|
Krugman in Thailand
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ก่อนหน้าปี 2540 ชื่อของ Paul Krugman ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างของไทยมากนัก ยกเว้นแต่ในหมู่แวดวงนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ แต่หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เกิดขึ้นแล้ว ชื่อของเขากลับกลายเป็นชื่อที่ถูกกล่าวขานกันมากที่สุดควบคู่ไปกับคำ Asian Crisis ในฐานะของผู้ที่เคยออกมาเตือนให้ระวังต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชาติเอเชีย ซึ่งในเวลานั้นความเห็นเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ไม่เห็นด้วยอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียกำลังรุ่งโรจน์อย่างที่สุด แต่ต่อมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าคำเตือนของเขานั้นเป็น "ของจริง"
เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นและเริ่มลุกลามออกไป Krugman ได้ออกมาเสนอให้ชาติเอเชียควบคุมการปริวรรตเงินตราเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ข้อเสนอของเขาได้รับการขานรับจากมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น และแม้การใช้มาตรการนี้จะได้รับการวิพากษ์จากชาติตะวันตกอย่างมาก แต่ก็มีส่วนสำคัญที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียพังทลายไปเช่นเดียวกับไทยและอินโดนีเซีย
ในปี 2545 Krugman ได้ออกมาชี้ให้เห็นถึงสัญญาณการก่อตัวของวิกฤติน้ำมันโลก ซึ่งปัจจุบันก็กำลังเกิดขึ้นตามที่เขาได้เคยทำนายเอาไว้
นอกจากบทบาทศาสตราจารย์ที่ Princeton และการเขียนหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาจนถึงปัจจุบันรวมกว่า 30 เล่มแล้ว Krugman ยังเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลอย่าง The New York Times อีกด้วย โดยบทความที่ลงตีพิมพ์ในหน้า Opinion/Editorial ของ The New York Times นี่เองที่ทำให้ Krugman เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์จำนวนน้อยที่กลายเป็นคนดังนอกเหนือแวดวงวิชาการ
โดยข้อเขียนของเขาระยะหลังมักพุ่งเป้าไปที่การวิพากษ์นโยบายด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ George W. Bush ซึ่งการที่เขาเป็นคนดังและกล้าไปแตะเรื่องราวต่างๆ เช่นนี้เองทำให้ Krugman ต้องตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ชื่นชอบในตัวเขาก็แผ่กว้างขึ้นด้วยเช่นกัน
เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยว่าขณะนี้ Krugman มองประเทศไทยเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแนวโน้มของโลกอย่างไร ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ภายในเดือนนี้ Krugman จะเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อบรรยายและสัมมนาในหัวข้อ WARNING SYSTEM ; Positioning of Thailand & South East Asia โดยจะมีการกล่าวถึงปัจจัยและความท้าทายต่างๆ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ อาทิ การรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การก่อการร้าย ความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศ และการโพสิชั่นนิ่งตำแหน่งของประเทศไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|