|
Siam Garden ภาพลักษณ์ บริการ และสินค้า
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หากรสชาติจัดจ้านของอาหารไทย ได้รับการปรุงแต่งขึ้นมาด้วยเครื่องเทศเครื่องแกงหลากหลายชนิด ความเป็นไปของ Siam Garden ก็กำลังดำเนินไป ท่ามกลางเรื่องราวที่ยึดโยงเข้ากับรากฐานทางประวัติศาสตร์ได้อย่างลงตัว
"ถ้าไม่ใช่เพราะตึกนี้มีความเกี่ยวพันกับประเทศไทย ผมคงไม่ทำ" Noritada Mitsubayashi ประธานบริษัท Yamamori เจ้าของร้านอาหารไทย Siam Garden สะท้อนความคิดรวบยอดในการขยายธุรกิจเข้าสู่กิจการร้านอาหาร
ภาพของอาคารสูง 3 ชั้น อายุกว่า 70 ปี ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำ Horikawa ในเมือง Nagoya อาจมิได้สะท้อนความอลังการยิ่งใหญ่ แต่อาคารซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 1931 แห่งนี้ได้กลายเป็นประหนึ่งประจักษ์พยาน ที่เคลื่อนผ่านความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่อุดมด้วยเรื่องราวมากมาย
อาคาร The Old Kato Trading Company Building แห่งนี้ เดิมเป็นสำนักงานใหญ่ของ Kato Trading Company ก่อนที่ในปี 1935 อาคารแห่งนี้จะเป็นที่ทำการของสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ของไทย ณ เมือง Nagoya ยาวนานนับ 10 ปี กระทั่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945
ความเปลี่ยนแปลงในความเป็นเจ้าของและการใช้ประโยชน์ในอาคารดังกล่าว เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ Kato Trading Company ขายอาคารดังกล่าวให้กับ Nakano Industries ในปี 1967 ซึ่งพื้นที่ของอาคารแห่งนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นคลังสินค้า รวมถึงการเป็นพื้นที่สำหรับสื่อโฆษณาขนาดใหญ่ เมื่ออาคารแห่งนี้ถูกคลุมด้วยป้ายโฆษณาเต็มหมดทั้งพื้นที่ด้านนอกของอาคาร
เมือง Nagoya ได้เข้าถือสิทธิเป็นเจ้าของอาคารแห่งนี้ ในปี 2000 ด้วยการบริจาคของ Nakano Industries ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารรายสุดท้าย ก่อนที่เมือง Nagoya จะขึ้นทะเบียนให้เป็นอาคารอนุรักษ์ ในฐานะ National Tangible Cultural Asset ภายใต้แนวความคิดที่จะรักษาและใช้ประโยชน์อาคารดังกล่าว ให้เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ของการพัฒนาพื้นที่โดยรอบของแม่น้ำ Horikawa และแหล่งข้อมูลที่บอกกล่าวความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ ควบคู่กับการกระตุ้นบรรยากาศของย่านธุรกิจให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
พื้นที่โดยรอบของริมฝั่งแม่น้ำ Horikawa ช่วงเชิงสะพาน Nayabashi จึงประกอบด้วยร้านอาหารนานาชาติ ซึ่งต่างตั้งประจันรสชาติความอร่อยให้ผู้คนได้ลิ้มลอง และกำลังเป็นแหล่งดื่มกิน intrend ของทั้งชาวเมือง Nagoya และนักเดินทางต่างถิ่น ควบคู่กับการเตรียมการเพื่อรองรับกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาใน Nagoya เพื่อร่วมชมงาน World Expo 2005 ที่จังหวัด Aichi
การเกิดขึ้นของร้านอาหารไทย Siam Garden ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาจเป็นเพียงรูปแบบการขยายโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มทุนผู้ประกอบการ แต่อีกด้านหนึ่งกรณีดังกล่าว กำลังสะท้อนทัศนะและแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจ ยิ่ง ขณะที่ความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ในบางช่วงเวลาดังกล่าว อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Siam Garden ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์อาคารแห่งนี้
"มีบริษัทห้างร้าน 11 ราย จากธุรกิจหลากหลายแขนง ยื่นข้อเสนอขอเข้ามาใช้ประโยชน์ในอาคารแห่งนี้ แต่ผู้บริหารของเมือง Nagoya เลือกให้เราเข้ามาเปิดร้านอาหารไทย Siam Garden" Noritada Mitsubayashi กล่าวด้วยท่วงทีภาคภูมิใจ
นอกเหนือจากแม่ครัวชาวไทย ซึ่งล้วนผ่านประสบการณ์จากห้องอาหารไทยของโรงแรมระดับนำในกรุงเทพฯ แล้ว Noritada Mitsubayashi ได้เชิญ ศรีสมร คงพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย ที่มีชื่อเสียงในวงกว้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านโภชนาการและการจัดสำรับอาหารใน Siam Garden เพื่อเชื่อมโยงความเป็น Authentic Thai Cuisine มาปรับแต่งให้เข้ากับรสนิยมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นด้วย
Noritada Mitsubayashi ไม่ได้มุ่งหมายที่จะขยายธุรกิจร้านอาหารให้กว้างขวางออกไปในลักษณะของเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วเขตหัวเมืองใหญ่อย่างที่ผู้ประกอบการจำนวนมากมักวางเป้าหมายไว้ หากสิ่งที่เขาต้องการจากการเปิดร้านอาหารไทยครั้งนี้อยู่ที่การสร้างภาพลักษณ์ของอาหารไทย ผ่านการบริการและรสชาติให้เป็นที่ยอมรับสำหรับกลุ่มลูกค้าตลาดบน
"ปัจจุบันเรามีอาหารไทยปรุงสำเร็จ Yamamori ที่กำลังสร้างตลาดในวงกว้าง แต่ในอนาคตเรามีแผนที่จะออกอาหารไทยปรุงสำเร็จภายใต้แบรนด์ Siam Garden เพิ่มขึ้นอีก เพื่อเจาะตลาดและจำหน่ายใน supermarket และห้างสรรพสินค้าระดับบน ในฐานะที่เป็นสินค้า exclusive"
Siam Garden ในทัศนะของ Noritada จึงมิได้มีสถานะเป็นเพียงร้านอาหารไทยที่ต้องดำเนินงานให้ได้ผลกำไรเท่านั้น หาก Siam Garden กำลังทำหน้าที่เป็นประหนึ่ง showroom ที่มีชีวิตในการสื่อสารกับสาธารณะ และเป็นประหนึ่งช่องทางในการเก็บรับข้อมูลเพื่อปรับแต่งคุณภาพและรสชาติอาหารไทยสำเร็จรูปของ Yamamori ในอนาคต
มิติความคิดของ Noritada Mitsubayashi นอกจากจะบ่งบอกให้เห็นความจัดเจนทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการสร้างให้เกิดแบรนด์และตลาดรองรับสินค้าใหม่ๆ แล้ว กรณีดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นการรังสรรค์ประโยชน์จากการผนวกผสานมิติทางวัฒนธรรม ให้เข้ามาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในทางธุรกิจด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจติดตามก็คือ ขณะที่ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นประเมินคุณค่าของอาหารไทย ในลักษณะที่ครอบคลุมทั้งในมิติของภาพลักษณ์ บริการและสินค้า (image-service-goods) เช่นนี้ หน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยจะประเมินและวางยุทธศาสตร์ในเชิงรุกกับประเด็นเหล่านี้เช่นไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|