|
ชั่วโมงบัลเลต์ของ "ครูลูกปัด"
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เสียงเปียโนดังขึ้น เด็กผู้หญิงในชุดสีชมพูอ่อนหวาน วิ่งออกมารุมล้อมครู "ลูกปัด" และซ้อมเต้นบัลเลต์กันอย่างสนุกสนาน พลังแห่งความสนุกสนาน ควบคู่ไปกับศิลปะแห่งเสียงเพลง คือเสน่ห์ที่เด็กผู้หญิงพากันหลงใหล
วิภาวี เบญจธนสมบัติ ครูลูกปัด กำลังสอนลูกศิษย์ตัวน้อยๆ อย่างมีความสุข ในขณะที่เด็กๆ ก็ออกลีลาท่าทางอย่างเพลิดเพลิน
จากประสบการณ์กว่า 10 ปี ของการเป็นครูสอนบัลเลต์ เธอเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าอาชีพนี้ จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ลูกศิษย์ของเธอเคยลดลงอย่างฮวบฮาบในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และจะทยอยดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว
ผู้ปกครองส่วนใหญ่คาดหวังเพียงว่าบัลเลต์เป็นการฝึกเต้น การออกลีลาท่าทางช่วยได้อย่างมากในเรื่องของบุคลิกภาพและสมาธิของเด็กๆ น้อยคนนักที่จะหวังไกลไปถึงการให้ลูกเป็นนักบัลเลต์ที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่การเป็นครูสอนบัลเลต์
หนทางของครูลูกปัดก็เช่นเดียวกัน เดิมทีเธอก็ไม่ได้ฝันไว้ว่าจะต้องเป็นครู เพียงแต่มีใจรักและได้มีโอกาสเรียนอย่างต่อเนื่อง การฝึกฝนตนเองเพื่อเป็นครูที่ดีจึงได้ถูกวางแผนตามมา
"ลูกปัดเริ่มเรียนบัลเลต์ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เริ่มแรกเลยได้แรงบันดาลใจมาจากหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่มีหุ่นกระป๋องสีแดงมีเพื่อนผู้หญิงใส่กระโปรงบัลเลต์ฟูฟ่องเต้นไปมาอยู่ใกล้ๆ ชอบมากค่ะ อยากเป็นเด็กผู้หญิงคนนั้นมาก แม่เลยพาไปเรียน"
เธอเริ่มเรียนบัลเลต์ครั้งแรกกับอาจารย์พรพิมล กันทาธรรม ในขณะที่เรียนระดับมัธยมได้โอกาสครั้งสำคัญจากอาจารย์ ด้วยการให้เป็นครูผู้ช่วยสอนน้องเล็กๆ ระดับชั้นประถม เริ่มตั้งแต่ช่วยปิด-เปิดเทปเพลง สอนท่าเบสิกต่างๆ ในขณะเดียวกันอาจารย์ก็ได้สอนเทคนิคท่าเต้นต่างๆ ให้เธอเพิ่มเติมด้วย
ความรู้เรื่องบัลเลต์แตกฉานมากขึ้นทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เมื่อได้มีโอกาสเข้าไปเป็นนิสิตน้องใหม่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขานาฎยศิลป์ตะวันตก จบปริญญาตรีในปี 2536 ซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจ ส่งผลดีไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ ไปด้วย เช่น โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสอนบัลเลต์ ว่ายน้ำ เทนนิส หรือแม้แต่โรงเรียนสอนกอล์ฟสำหรับเด็ก ก็เปิดขึ้นหลายแห่งในเวลานั้น
เธอเริ่มมั่นใจว่าการเป็นครูสอนบัลเลต์น่าจะเป็นอาชีพหนึ่งที่มั่นคง จึงได้ไปสอบด้าน Teaching Certificate (Distinction) จาก Royal Academy of Dance และในปี 2538-2539 ยังไปศึกษาเพิ่มเติม Modern Dance, Ballet จาก Broadway Dance Center ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Choreography Projects, New York University
กลับมาก็มาสอนที่โรงเรียนพรพิมลสบหทัย บัลเลต์ และได้โอกาสฝึกฝนตนเองเพื่อสอบเอาใบ Certificate of Advance Examjnation จาก Academy of Dance เมื่อปี 2542
ปัจจุบันสอนประจำอยู่ที่ Star Dance Studio เป็นกิจกรรมหลังเลิกเรียนของเด็กๆ ในโรงเรียนสมถวิล รวมทั้งสอนที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา โรงเรียนทอสี และโรงเรียนนาฏลีลา กรุงเทพฯ
ครูลูกปัดบอกว่า ปัจจุบันการเรียนบัลเลต์เพื่อยึดเป็นอาชีพครูยังมีน้อยมาก ส่งผลให้ค่าเล่าเรียนยังคงค่อนข้างสูง เป็นที่สนใจของผู้ปกครองที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงเท่านั้น ขณะเดียวกันในปัจจุบัน "บัลเลต์" เป็นที่รู้จักมากขึ้น พ่อแม่ที่ให้ความสำคัญในเรื่องพัฒนาบุคลิกภาพนอกเหนือจากการเรียนรู้ทางด้านวิชาการ และต้องการผลักดันให้ลูกได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในสังคมอีกระดับหนึ่งก็เพิ่มขึ้นด้วย
จากประสบการณ์ต่างๆ ทำให้มั่นใจว่าสักวันเธอจะต้องมีโรงเรียนเป็นของตนเอง เพื่อร่วมปลูกฝังพัฒนาการของเด็กๆ และการเต้นบัลเลต์ และวันนี้คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างแบรนด์ Star Dance Studio ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|