|
Young Brand
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"จังหวะและช่วงเวลา" คำนิยามในการทำธุรกิจของ BenQ สำหรับผู้มาใหม่อย่าง "BenQ" ซึ่งให้คำจำกัดความในแบรนด์ของตนเองว่า เป็นแบรนด์ใหม่หรือ Young Brand ความยากลำบากในการเข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด เห็นจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ของตนเองให้เป็นที่รู้จัก และไว้เนื้อเชื่อใจได้ว่า ทุกครั้งที่มองหาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะต้องนึกถึงตนในที่สุด
ระยะเวลาสองปีหลังจากที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ตามหลังไต้หวันซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่เพียง 1 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวแบรนด์ออกสู่สายตาคนทั่วโลก BenQ ยอมรับว่ายังน้อยไปที่จะทำให้ผู้บริโภคในเมืองไทยรู้จักและไว้ใจแบรนด์ของตนเองมากเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น Sony หรือค่าย HP ที่เข้ามาทำตลาดในไทยก่อนหน้าหลายปี และย่อมได้เปรียบกว่ามากอย่างปฏิเสธไม่ได้
มร.เควาย ลี ประธานและประธาน ฝ่ายบริหารของ BenQ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เมื่อครั้งที่เดินทางมาเมืองไทยเป็นที่แรกในโครงการ CEO Tour ก่อนประเทศเพื่อนบ้าน อย่างออสเตรเลียและดูไบว่า สองปีที่ผ่านมาในตลาดเมืองไทย BenQ ได้รับบทเรียนสำคัญว่าต้องทำงานหนักในการพยายามที่จะ "สื่อสาร" ข้อความเกี่ยวกับแบรนด์และตัวสินค้าของบริษัทแก่ลูกค้าและพันธมิตรในการทำธุรกิจของตนเอง และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้หยุดที่จะต้องทำการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ออกไปแต่อย่างใด
ลีเชื่อว่า BenQ อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี สำหรับภารกิจในการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดไทย ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของบริษัทก็ว่าได้ เพราะการรู้จักและเชื่อถือในแบรนด์เป็นที่มาของความสำเร็จในระยะยาว
BenQ ถือเป็นบริษัทรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจผลิตและจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคแทบทุกชนิดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่ตัวแทนการขายสินค้าที่ถนัดหรือโดดเด่นเพียงไม่กี่อย่างบางรายในตลาด โดยอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากแบรนด์ในเครืออย่าง Acer ซึ่งเข้ามาทำตลาดโน้ตบุ๊กเพียงอย่างเดียวในไทยตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา
การตัดสินใจดังกล่าวเป็นทั้งข้อได้เปรียบ และข้อเสียเปรียบในเวลาเดียวกัน BenQ ย่อมรู้ดีว่าการมีสินค้าในไลน์การผลิตมากมายหลายชนิด ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิตอล เครื่องเล่น MP3 โน้ตบุ๊ก จอมอนิเตอร์ แอลซีดีทีวี ไปจนถึงโปรเจ็กเตอร์ ทำให้การมองหาจังหวะและช่วงเวลา ย่อมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัทในการเลือกตัดสินใจแนะนำให้กับผู้บริโภค
ปีที่แล้ว BenQ ตัดสินใจเปิดตัวโปรเจ็กเตอร์ในไทย ในช่วงเวลานั้นเองผู้บริหารก็เห็นพ้องต้องกันว่ายังไม่เปิดตัวโทรศัพท์มือถือจนกว่าจะได้เวลาอันเหมาะสม เพื่อให้เวลาในการทำตลาดสินค้าหลักที่เพิ่งจะเปิดตัวไปได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหลังจากนั้นหลายเดือน บริษัทจึงตัดสินใจแนะนำโทรศัพท์มือถือออกสู่ตลาดในที่สุด ทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่ค่ายโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ ต่างเปิดตัวโทรศัพท์มือถือกันหลากหลายรุ่นออกมาทำตลาดกันอย่างเต็มที่ นับเป็นปีทองของวงการโทรศัพท์มือถือไปเลยปีหนึ่งกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม BenQ ยังเห็นข้อได้เปรียบของการมีสินค้าที่หลากหลาย แม้จะต้องมองหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเปิดตัวก็ตาม โดยเชื่อว่าการมีสินค้าแทบทุกแบบนั้น จะช่วยตอบสนองชีวิตดิจิตอลของคนไทยที่เริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่ง BenQ เห็นว่าเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหลใน 24 ชั่วโมง อีกทั้งด้วยขนาดตลาดวิธีการใช้ชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญของเอเชีย ทำให้ BenQ ยิ่งมั่นใจในทิศทางการทำตลาดของตนมากขึ้นกว่าเดิม
BenQ กับก้าวย่างในปีที่สามนับจากนี้กำลังเป็นที่จับตามอง ผีเสื้อสีม่วงสัญลักษณ์แบรนด์ BenQ จะเทียบชั้นยักษ์ใหญ่รายอื่น ที่เป็นเจ้าตลาดได้อย่างไร บทเรียนใหม่ของ BenQ เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|