เดือนในแต่ละปี
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามส่งเสริมให้กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีปกติสุข โดยในปี 2000 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการสัญจรโดยปราศจากอุปสรรค (barrier-free transportation law) ซึ่งเป็นผลให้สถานีรถไฟแต่ละแห่งต้องติดตั้งระบบบันไดเลื่อนและลิฟต์ ขณะที่รถโดยสารประจำทางได้รับการออกแบบใหม่ให้เป็นแบบ non-step bus เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและผู้ที่สัญจรโดย wheelchair ให้สามารถใช้บริการสาธารณะเหล่านี้ได้
นอกเหนือจากความพยายามของภาครัฐ ที่หนุนเสริมให้ประชากรผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและอุดมด้วยความรื่นรมย์ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ และค่าบริการสาธารณูปการหลากหลายประเภท ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องแล้ว โครงการพิเศษอื่นๆ ในลักษณะ active-for-life society ที่กระตุ้นให้กลุ่มผู้สูงอายุดำเนินชีวิต หรือเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ก็ได้รับการนำเสนอสู่สาธารณะอยู่เป็นระยะ
ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุที่ความสำเร็จและความจำเริญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ได้รับการระบุว่าเป็นมูลฐานที่ก่อให้ภาวะสังคมสูงอายุในปัจจุบัน ภาระที่ต้องแบกรับทั้งในด้านของสวัสดิการสังคม และปัญหาการขาดแคลน แรงงานภาคการผลิตในระยะยาวที่เกิดจากการเติบโตของกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้จึงได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นความท้าทายสำหรับการบริหารจัดการ มากกว่าที่จะถูกพิจารณาในลักษณะของการเป็นปัญหาทางสังคม
กระนั้นก็ดี จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าว ได้สร้างความกังวลใจไม่เฉพาะต่อกรณีว่าด้วยความสามารถในการเพิ่มผลผลิตของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มจะลดลงเท่านั้น หากประเด็นว่าด้วยค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ (healthcare cost) ที่มากขึ้นจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนี้ ยังได้รับการประเมินว่าอาจเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ของชาติในอนาคต
แม้ว่าผู้สูงอายุของญี่ปุ่นจะเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีอัตราการปลอดจากโรคภัยสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สูงอายุในประเทศ Aging และ Aged Society แห่งอื่นๆ แต่จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นได้ส่งผลให้ระบบกลไกทางสังคม ที่สร้างขึ้นจากฐานประชากรแบบพีระมิด ซึ่งเคยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในอดีต เริ่มไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้ รูปแบบการบริหารจัดการและมาตรการทางสังคมใหม่ๆ โดยกลไกภาครัฐที่เล็งผลในระยะสั้นและระยะยาว จึงได้รับการนำเสนอสู่สาธารณะควบคู่กับความพยายามในการปฏิรูประบบและกฎระเบียบทางราชการเพื่อรองรับกับกรณีดังกล่าวด้วย
แนวความคิดว่าด้วยการเปลี่ยนข้อกำหนดนิยามการเป็นผู้สูงอายุ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับการนำเสนออย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับช่วงอายุของบุคคลที่จะได้รับการอุดหนุนด้านสวัสดิการสังคม และการสาธารณสุขจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ระดับอายุ 65 ปี ให้เพิ่มเป็น 75 ปี เพื่อลดภาระด้านการงบประมาณภาครัฐ ควบคู่กับการกระตุ้นให้ผู้สูงอายุในวัยที่เพิ่งเกษียณ แต่ยังมีความสามารถและปรารถนาจะทำงานให้มีโอกาส ได้ทำงานในองค์กรที่สังกัดหรือองค์กรที่เหมาะสมกับความสามารถต่อไป
ทัศนะดังกล่าวนอกจากจะเป็นประหนึ่งมาตรการที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุแล้ว ในด้านหนึ่งยังเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงว่าด้วยระบบบำนาญ (pension system) ที่ต้องการให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ดำรงสถานะเป็นส่วนหนึ่งของ working generation ให้นานขึ้น แทนที่จะผันตัวเองไปสู่การเป็น retired generation ที่นับวันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ
อย่างไรก็ดี การเติบโตขึ้นของกลุ่มประชากรสูงอายุของญี่ปุ่น ได้ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและช่องทางของโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่มีกลุ่มผู้บริโภควัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นฐานลูกค้าหลัก ซึ่งตลาดของนวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ย่อมมิได้จำกัดเฉพาะเพื่อการตอบสนองต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
หากแต่รัฐบาลญี่ปุ่นและผู้ประกอบการทั้งหลายต่างมุ่งหมายให้สังคมสูงอายุของญี่ปุ่น เป็นประหนึ่งบททดสอบพิสูจน์และเป็นต้นแบบสำหรับสังคมสูงอายุในประเทศอื่นๆ ที่หมายถึงโอกาสในการรุกเข้าเจาะตลาดที่มี niche จำเพาะในอนาคตไปพร้อมกันด้วย
บทบาทและสถานะของผู้สูงอายุใน Aged Society แบบญี่ปุ่น จึงมิได้แปลกแยกออกจากพลวัตทางเศรษฐกิจ-สังคม ให้กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่มีไว้ให้ระลึกถึงปีละครั้งเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|