|
การเกษตรไร้ดิน
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หากเปรียบเกษตรกรเป็นดัง กระดูกสันหลังของชาติ กระดูกสันหลังสัญชาติญี่ปุ่นคงเป็นกระดูกขนาดใหญ่ที่ได้รับสารอาหารบำรุงอย่างครบถ้วนเสริมสร้างให้กระดูกคงความแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา
อย่างน้อยจากบันทึกเรื่องราวเมื่อ 400 กว่าปีก่อนในสมัยเอโดะที่ว่า ชาวนาในสมัยนั้นได้รับการยกย่องให้มีวรรณะทางสังคมสูงเป็นอันดับสองรองจากซามูไร ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันความสำคัญของเกษตรกรญี่ปุ่นมาตั้งแต่ครั้งอดีต (อ้างอิง นิตยสารผู้จัดการฉบับเดือน มกราคม 2005 ในคอลัมน์เดียวกัน เรื่อง A Story from Nagoya Castle)
ด้วยกลไกการประกันราคาพืชผลการเกษตรของรัฐบาลในปัจจุบันส่งผลให้เกษตรกรสามารถจำหน่าย ผลผลิตได้ราคาดี พร้อมกันนี้คนญี่ปุ่นเองก็พึงใจที่จะเลือกซื้อพืชผักที่ปลูกในประเทศมากกว่า
พืชผักที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงแม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะความมั่นใจในคุณภาพของความสด ความอร่อย และความปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง ซึ่งสร้างความพอใจในการบริโภคสินค้าคุณภาพสูง ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากการเลือกใช้สินค้าอุตสาหกรรมชั้นดี ที่ตีตรา MADE IN JAPAN
ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรญี่ปุ่นโดยทั่วไปมีความรู้ ความเข้าใจในการเกษตรเป็นอย่างดีและมีความคุ้นเคยกับการประยุกต์เทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการเกษตรซึ่งได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการที่วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชและเทคนิคทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยจิบะ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.จตุรงค์ จันทร์สี่ทิศ นักเรียนไทย (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น) ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการปลูกมะเขือเทศโดยไม่ใช้ดิน
เนื้อหาใน thesis นั้นเป็นการพัฒนาการเกษตรไร้ดิน ระบบ hydroponic โดยเลือกใช้กากมะพร้าว ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายและมีราคาถูกในเมืองไทยใช้เป็นวัสดุปลูก ทดแทนการใช้ดินที่มีข้อดีเหนือการใช้ดินปลูกอยู่หลายอย่าง เช่น ช่วยลดอัตราการเกิดโรคพืชที่มาจากดิน ซึ่งตัดปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีไปโดยปริยาย เทคนิคนี้สามารถควบคุมปริมาณน้ำและปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของพืชอันเป็นการประหยัดต้นทุนการผลิตไปในตัว นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาพื้นที่ดินเค็มให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวได้
มะเขือเทศเป็นพืชสวนที่เหมาะกับงานวิจัยนี้ เนื่องจากสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเวลาครึ่งปีและเป็นพืชที่ขายได้ราคาดี
ต้นกล้าที่โตได้ขนาดจะถูกย้ายไปปลูกในกรีนเฮาส์ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ โปรแกรมดังกล่าวจะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ระบบแยกจากกัน กล่าวคือ (1) เมื่อปริมาณความชื้นในกรีนเฮาส์ลดลงจนถึงระดับที่ตั้งโปรแกรมเอาไว้ น้ำจากท่อที่ต่อทั่วกรีนเฮาส์ จะไหลรดลงมาในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของมะเขือเทศ (2) เมื่อความเข้มข้นของส่วนผสมปุ๋ยลดลงจากการที่พืชดูดขึ้นไปใช้ในการสังเคราะห์แสงคอมพิวเตอร์จะสั่งให้มีการเติมปุ๋ย ทดแทนให้เท่ากับส่วนที่หายไป
เมื่อเทียบกับการปลูกมะเขือเทศแบบธรรมดาแล้ว การปลูกมะเขือเทศโดยไม่ใช้ดินสามารถลดระยะความห่างระหว่างต้นได้ 2 เท่า นั่นหมายความถึงความสามารถในการเพิ่มปริมาณของจำนวนต้นมะเขือเทศ ได้มากกว่า 2 เท่า ภายใต้พื้นที่เท่าเดิมโดยไม่ทำให้คุณภาพของผลผลิตลดลงไป
โดยธรรมชาติของมะเขือเทศจะให้ผลผลิตที่มี คุณภาพและมีความอร่อยสูงสุดในช่วงการเก็บเกี่ยว 3-4 ช่วงแรกจากทั้งหมดประมาณ 16 ช่วง ดังนั้นงานวิจัยนี้ จึงได้รับการคำนวณและออกแบบการเก็บเกี่ยวเพียงแค่ 3-4 ช่วงแรกของช่วงการเก็บเกี่ยวซึ่งได้ปริมาณมะเขือเทศเทียบเท่ากับการปลูกด้วยระยะห่างปกติแต่ได้มะเขือเทศคุณภาพสูงที่จำหน่ายได้ราคาดีและเมื่อคิดสรตะรวมกับต้นทุนที่ได้รับการควบคุมอย่างชาญฉลาด ทำให้สามารถจำหน่ายมะเขือเทศได้กำไรกว่าการปลูกแบบใช้ดินถึง 2 เท่าหรือมากกว่า
นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรได้ในระยะเวลาอันสั้นแล้วระยะเวลาที่เหลือยังสามารถเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีด้วยเทคนิคเดียวกัน อย่างเช่นสตรอเบอรี่ได้อีกด้วย
หากมองในระยะยาวจะพบว่าการปลูกพืชในลักษณะเช่นนี้สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เลือกชนิดของพืชปลูกได้ตามฤดูกาลและความนิยมของตลาด ควบคุมต้นทุนได้แม่นยำ ลดปัญหามลภาวะและการใช้สารเคมีรวมถึงยาฆ่าแมลงที่ตกค้าง สามารถสร้างแบรนด์พืชผักที่ช่วยให้ผู้บริโภคอุ่นใจในการเลือกซื้อ
อีกไม่ช้าไม่นาน เกษตรกรญี่ปุ่นโดยเฉพาะสวนที่มีการปลูกพืชไร้ดินระบบ hydroponic อยู่แล้ว คงจะได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากนักวิชาการเกษตร ที่สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ ดร.จตุรงค์ จันทร์สี่ทิศ เพื่อประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชต่อไป
ในอนาคตนั้นเชื่อว่าหากประเทศไทยมีการพัฒนาการเกษตรอย่างจริงจัง โดยได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการเกษตรในลักษณะคล้ายกันนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระดูกสันหลังสัญชาติไทยคงเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ที่แข็งแรงไม่แพ้ชาติใดในโลก
ขอขอบคุณ ดร.จตุรงค์ จันทร์สี่ทิศ เอื้อเฟื้อข้อมูล และภาพประกอบ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|