เมื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นทีวี

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือที่เรียกกันว่า "บรอดแบนด์" กลายเป็นเทคโนโลยีดาวเด่นที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา และนับจากนี้อีกหลายปีติดต่อกัน ค่ายผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP หลายราย ให้ความสำคัญกับการเปิดตัวโปรโมชั่นและทำตลาดบรอดแบนด์กันอย่างหนัก

จากอัตราการใช้คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตต่อหัวประชากร หรือครัวเรือนในไทย ซึ่งประมาณการกันว่ามีคนใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมดทั่วประเทศเพียง 7 ล้านคน จาก 60 ล้านคน มีคนใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพียง 2 แสนคนทั่วประเทศ มีคู่สายโทรศัพท์เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียง 3 ล้านหลังคาเรือน จากทั้งสิ้น 17 ล้านหลังคาเรือน น่าจะเป็นตัวเลขที่สดใสในการตลาดบรอดแบนด์ในเมืองไทยไม่น้อย

แต่ "ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน" คงเป็นคำถามที่ใช้เปรียบเทียบได้ดีกับธุรกิจบรอดแบนด์ เพราะผู้บริหารหลายค่ายต่างกล่าวทุกครั้งที่มีการแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์อันเกี่ยวเนื่องกับบรอดแบนด์ว่า ตราบใดที่ไม่มีคอนเทนต์ที่รองรับการใช้งานบรอดแบนด์ ก็เปรียบได้กับไม่มีอะไรมาจูงใจให้คนหันมาใช้บรอดแบนด์

นี่เองเป็นเหตุผลที่ผู้ให้บริการเองต่างเร่งหาพันธมิตรหลากรูปแบบเพื่อพัฒนาคอนเทนต์บนเทคโนโลยีบรอดแบนด์ให้โตเร็วได้พอๆ กับจำนวนประชากรที่จะหันมาใช้บรอดแบนด์เช่นกัน

บริการ "บรอดแบนด์ทีวี" น่าจะเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่ขึ้นป้ายเบอร์หนึ่งซึ่งหลายค่ายต่างต้องการจะไปถึง บริการแบบนี้ไม่เพียงแต่เป็นแรงดึงดูดให้คนหันมาเลือกใช้บริการอินเทอร์เน็ตของตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรายได้เสริม หรือมูลค่าเพิ่มในเชิงการตลาดที่เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งนัก

ก่อนหน้านี้เราได้เห็นบริการบรอดแบนด์ทีวีในระยะเริ่มต้นได้บ้างจากบางค่าย ผู้ให้บริการตั้งแต่ค่ายชิน บรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ต (ประเทศไทย) จำกัด ที่เปิดตัวบริการ "iPTV"

บริการที่เปิดโอกาสให้คนใช้บรอดแบนด์สามารถรับชมรายการประเภทมัลติ มีเดียผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ทันที ด้วยข้อได้เปรียบช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคมของบริษัท ทำให้ iPTV สามารถออกอากาศรายการได้หลายๆ ช่องพร้อมกันผ่านเครือข่ายบรอดแบนด์ได้ทันที ขณะเดียวกันผู้ใช้ยังสามารถโต้ตอบกับผู้จัดรายการหรือผู้ดำเนินการแบบสดๆ ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน

iPTV เปิดตัวตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ยังคงเป็นช่วงของการทดลองออกอากาศ โดยทางบริษัทเองหลายรายการด้วยกัน

ผ่านยุคของ iPTV เรามีโอกาสได้พบกับบริการรับชมภาพรายการทีวีผ่านหน้าเว็บไซต์บนบรอดแบนด์ของค่าย True ผ่านบริการที่เรียกว่า "UBCi"

UBCi อาศัยข้อได้เปรียบที่ True เป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ พร้อมกับเป็นเจ้าของคอนเทนต์รายการทีวีที่ผลิตเองหลายช่องที่ออกอากาศทาง UBC โดยเปิดให้คนเข้าทดลองชมรายการได้แบบฟรีผ่านหน้าเว็บไซต์ของตน ขณะเดียวกันในขณะนั้น True ยังเปิดต้นแบบแนวความคิดในการรับชมทีวีพร้อมๆ กัน เล่นอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้ทันทีผ่านหน้าจอทีวีปกติ ที่ต่อเชื่อมเข้ากับอุปกรณ์ Set-top box แต่ยังเป็นแผนการดำเนินการที่ยังไม่เปิดเผยว่าจะเปิดให้บริการเมื่อไร จนกว่าการเจรจาการผลิตอุปกรณ์ต่อเชื่อม และเทคโนโลยี MPEG4 เทคโนโลยีการแสดงภาพวิดีโอที่จะเข้ามาแทนที่ มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริงๆ

"บัดดี้ บรอดแบนด์" คือชื่อบริการรับชมรายการทีวีผ่านเครือข่ายบรอดแบนด์ล่าสุด ซึ่งทางบริษัท แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ เอดีซี และบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น เพิ่งจะเปิดตัวไปได้ไม่นาน

บัดดี้ บรอดแบนด์ ถือเป็นการรับชมรายการทีวีผ่านเครือข่ายบรอดแบนด์ที่ถือว่าทันสมัยที่สุดในประเทศไทยในตอนนี้ก็ว่าได้ ความสำคัญของบัดดี้ บรอดแบนด์ อยู่ตรงที่ผู้ที่ใช้โทรศัพท์พื้นฐานของค่าย ทศท หากอยู่ในพื้นที่ให้บริการบรอดแบนด์ และเลือกใช้บริการบัดดี้ บรอดแบนด์ เจ้าของบ้านจะได้รับอุปกรณ์ ADSL Modem และ Set-top box ในการต่อเชื่อมเข้าระหว่างโทรศัพท์บ้าน โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน อุปกรณ์ทั้งหมดจะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไปโดย Set-top box ที่ต่อเชื่อมเข้ากับโทรทัศน์นั้นจะทำหน้าที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถรับชมรายการทีวีแบบ On-demand จำพวกไฟล์วิดีโอหนัง เพลง มิวสิกวิดีโอ และสารคดีของพันธมิตรมากมายนับ 10 ราย ที่เอดีซีไปจับมือไว้ การเลือกดูรายการแต่ละอย่างจะคิดค่าใช้จ่ายแบบ Pay per view หรือดูเท่าไร จ่ายเท่านั้น

ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้ใช้ได้สิทธิ์ในการรับชมรายการของฟรีทีวีผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 5 7 9 11 และไอทีวี รวมถึงช่องพิเศษที่บริษัทผลิตเองอีก 3 ช่อง หนึ่งในนั้นคือ ช่อง Big Brother เรียลทีวี ที่สามารถรับชมได้แบบ 24 ชั่วโมง และกำลังออกอากาศไปอีกหลายวันนับจากนี้ ขณะที่บริการรับชมรายการทีวีทั้งหมด ไม่รบกวนการใช้งานเสียงของโทรศัพท์บ้าน และการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแต่อย่างใด

ต้องยอมรับว่า ความตั้งใจจริงของผู้ให้บริการรายการทีวีบนบรอดแบนด์นั้น ไม่ได้อยู่ที่การเปิดให้รับชมช่องฟรีทีวีเท่านั้น แต่ความหมายที่แท้จริง คือการหวังที่จะเข้ามาแทนที่เคเบิลทีวี ด้วยการเปิดให้บริการบอกรับสมาชิกรายการมากมายผ่านอินเทอร์เน็ต โดยค่ายผู้ให้บริการมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเจรจาเซ็นสัญญากับผู้ให้บริการรายการดังๆ ซึ่งมีให้บริการผ่านเคเบิลอยู่แล้วในปัจจุบัน

นั่นหมายถึงว่าในอนาคตอันใกล้ ผู้บริโภคจะมีโอกาสรับชมรายการมากมายนับสิบนับร้อยช่องผ่านคอมพิวเตอร์ได้ทันที ทั้งแบบที่เสียเงินและไม่เสียเงิน แล้วแต่ว่า ISP หรือเจ้าของรายการจะพิจารณาเรียกเก็บ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากการรับชมรายการดังจากต่างประเทศผ่านทางเคเบิลทีวีเท่านั้น

แม้ใครหลายคนจะแย้งด้วยความเร็วของบรอดแบนด์ในปัจจุบันยังเป็นข้อจำกัดให้บริการดังกล่าวไปไม่ถึงดวงดาวสักที แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว บ้านเราเองก็จะตามรอยเกาหลี, ฮ่องกง, ฝรั่งเศส, เบลเยียม และญี่ปุ่น ที่แทบทุกครัวเรือนจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกว่า 4 เมกะบิตต่อวินาที เพื่อใช้รับชมรายการทีวีได้นับร้อยช่องกันแล้วในปัจจุบัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.