|

KBANK สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ลานกิจกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาเชิงสะพานพระราม 9 บริเวณด้านล่างธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ช่วงเย็นวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ได้ถูกจัดให้มีบรรยากาศเป็นงานรื่นเริงแบบไทยขนาดย่อมๆ ที่มีทั้งวงดนตรี ชิงช้าสวรรค์ และซุ้มของกินแบบไทย อาทิ ข้าวโพดคั่ว สายไหม ยาดอง ขนมน้ำตาลปั้น และซุ้มกาแฟแบบไทย ในโอกาสงานเลี้ยงสังสรรค์ผู้สื่อข่าวประจำปี ที่ในปีนี้จัดในรูปแบบของงานวันสงกรานต์เพื่อให้เข้ากับเทศกาลที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เฉลยให้ฟังถึงสาเหตุของการกำหนดวันดังกล่าวให้เป็นวันจัดงานว่าเนื่องจากวันนั้นเป็นวันส่งท้ายปีเก่าทางจันทรคติ ที่คนส่วนมากอาจหลงลืมกันไปแล้ว ประกอบกับช่วงบ่ายในวันนั้นยังมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของธนาคารกสิกรไทย ที่มีผู้บริหารเข้าร่วมกันพร้อมหน้าพร้อมตาอยู่แล้ว ประการสุดท้ายที่อาจดูเหมือนบังเอิญก็คือ เลข 8 เป็นเลขที่บัณฑูรชื่นชอบเป็นพิเศษจึงถือโอกาสวันดังกล่าวจัดงานเลี้ยงฉลองส่งท้ายปีเก่าทางจันทรคติเสียเลย
งานเลี้ยงที่จัดขึ้นมีซุ้มอาหารให้เลือกชิมได้หลากหลายตามความชอบ โดยเป็นอาหารที่ยกมาครบ 4 ภาค ทั้งเหนือ อีสาน กลาง และภาคใต้ เช่นเดียวกับการแสดงภายในงานที่นอกจากจะมีดนตรีจากวงดนตรีไทยที่คอยขับกล่อมกันตลอดงาน และการละเล่นแบบไทยจากเหล่าอี-เกิร์ลทั้งหลายแล้ว ยังมีการแสดงจาก 4 ภาค มานำเสนอด้วยเช่นกัน ประเดิมด้วยกลองสะบัดไชยจากภาคเหนือ ตามมาด้วยระบำตารีมาลากัสของภาคใต้ ก่อนจะเป็นรำหมากกั๊บแก๊บลำเพลินของภาคอีสานและปิดท้ายด้วยรำกลองยาวจากภาคกลาง ซึ่งการแสดงจากทีมนักแสดงกรมศิลปากรทั้งหมดนี้เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมในงานไปได้ไม่น้อยหน้ากัน
การที่บัณฑูรเลือกเอาอาหารและการแสดงจากทั้ง 4 ภาค ของไทยมาร่วมในงานวันนั้นท่ามกลางบรรยากาศของการก่อความไม่สงบทางภาคใต้ที่ลุกลามเกิน 3 จังหวัดชายแดนมายังสงขลาและหาดใหญ่แล้ว อาจเป็นการสะท้อนความคิดและความรู้สึกจาก KBANK ว่าถึงแม้จะอยู่คนละภาค กินอาหารแตกต่างกันและมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดทุกคนก็ล้วนเป็นคนไทยและสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยสันติและไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง
อีกหนึ่งการแสดงที่สื่อมวลชนเฝ้ารอไม่น้อย เห็นจะเป็นการบรรเลงดนตรีจากบัณฑูร ซึ่งในปีนี้เขาเลือกใช้แซ็กโซโฟนมาบรรเลงเพลง "เด็กปั๊ม" ของคณะคนด่านเกวียน ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาซาบซึ้งใจกับความเต็มที่เต็มใจในการให้บริการของเด็กปั๊มน้ำมันเป็นพิเศษ ไม่แน่ว่าเพลงเพลงนี้อาจจะบอกเป็นนัยๆ ถึงการให้บริการของพนักงาน KBANK และบริษัทในเครือในปีนี้ที่จะเต็มที่มากขึ้นก็เป็นได้
ก่อนงานเลี้ยงสังสรรค์จะเริ่มขึ้น บัณฑูรใช้เวลากว่าชั่วโมงในห้องประชุมใหญ่ในการบอกเล่าถึงความพร้อมในการให้บริการทางการเงินครบวงจรของ KBANK ผ่านทางกิจการธนาคารและบริษัทในเครือหลักๆ อีก 5 แห่ง ได้แก่ บล.กสิกรไทย (K-Securities) ให้บริการด้านหลักทรัพย์, บลจ.กสิกรไทย (K-Asset) ให้บริการบริหารทรัพย์สินและกองทุนรวม, แฟคเตอริ่งกสิกรไทย (K-Factoring) บริการแฟคเตอริ่ง, ลีสซิ่งกสิกรไทย (K-Leasing) สำหรับบริการลีสซิ่ง ซึ่งจะเริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปและ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) ทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัยเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน ถึงแม้ไม่สร้างรายได้ในแง่เม็ดเงินให้กับเครือกสิกรไทย แต่สร้างชื่อเสียงให้กับเครือได้อย่างมาก
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเป็นหน่วยงานที่เราภูมิใจมาก ถึงไม่มีรายได้ที่เป็นตัวเงิน แต่ทุกวันนี้ถูกอ้างชื่อในสื่อมากกว่าธนาคารกสิกรไทยเสียอีก" บัณฑูรเล่า
การเปิดตัวกิจการหลักในเครือทั้ง 5 แห่งพร้อมด้วยผู้บริหาร ครบชุด รวมทั้งโลโกของแต่ละบริษัทที่พัฒนาต่อมาจาก KBANK ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นกิจการในเครือของ KBANK เป็นการบอกให้ตลาดและลูกค้ารู้ว่าถึงวันนี้ KBANK พร้อมแล้วที่จะให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร โดย นับจากนี้ไปน่าจะมีการสร้างแบรนด์ของเครือกสิกรไทยให้ชัดเจน และแข็งแรงขึ้นตามลำดับ
แน่นอนว่าการเป็นกิจการในเครือของ KBANK ย่อมเป็นแต้มต่อให้กับบริษัทเหล่านี้ที่ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ กลยุทธ์หนึ่งที่แต่ละบริษัทจะใช้ในการดำเนินธุรกิจก็คือการเจาะเข้าไปในฐานลูกค้าของ KBANK เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเมื่อมองจากฝั่งลูกค้า การเป็นลูกค้าของ KBANK อยู่แล้วและจะใช้บริการจากบริษัทในเครือเพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มความสะดวกได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในฝั่งของ KBANK เองก็ยังช่วยลดต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่ได้ด้วย
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บัณฑูรไล่เลียงตามลำดับโดยเริ่มจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกธุรกิจและทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นต่อแนวโน้มราคาน้ำมันเขาปฏิเสธที่จะให้ความเห็น และยังห้ามไม่ให้ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บลจ.กสิกรไทยในฐานะอดีตเลขาธิการ คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ให้ความเห็นในเรื่องนี้อีกด้วย
"ผมไม่มีคุณสมบัติพอที่จะคาดการณ์เรื่องน้ำมันและห้ามไม่ให้ ดร.ปิยสวัสดิ์พูดด้วย เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องการเมือง"
แต่น่าแปลกใจที่กลางดึกคืนเดียวกันนั้นเอง ดร.ปิยสวัสดิ์ ได้ไปร่วมรายการถึงลูกถึงคน ซึ่งมีการสนทนาในหัวข้อเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำมันและแนวโน้มราคาน้ำมัน ร่วมกับผู้บริหารจากบริษัทน้ำมันหลายคน
ปัจจัยเสี่ยงประการถัดมาที่บัณฑูรกล่าวถึงก็คือ การก่อการร้าย โรคระบาด และประการสุดท้ายคือ อัตราดอกเบี้ย
บัณฑูรน่าจะเป็นนายแบงก์คนแรกที่กล่าวถึงเรื่องการก่อการร้ายโดยใช้คำดังกล่าว แทนที่จะเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ตามที่เรียกกันโดยทั่วไป และน่าสังเกตว่าเขาให้น้ำหนักกับปัจจัยนี้สูงเป็นอันดับสองรองจากราคาน้ำมันเลยทีเดียว
ความกังวลในเรื่องนี้เองที่อาจเป็นต้นคิดนำไปสู่ธีมในการจัดงานเลี้ยงที่กล่าวมาข้างต้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|