|
ธ.โลกหั่นจีดีพีไทยเหลือ5.2%
ผู้จัดการรายวัน(28 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธนาคารโลกปรับลดจีดีพีไทยพรวดเดียว 0.6% เหลือเพียง 5.2% จากเดิมที่ตั้งไว้ 5.8% หลังสัญญาณชัดเจน เศรษฐกิจโลกชะลอตัว บวกกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และคาดจะอยู่เหนือระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อีกอย่างน้อย 4 ปี ขณะที่มีการลงทุนเอกชนและรัฐบาลเป็นปัจจัยบวก พร้อมเสนอแนะหากไทยต้องการรักษาการเติบโตตามเป้าหมายที่ 6.6% ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลงทุน
ธนาคารโลก (The world Bank) แถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ จากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยนายจามิล คัสสัม รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยคาดการณ์ในปี 2548 เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกจะมีอัตราการขยายตัวลดลงเหลือ 6% จากปี 2547 ที่มีอัตราการขยายตัวถึง 7.2% เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกจะชะลอตัวลงเกือบทุกประเทศ
ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเองมีอัตราการขยายตัวลดลงเช่นเดียวกัน คือ ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 6.1% เหลือ 5.2% ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าในปีนี้ไทยจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับ 5.8% และสอดคล้องกับสำนักวิจัยหลายแห่งที่ทยอยปรับลดประมาณการไปก่อนหน้านี้ โดยมีปัจจัยหลักจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
"เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยอัตราความยากจนในภูมิภาคนี้ลดลงประมาณ 5-6% ทั้งในประเทศจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย มีคนจนลดลง 35 ล้านคนต่อปี แต่ธนาคารโลกยังเป็นห่วงเรื่องการไหลเข้าของเงินทุนที่เข้ามาในเอเชียตะวันออกมาก โดยเฉพาะเงินลงทุนจากสหรัฐฯ ที่สูงถึง 113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวถึง 12%"
นายคัสสัมกล่าวให้ความเห็นว่า เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศอาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของเศรษฐกิจ ดังนั้นผู้นำในเอเชียตะวันออกจะต้องบริหารจัดการเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างมีระบบ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของเอเชียตะวันออกมี 3 ประการ คือ ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ ปัญหาราคาน้ำมันที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และปัญหาภัยธรรมชาติ
นางสาวกิริฎา เภาวิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกปรับประมาณการทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2548 เหลือ 5.2% เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนของไทยชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยบวกจากการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของรัฐบาลเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจที่สำคัญ
"การที่จีดีพีของไทยในปีนี้เติบโต 5.2% ถือเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจคือราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งภาวะภัยแล้งที่จะส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลง" นางสาวกิริฎากล่าว
ทั้งนี้การที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหลังจากรัฐบาลเริ่มลอยตัวน้ำมันดีเซล ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% โดยธนาคารโลกประเมินว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้น 13.9% จะส่งผลต่อการบริโภคภาคครัวเรือนของไทยชะลอตัวลง ซึ่งบนสมมติฐานที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 10% จะมีผลกระทบต่อจีดีพีลดลง 1% และทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 1.5%
ราคาน้ำมันปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 42 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ 37.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าจะอยู่เหลือระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลต่อเนื่องไปอีก 4 ปี"
ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคครัวเรือนยังได้รับผลกระทบจากการก่อหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวอยู่ในระดับเกือบ 60% ต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% ความสามารถในการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้อุปโภคและบริโภคก็ลดลงตามไปด้วย
สำหรับปัจจัยด้านการส่งออกนั้น จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยลดลงตามไปด้วย โดยคาดว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าการส่งออก ซึ่งปริมาณการส่งออกที่ชะลอตัวติดต่อกันตั้งแต่ปี 2545 ที่ผ่านมา จะมีการขยายตัวเพียง 6% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 7% ขณะที่มูลค่าการส่งออกจะลดลงจากกว่า 20% เหลือเพียง 13%
ด้านปัจจัยบวกที่จะเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐนั้น ในปีนี้การลงทุนภาคเอกชนจะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ในระดับ ประมาณ 15.3% โดยมีดัชนีชี้วัดจากการที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อในภาคธุรกิจเพื่อการลงทุนมากขึ้น รวมถึงการอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีจำนวนสูงขึ้น จะทำให้เริ่มมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในปีนี้
ขณะที่การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาทนั้น คงจะมีความชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจรัฐบาล ได้หยุดการลงทุนไป ดังนั้นคาดว่าในปีนี้จะเริ่มมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาและจะเข้ามาอีกเป็นจำนวนมากในปีต่อไป
"จากมูลค่าการส่งออกที่ลดลง บวกกับการนำเข้าที่สูง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จะทำให้ไทยมีการขาดดุลการค้าในปีนี้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1% ของจีดีพี รวมมูลค่าประมาณ 7 ล้านล้านบาท ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลได้อีกประมาณ 3 พันล้านบาท เนื่องจากได้มีดุลบริการเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะดุลด้านการท่องเที่ยวที่รัฐบาลกำลังเร่งหามาตรการออกมากระตุ้นดึงให้นักท่องเที่ยวหันมาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น"
นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้ให้ข้อเสนอแนะในกรณีรัฐบาลต้องการรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก 4 ปีข้างหน้า (2548-2551) ให้อยู่ในระดับเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6.6% ว่า ในปีนี้อัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 5.2% ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ประเทศไทยต้องมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยให้อยู่ในระดับ 7% ต่อปี
ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการยึดนโยบายที่จะให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6.6% จะมีแนวทางการดำเนินการ 2 แนวทาง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในทุกๆ ด้าน ให้สูงถึงปีละ 2.9% จากปัจจุบัน ที่มีอัตราเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2543-2545 อยู่ที่ 2.3% เท่านั้น หรือแนวทางที่ 2 การเพิ่มปริมาณการลงทุนให้อยู่ในระดับ 18%
นางสาวกิริฎากล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนต่างประเทศทั่วโลก พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 20 ลดลงจากปีก่อนที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 16 ขณะที่นักลงทุนในเอเชียให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับที่ 3 รองจากประเทศจีนและอินเดีย
ขณะที่ความเห็นของนักธุรกิจจาก 3,385 บริษัท ได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจ 3 ด้าน ประกอบด้วย ภาระทางด้านกฎหมายที่ซับซ้อน บุคลากรขาดความชำนาญและประสบการณ์ และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อมทำให้มีต้นทุนขนส่งเพิ่มสูงขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|