SET Webboard "บริหารต้นทุนที่ถือ"

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงกลางปีดัชนีหุ้นไทยมักจะผันผวน หรือลงมากกว่าขึ้น ซึ่งสำหรับนักเก็งกำไรหวังส่วนต่างราคาอาจเปลี่ยนตัวหุ้นไปมา และต้องพบกับกำไรขาดทุนสลับกันไปพร้อมด้วยค่าคอมมิชชั่นที่ต้องจ่ายถี่ๆ และสำหรับนักลงทุนระยะกลางถึงยาวที่ตัดสินใจซื้อหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานของกิจการนั้น เดิมทีมักจะถือหุ้นนิ่งๆ นานๆ โดยไม่ขาย แต่ช่วงหลังนี้เริ่มมีความนิยมพูดถึงแนวคิดในการบริหารต้นทุนหุ้นหรือสร้างระบบการซื้อขาย (trading system) โดยฉบับนี้เราจะเริ่มจาก Densri Method หรือ DSM ที่ได้รับความสนใจกันมากถึงขนาดจัดตั้งเป็นกลุ่มใหม่ dsm.pantipmember.com ในเว็บบอร์ด Pantip.com

DSM มีหลักการให้วางแผนซื้อหรือขายหุ้นไว้ล่วงหน้า และทำตามแผนโดยไม่สนใจอารมณ์ตลาดและอารมณ์ตัวเอง โดยมีเป้าหมาย 2 ข้อ เมื่อหุ้นตกจะได้จำนวนหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องลงเงินเพิ่ม หรือหากจำนวนหุ้นเท่าเดิม ก็ต้องให้มีเงินสดเหลือกลับมามากขึ้น เราจะแนะนำกระทู้เรื่องวิธี DSM ที่น่าสนใจจากทั้ง thaivalueinvestor.com ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น thaivi.com, จาก greenbull.net และ pantip.com/cafe/sinthorn เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ DSM มากขึ้น

thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=6544
(คำถาม)

หุ้นตก ติดลบมากๆ จะจัดการกับหุ้นในพอร์ตอย่างไรบ้าง

1. ถือไว้เฉยๆ พื้นฐานไม่เปลี่ยนก็ไม่ทำอะไร (จะเป็นการเสียโอกาสในการลดต้นทุนหรือไม่)

2. ช็อตพอร์ตขายเพื่อสร้างโอกาสซื้อ ตามหลัก DSM (ปัญหาคือ ขายแล้วซื้อคืนไม่ได้อาจหงอย)

3. ซื้อเพิ่มเฉลี่ยต้นทุน (ถ้าเงินน้อยล่ะ และถ้าหุ้นตกไปเรื่อยๆจะยิ่งจมทุนหรือเปล่า)

4. cut loss แล้วเอาเงินไปซื้อตัวอื่นที่ดีกว่าแทน (ถ้า cut ไปเรื่อยๆ อาจ loss จนหมดตัวก็ได้)


pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I2926119/I2926119.html
(สำนวนต้นตำรับโดยผู้ที่ใช้ชื่อว่า "เด่นศรี" เอง)

เมื่อผมถือหุ้น ผมคิดเสมอว่า ผมเป็นเจ้าของกิจการ มีหน้าที่ต้องตรวจดูทุกวัน...

กิจการที่ดี... ปล่อยให้มันดำเนินต่อไป กิจการแย่... ค่อยๆ ลดขนาดมันลง ถ้าลดแล้วยังแย่ ก็ลดมันไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะฟื้นตัว ถ้ามันไม่ไหว ก็เลิกกิจการนั้นไป

ซึ่งก็เข้าหลักการ ปล่อยกำไรให้วิ่งต่อ และตัดขาดทุนให้เร็วที่สุด

กิจการที่แย่ ค่อยๆ ขายเพื่อลดขนาด ถ้ายังแย่อีกก็ขายไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเริ่มฟื้นตัว จึงซื้อกลับคืนมา (short against port) ปริมาณหุ้นในมือเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปันผลได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่ไม่ได้ลงเงินเพิ่มเลย กำไรจะตามมาเองโดยอัตโนมัติ หุ้นยิ่งลง พอร์ตยิ่งโต

เมื่อซื้อหุ้นแล้วราคาตกลง จะไม่ขายทิ้งทั้งหมด จะขายทีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ทุก 2 ช่องที่ลงมา แต่ถ้าขายแล้วไม่ลงต่อก็หยุดขายเพื่อรอซื้อคืนในราคาที่ต่ำกว่าที่เคยขายไป การซื้อหุ้นคืน ต้องซื้อให้ต่ำกว่าที่เคยขายไป ห้ามซื้อแพงกว่าเด็ดขาด (ซื้อคืนในจำนวนเท่ากับที่เคยขายไป จะทำให้มีรายได้จากส่วนต่างเข้ามาเรื่อยๆ)

การซื้อหุ้นเพิ่มเติม ห้ามใช้เงินจากส่วนอื่น นอกจากเงินจากรายได้จากหุ้น (คือ ห้ามเติมเงินลงในพอร์ตอีก เริ่มเล่นด้วยเงินเท่าไรก็เท่านั้น จากนั้นก็หารายได้จากเงินที่ลงไป)

การจะซื้อหุ้นคืน อย่าซื้อระหว่างวัน ควรซื้อตอนจะปิดตลาดเท่านั้น เช่นก่อนปิดตลาดเช้า หรือก่อนปิดตลาดบ่าย เลือกช่วงไหนให้เป็นช่วงนั้นอย่างสม่ำเสมอครับ นำข้อมูลการซื้อขายมา

...แยกหุ้นแต่ละตัว แยกราคาที่เคยซื้อ ราคาที่เคยขายหุ้นนั้น

...หักล้างกันสำหรับ ราคาซื้อ ที่ซื้อได้ต่ำกว่าที่เคยขายไป

...จะเหลือรายการที่ขายไปแล้วแต่ยังซื้อคืนไม่ได้ กับราคาที่ซื้อมาแล้วแต่ไม่ได้คู่กับที่เคยขายไป

...นำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นหลักเกณท์เริ่มต้นจากนี้ไป

จากนั้นมาเริ่มลงทุนโดยเน้นการเพิ่มหุ้น เน้นการขายแล้วซื้อ ใครที่ขาดทุนอยู่จะค่อยๆ ได้เงินที่หายไปกลับคืนมา

มองหาหุ้นในดวงใจ ที่จะสามารถอยู่คู่เศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคง สมมุติว่าหุ้น A ก็ซื้อเมื่อท้ายตลาด โดยไม่เคยสนใจว่าจะราคาเท่าไร ขอเพียงให้ได้หุ้นมาไว้ในมือ รุ่งขึ้น ถ้า A ราคาลงมา ผมจะขายทันที 20% ทุก 4 ช่อง ที่มันลงมา โดยเคาะขาย (ห้ามตั้งขาย) และจะล็อกราคาไว้เลยว่า จะขายอีก 20% หุ้นถ้าราคาลงมาอีก 4 ช่อง ไปเรื่อยจนกว่าหุ้นจะหมดมือ แต่ถ้าขายแล้วมันไม่ลงต่อผมจะหยุดขาย

ก่อนปิดตลาดเช้าและบ่าย (วันละ 2 ครั้ง) ผมจะเข้ามาเช็กหุ้น A ถ้าแดงผมก็จะไม่ซื้อกลับ แต่ถ้าเขียวผมจะซื้อกลับ โดยมีข้อแม้ว่าราคาที่จะซื้อได้ต้องต่ำกว่าที่เคยขายไปแล้ว ถ้าเขียวแต่ราคาสูงกว่าที่เคยขายไป ผมก็จะไม่ซื้อ

สิ่งที่จะได้จากแนวทางนี้คือ

1. ถ้าหุ้นตก หรือมีแนวโน้มขาลง คุณจะสามารถขายหุ้นจนหมดมือ และออกมายืนดูหุ้นตกได้อย่างสบายใจ

2. ถ้าหุ้นเริ่มขึ้น คุณจะสามารถกลับเข้าตลาดได้ก่อนคนอื่น โดยไม่มามัวแต่ลังเลว่าซื้อแล้วจะลงมั้ย ฯลฯ เพราะการลงทุนแนวนี้จะได้กำไรเมื่อซื้อ ไม่ใช่เมื่อขาย

ถ้าตัดสินใจซื้อ และซื้อได้แล้ว ก็ตั้งราคาเผื่อหุ้นลงเลยว่า ราคาลงมาเท่านี้ ต้องขายเท่านี้ แต่ถ้าซื้อแล้วหุ้นขึ้น ปล่อยมันไป จนกว่าวันไหนที่มันเริ่มมีสีแดงทางด้าน bid ก็ขายเลย 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วเข้ามาเช็กราคาหุ้นให้สม่ำเสมอ

www.bbznet.com/scripts3/view.php?user=greenbull&board=2&id=81209
(ความเห็นที่น่าสนใจ)

สมมุติวันนี้ผมซื้อ หุ้น a 100,000 หุ้นที่ราคา 3 บาท ใช้ทุน 3 แสน แล้วหุ้นมันก็ขึ้นๆ ลงๆ แต่ผมไม่สนใจมูลค่าใน port ว่าเป็นเท่าไร ตั้งหน้าตั้งตา dsm อย่างเดียว

จนกระทั่งหุ้นวิ่งลงไปถึง 0.5 บาท และสุดท้ายมายืนที่ 1 บาท แต่ตอนนั้นผมสามารถเก็บหุ้นได้เพิ่มอีก 200,000 หุ้น จากเงินจำนวนเดิมๆ ที่ได้จากการ dsm port

ผมก็จะมีหุ้น 300,000 หุ้น และมูลค่า 300,000 บาท ที่ราคาหุ้น 1 บาท หากหุ้นวิ่งกลับไปที่ราคา 3 บาทเท่าเดิม port ผมจะมีมูลค่าเป็น 9 แสนบาททันที แต่ถ้าผมถืออย่างเดียวไม่ขายเลยตั้งแต่แรก port ก็จะมีมูลค่าเพียง 3 แสนบาทเท่าเดิม เท่ากับว่าเสียเวลาเปล่าๆ และหากผมยังคงทำต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ port ก็จะโตไปเรื่อยๆ

thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=5678
(ความเห็นที่น่าสนใจ)

ยกตัวอย่างนะครับ นักลงทุนรายย่อยบางคนอาจจะติดหุ้นที่ 7 บาท แต่วันนี้ราคาไม่ถึง 6 บาท จะให้ขายหมดตัว cut loss วันนี้เลย ก็ทำใจไม่ได้ เดี๋ยวเกิดพรุ่งนี้หุ้นวิ่งขึ้นไปอีก จะซื้อกลับมาแพงกว่าที่ขายไปไหม แล้วถ้าไม่ขาย เกิดพรุ่งนี้ลงอีก 50 สตางค์ จะทำอย่างไร

คำตอบของคุณเด่นศรีคือ อย่าไปเดาว่ามันจะขึ้นหรือลง ถ้ามันลง ก็ short sell ไป 10% ถ้าลงต่อ ก็ short อีก พอเริ่มขึ้นมาหน่อยก็ซื้อคืนส่วนที่ short ออกไปตอนแรกๆ โดยเน้นว่า ไม่ซื้อแพงกว่าที่ขายไปเด็ดขาด และไม่ซื้อมากกว่าที่ขายไปด้วย

ส่วนต่างที่ได้มานี่ แกเรียกว่า "กระแสเงินสดแฝง" ตราบใดที่หุ้นยังเป็นแนวโน้มลงอยู่ กระแสเงินสดแฝงจะมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะไม่มากเท่ากับขายทีเดียวหมดแล้วมาซื้อคืนทีเดียว

สิ่งที่วิธีนี้ให้ คือเราจะไม่เครียดว่าหุ้นจะขึ้นจะลง ทำตามวิธีนี้ถ้าราคาหุ้นซึมลงนานๆ จะได้เงินสดคืนมา (จากจำนวนหุ้นคงเดิม) เป็นวิธีตัดความโลภและความกลัวออกไป

ส่วนคนที่มั่นใจในบริษัทถึงแม้ราคาหุ้นจะตกลงไปครึ่งหนึ่ง ไม่ต้องทำให้เสียเวลาครับ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่คุ้มค่ากว่าดีกว่า

ส่วนใครที่อ่านเกมหุ้นขาด (ไม่ว่าจาก chart หรือจิตวิทยามวลชน) ก็เล่นแบบ all-or-none ไปเลย ซื้อก็ซื้อเต็มๆ ขายก็ขายหมดเลย ตอน sideway ก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่คุ้มกว่า

(ความเห็นที่น่าสนใจ)
วิธีคุณเด่นศรี ผมขอเรียกว่า Hidden Cash Flow Management ละกัน ทัศนคติจะต่างกับการเก็งกำไรโดยสิ้นเชิงครับ คติพจน์คุณเด่นศรีคือ พอร์ตหุ้น 100% ตลอดเวลา การถือเงินสดเป็นการเสียโอกาส คนที่จะทำได้ต้องมีวินัย และมีเวลาทำงานดูแลหุ้น ช่วย limit risk ของการขายแล้วซื้อคืนไม่ได้ ผมว่าเหมาะกับคนพอร์ตเล็กเหมือนผม พอร์ตใหญ่ๆ อาจจะมีความเสี่ยงที่ซื้อคืนไม่ได้ครับ

(ความเห็นที่น่าสนใจ)
คนที่พอร์ตเล็กมากๆ อาจไม่เหมาะกับวิธีนี้หรือเปล่าคะ เพราะถ้ามัวมาทยอยขายทีละหน่อย อาจโดนค่าคอมฯ บาน จนมากกว่า "กระแสเงินสดแฝง" ที่จะได้รับก็เป็นได้ หรือถ้าเราขายทีละเยอะๆ (เช่น 50%) ให้มันลงทีละหลายๆ ช่อง ก็อาจช้าเกินไป โอกาสเสี่ยงที่จะกลับตัวก็มีเยอะขึ้น "กระแสเงินสดแฝง" ที่จะได้ก็น้อยลง

(ความเห็นที่น่าสนใจ)
ผมมีความคิดไม่คล้อยตาม ผมว่าวิธีนี้มีประโยชน์สำหรับคนไม่ค่อยกล้า cut loss มากกว่า โดยให้ค่อยๆ ปล่อยของออกแล้วปลอบใจตัวเองว่าได้กระแสเงินสดแฝง เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้กล้าขาย

สมมุติซื้อหุ้นมาในราคา 11 บาท พอลงมาถึง10 บาท แล้วขายออกส่วนหนื่งสัก10% ถ้าหุ้นลงต่อ ก็ถือว่าโชคดี แล้วคุณมาซื้อคืนที่ 9.40 บาท ถ้าหุ้นขึ้นไปถึง 10 บาท คุณก็ยังคงขาดทุน แต่ถ้าโชคไม่ดีหุ้นมันดันลงต่อ ก็ซวยซิครับ

สรุปว่าคุณไม่รู้ล่วงหน้าหรอกครับว่ามันจะขึ้นหรือลง เพราะถ้าผมรู้ว่ามันลงแน่ๆ ผมปล่อยหมดเลยครับตั้งแต่ 10.90 แล้วครับ แล้วมาซื้อที่ต่ำที่สุดอาจจะเป็น 2 บาทก็ได้ ถ้าผมรู้ได้ขนาดนั้น ผมคงไม่ไปซื้อมันตั้งแต่แรกแล้วแหละครับ ถ้าคิดว่าจะต้องซื้อราคาแพงมาไว้เพื่อขายในราคาถูกกว่าแล้วบอกว่าได้กระแสเงินสดแฝง ที่สำคัญที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่องการเลือกหุ้นที่ดีในราคาที่เหมาะสม จะปลอดภัยที่สุดครับ

(ความเห็นที่น่าสนใจ)
ผมว่าวิธีของแกคงไม่ใช่เป็นการให้หุ้นทำงานแทนแล้วละครับ เพราะต้องนั่งเฝ้าหน้าจอทั้งวัน

ผมอ่านแล้วเกิดความรู้สึกอย่างเดียวครับว่า อยากเป็น marketing ของแกครับ ทั้งปีวอลุ่มเทรดคงสูงมาก ดีไม่ดีค่าคอมอาจเกินมูลค่าหุ้นในพอร์ตอีกนะครับ

thaivi.com/webboard/viewtopic.php?t=9672
(ความเห็นของ ดร.นิเวศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน)
Trading System โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

คนที่ศึกษาติดตามเกี่ยวกับกลยุทธ์หรือวิธีการลงทุนมักจะได้พบกับกลยุทธ์การซื้อขายหุ้นประเภทที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์แน่นอนเป็นระบบ เช่น ซื้อหุ้นมาแล้วถ้าราคาลดลง 10% ก็ให้ขายตัดขาดทุน แต่ถ้าหุ้นขึ้นไป 20% ก็ Take Profit คือขายทำกำไร บางทีก็บอกว่า Let Profit Run คือปล่อยให้หุ้นขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหุ้นกลับตกลงมาใหม่ก็ให้ขายเมื่อยังมีกำไรไม่ต่ำกว่า 10% ปัญหามักจะเกิดเมื่อราคาหุ้นไม่เป็นไปตามกฎที่กำหนดไว้

การซื้อขายหุ้นแบบ "อัตโนมัติ" ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดนี้ในทางวิชาการเรียกว่า Mechanical Rule แต่เรียกให้เข้าใจกันง่ายๆ ในที่นี้ว่า Trading System คนร้อยคนอาจจะมี Trading System 100 แบบ ตามความคิดของแต่ละคนที่อาจจะเคยลองใช้แล้วเห็นว่าดี บางทีก็มีการเขียนหนังสือขายก็มี

สำหรับ Value Investor ที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว Trading System เป็นเรื่องที่ไม่มีสาระอะไรนัก ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างวินัยในการที่จะ "ลดความเสี่ยง" ให้กับคนที่ "ไม่รู้อะไรมากนัก" เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยระบบที่จะมาช่วยในการตัดสินใจแทนการวิเคราะห์คุณค่าของหุ้นอย่างละเอียดรอบคอบ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเลือกใช้ Trading System ที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจจะไปหักล้างวิจารณญาณในการลงทุนของเรา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.