Doll House

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพของหญิงสาวชาวไทยที่ออกมาส่งแขกชาวต่างชาติขึ้นรถสามล้อหน้าบ้านหลังหนึ่งในซอยต้นสน พร้อมก้มลงไหว้อย่างอ่อนช้อย สร้างความประทับใจจนต้องเข้าไปค้นหาเรื่องราวภายในบ้าน

เป็นบ้านหลังเล็กๆ 2 ชั้น ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทิวดอร์ ซึ่งอาจเห็นได้ทั่วไปในชนบทของยุโรป และน่าจะเป็นบ้านในฝันของใครหลายคนทีเดียว ที่สำคัญเป็นที่อยู่อาศัยในบรรยากาศที่ร่มรื่นแต่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสถานีชิดลมเพียงไม่กี่เมตร

บ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2473-2474 หรือประมาณ 75 ปีที่ผ่านมา เดิมทีเป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ของหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า วรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมบุญ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาเขียน

หม่อมเจ้าโวฒยากรทรงสำเร็จการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ต่อมาพระองค์ได้เข้ารับราชการในหน่วยการช่างที่กรมรถไฟ คุมงานก่อสร้างต่างๆ ของกรมรถไฟ หลังจากนั้นก็ได้รับเชิญไปสอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บ้านหลังนี้กลายเป็นเรือนหอที่น่ารัก เมื่อพระองค์ทรงสมรสกับหม่อมจิตรา บุตรพระปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) และคุณหญิงปฤกษ์ ปันยารชุน

โครงสร้างหลักของบ้านเป็นไม้เต็งรังและไม้สัก ส่วนผนังใช้เทคนิคการหมักฟางในน้ำพร้อมด้วยส่วนผสมของขี้เถ้า หลังจากนั้นนำฟางไปคลุกกับดินเหนียว สำหรับฉาบบนผิวไม้ไผ่ แล้วปล่อยตากลมตากแดดจนแห้ง หลังจากนั้นนำน้ำปูนขาวทาเคลือบผิวผนัง

เป็นวิธีการก่อสร้างบ้าน ซึ่ง ม.จ.โวฒยากรทรงค้นคว้าเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านผู้ยากจนในชนบทสมัยนั้น

ตัวบ้านดูจากด้านนอกจะเห็นแค่ 2 ชั้น แต่เมื่อเข้าไปข้างใน จะพบว่ามีทางลงชั้นใต้ดินอีกชั้นหนึ่งด้วย และได้รับการยอมรับจากวงการสถาปัตยกรรมว่าเป็นเคหสถานแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีห้องใต้ดินสมบูรณ์แบบ มีระบบการถ่ายเทอากาศที่เหมาะสม

ปี 2532 ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณ โอรสของ ม.จ.โวฒยากร วรวรรณ ได้ออกแบบบูรณะดัดแปลงบานหน้าต่างจากบานทึบเป็นกระจกใส ต่อเติมห้องน้ำชั้นบน และเปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องปูนซีเมนต์ลอนคู่

ปี 2537 บ้านหลังนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปกรรมดีเด่นประจำปี 2537 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

ต่อมาท่านเจ้าของบ้านให้ชาวต่างชาติเช่า และปัจจุบันกลายเป็น "สปา 1930" สปากลางเมืองในบรรยากาศของบ้านเก่าอีกแห่งหนึ่ง ที่มีเรื่องเล่าผสมกลมกลืนไปกับโปรแกรมต่างๆ ในสปาที่ถ่ายทอดมาจากคนรุ่นโบราณ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.