|

โรงเรียนเล็กๆ บนถนนข้าวสาร "พิมานวิทย์"
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
โรงเรียน "พิมานวิทย์" ในพื้นที่เพียง 200 ตารางวา แทบจะถูกกลืนหายไปกับความวุ่นวายของผู้คนจากทั่วโลก ที่เข้ามาพักพิงในเกสต์เฮาส์บนถนนข้าวสาร
แต่ความศรัทธาของพี่น้องครอบครัวหนึ่งที่ตั้งใจสานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ ซึ่งต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาของคนในชุมชนย่านนี้ยังคงเจิดจ้า ชัดเจน
ดังนั้นไม่ว่าจะมีนักลงทุนเทียวเดินเข้าเดินออกขอพบเจ้าของโรงเรียน เพื่อขอซื้อที่ดิน จึงต้องพบกับคำปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า
"เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีค่ะ เสนอเป็นหลักร้อยล้านบาท และหาที่ดินแปลงใหม่ให้ย้ายโรงเรียนออกไปพร้อมสรรพ แต่ก็ได้ปฏิเสธไปแล้วเหมือนกัน"
ลลิตา เหล่าพานิช ผู้จัดการโรงเรียน ทายาทคนหนึ่งผู้สืบต่อกิจการของพิมานวิทย์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ด้วยน้ำเสียงอ่อนๆ และรอยยิ้มบนใบหน้า
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินบนถนนข้าวสารถนนสายสั้นๆ ที่มีความยาวเพียง 394 เมตร ในเขตพระนคร เป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับลามไหลต่อเนื่องไปยังฝั่งวัดชนะสงคราม และซอยต่างๆ ในย่านใกล้เคียง บ้านเก่า และอาคารพาณิชย์เหล่านั้นถูกเปลี่ยนมือไปเป็นโรงแรมเกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร แทบจะหมดสิ้น การเสนอราคาให้กับเจ้าของที่ดิน ซึ่งเรียกได้ว่าแปลงสุดท้ายบนถนนข้าวสารในราคาดังกล่าวนั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อย่างมากๆ
จำนวนเงินที่สูงมากขนาดนั้นสร้างความหวั่นไหวให้กับทายาทกลุ่มนี้หรือไม่ เพราะจะว่าไปแล้วกิจการของโรงเรียนที่มีนักเรียนเพียง 100 คน ไม่น่าจะทำกำไรต่อปีได้มากนัก เป็นสิ่งที่ชาวชุมชนบนถนนข้าวสารจับตามอง
แต่ในที่สุด "พิมานวิทย์" ก็ได้จัดงานครบรอบ 85 ปีไป เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2548 ที่ผ่านมาอย่างภาคภูมิใจ
"ผู้จัดการ" มีโอกาสพบกับพี่น้องทั้ง 5 คน (เดิมมี 7 เสียชีวิต 2 ท่าน) ซึ่งเป็นทายาทของมาโนช และประยงค์ พิมานแมน ที่ช่วยกันดูแลโรงเรียนซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยของฮัจยี ยอ พิมานแมน ผู้เป็นปู่ ในปี 2462 (สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัว)
วันนี้ทุกคนย้ำว่า โรงเรียนแห่งนี้ต้องคงอยู่ต่อไปตามที่ทั้งปู่และพ่อฝากความหวังให้เป็นสถานที่ที่สั่งสอนบุตรหลานในชุมชนอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าไม่เคยได้เงินปันผลกำไรมาหลายปีแล้วก็ตาม
เดิมที ฮัจยี ยอ พิมานแมน คหบดี ผู้ทรงคุณวุฒิในศาสนาอิสสาม และเป็นผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในยุคนั้นได้ใช้บ้านของท่านเองเป็นสถานที่สั่งสอนเรื่องศาสนาและสอนภาษาไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2480 ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนราษฎร์ให้ชื่อว่า "โรงเรียนอนุเคราะห์อิสลาม" โดยได้รื้อเรือนปั้นหยาส่วนหนึ่งออกไปสร้างเป็นโรงเรียนไม้ 2 ชั้นขึ้นมาแทน สอนนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-ป.4 เมื่อท่านได้ถึงอนิจกรรมเมื่อปี 2486 มาโนช พิมานแมน บุตรชายจึงรับหน้าที่เป็นผู้จัดการโรงเรียนแทน และในปี 2494 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพิมานวิทย์ จนกระทั่งได้ถึงแก่กรรมในปี 2514 ลลิตาบุตรสาวคนโตและลูกๆ จึงได้รับหน้าที่ดำเนินกิจการต่อมา
"หากจะขาย ขายไปนานแล้วค่ะ มีคนเข้ามาขอซื้ออยู่เรื่อยๆ บางคนทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ขาย ก็ยังเทียวเดินเข้ามาหาเพื่อจะย้ำว่า ต้องขายพี่ก่อนนะ"
"ครูแอ๊ด" นาทพรรณี ทายาทอีกคน เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ในการเรียนระดับชั้นประถม มาโนชได้ให้ลูกๆ ของเขาทุกคนเล่าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ หลังจากนั้นจึงได้แยกย้ายกันไปเรียนต่อระดับปริญญาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก่อนที่จะกลับมาช่วยพัฒนากิจการโรงเรียนนี้ต่อไป เมื่อเป็นกิจการที่ไม่มีเม็ดเงินกำไร พี่น้องแต่ละคนจำเป็นต้องไปหาอาชีพหลักอื่นๆ เพื่อเป็นรายได้ประจำ
ลลิตา พี่สาวคนโต เป็นผู้จัดการโรงเรียน จบปริญญาโท (ภาคศึกษาพิเศษ) จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาศาลคดีเด็กและเยาวชน
สุรางคนางค์ ปริญญาโท (ภาคศึกษาพิเศษ) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร รับผิดชอบการสอนวิชาการแสดง และพัฒนาบุคลิกภาพให้กับนักเรียน
นาทพรรณี ศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นฝ่ายบริหารและดูแลทั่วไปในโรงเรียน
ศศีลักษณ์ ปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันทำงานอยู่ที่บริษัทกรุงเทพประกันภัย ดูแลด้านการเงินของโรงเรียน
คัคนางค์ น้องสาวคนเล็กสุด จบปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต จากสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ปัจจุบันรับราชการเป็นนาวาอากาศโท กองกำลังพลทหารอากาศ และรับหน้าที่ฝ่ายพัฒนาโรงเรียน
นอกจากพี่น้องทั้ง 5 แล้ว ปัจจุบันหลานสาวคนโต ลูกสาวคนเดียวของลลิตาคือ คุณครู ศุภจี เหล่าพานิช ซึ่งจบปริญญาโทด้านจิตวิทยาการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ได้เข้ามาเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน นอกเหนือจากการเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย กรุงเทพอีกด้วย
พิมานวิทย์เริ่มสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถม 6 มีจำนวนนักเรียนในปัจจุบัน ประมาณ 100 คน เป็นชาวไทยพุทธ 60 เปอร์เซ็นต์ และชาวไทยมุสลิม 40 เปอร์เซ็นต์ มีครู 11 คน เป็นชาวต่างชาติ 2 คน ค่าเทอมประมาณ 1 หมื่นบาท ส่วนใหญ่เป็นเด็กในชุมชน ลูกหลานพ่อค้าแม่ค้าบนถนนข้าวสารและข้าราชการกองสลาก
การขยายพื้นที่โรงเรียนและรับนักเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อมาช่วยค่าบริหารจัดการ คงเป็นไปได้ยาก เพราะพื้นที่ของโรงเรียนจำกัด แต่ทางโรงเรียนก็ได้เตรียมแผนงานไว้ว่าจะเปิดสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการเพื่อเพิ่มรายได้อีกทาง หนึ่งให้กับโรงเรียน
เป็นวิธีการคิดและแนวทางที่พี่น้องกลุ่มนี้เลือกแล้ว และมั่นใจว่าการได้ทำตามคำสั่งของบรรพบุรุษซึ่งแม้จะล่วงลับไปแล้ว มีความสุขกว่าการตัดสินใจง่ายๆ เพียงแค่ "ขายที่ดิน" ไปและรับเงินก้อนใหญ่มาแบ่งปันกันแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|