กลุ่มนี้ไม่มี "นายช่าง"

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกจากปิโตรเคมีจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เครือซิเมนต์ไทยเพิ่งเข้าไปจับได้เพียง 20 ปีเศษแล้ว บุคลากรของกลุ่มนี้ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ มีวัฒนธรรมและบุคลิกที่แตกต่างไปจากคนปูนซิเมนต์ไทยในอดีต

"อายุเฉลี่ยพนักงานของปิโตรเคมี ตอนนี้แค่ 27 ปี น้อยที่สุดในเครือ" อภิพรยืนยัน

นอกจากอภิพรจะเป็นผู้บุกเบิกสร้างธุรกิจนี้ให้กับเครือซิเมนต์ไทยตั้งแต่ยุคเริ่มต้น เขายังเป็นผู้บริหารเบอร์ 1 ของกลุ่มยาวนานต่อเนื่องถึง 22 ปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมใหม่ที่เครือซิเมนต์ไทยไม่เคยใช้กับธุรกิจหลักกลุ่มอื่นมาก่อน

เวลาอันยาวนาน มีผลทำให้บุคลิกส่วนตัวบางอย่างของอภิพร ซึมซับลงไปยังพนักงานบางคนในกลุ่มโดยไม่รู้ตัว

เขาเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมาจนดูเหมือนโผงผาง ฝึกสอนพนักงานด้วยวิธีดุดัน แต่ก็เปิดโอกาสให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือในอีกมุมหนึ่งนั้น เขาเป็นคนที่มีใจรักทางด้านศิลป์อยู่ในตัว

เขามองว่าวัฒนธรรมและความคิดบางอย่างที่เคยปลูกฝังในความเป็นพนักงานเครือซิเมนต์ไทย อาจไม่สอดคล้องกับแนวทางการขยายงานของธุรกิจปิโตรเคมี

"คุณอภิพรเป็นคนที่สั่งไม่ให้มีระบบชั้นวรรณะ วิศวกรในกลุ่มนี้ห้ามเรียกว่านายช่าง ไปเรียกให้แกได้ยินไม่ได้เด็ดขาด ความสัมพันธ์ในหมู่พนักงานจึงเป็นแบบเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องมีอะไรก็สามารถพูดหรือปรึกษาหารือกันได้โดยตรง" ชลณัฐเสริม

การพยายามกระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าที่จะนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ในการทำงาน โดยมีอภิพรคอยเป็นผู้กำกับแนวทางอยู่ห่างๆ ทำให้ผลงานของกลุ่มนี้ปรากฏตัวเลขออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

"คนกลุ่มนี้ได้โอกาสจากผู้ใหญ่มาก มีโอกาสคิดทำเรื่องใหม่ๆ ออกมา แล้วผู้ใหญ่ก็ delegate โปรเจ็กต์ 100 ล้าน 200 ล้าน เด็กใหม่ๆ ได้ทำทั้งนั้น"

ดังนั้นถ้าถามว่าจากนี้ไปธุรกิจหลักกลุ่มใดของเครือซิเมนต์ไทยกำลังจะมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด แน่นอน คำตอบคือปิโตรเคมี" ปีที่แล้ว เฉพาะกลุ่มเรามีการรับพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นถึง 150 คน"

และแน่นอนอีกเช่นกันว่าการขยายงานของกลุ่มปิโตรเคมี มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากที่สุดในเครือ "construction ถ้าทำ ใช้ก็แค่โปรเจ็กต์ละ 100-200 ล้าน ของเราจะลงทีหนึ่งก็ 4-5 หมื่นล้าน ไปแล้ว" อภิพรบอก

โครงการที่ได้ประกาศความชัดเจนออกมาแล้ว คือการสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ที่ประเทศอินโดนีเซีย จะเสร็จประมาณกลางปีหน้า กำลังการผลิต 5 แสนตันต่อปี วงเงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท แต่เครือซิเมนต์ไทยในฐานะผู้ร่วมทุนใช้เงินลงทุนส่วนนี้ 2,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการร่วมทุนกับรัฐบาลอิหร่านตั้งโรงงานผลิตโพลิเอทิลีนในประเทศอิหร่าน ซึ่งทั้งโครงการใช้เงินลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เครือซิเมนต์ไทยถือหุ้น 40% อีก 40% ถือโดยรัฐบาลอิหร่าน ที่เหลือเป็นกลุ่มอิโตชูจากญี่ปุ่น และบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ที่เครือซิเมนต์ไทยชักชวนไปร่วมทุนอีกรายละ 10%

การขยายการลงทุนที่อิหร่านถือเป็นความจำเป็น เพราะปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้อยู่ทั่วโลก และเครือซิเมนต์ไทยเอง ก็มีฐานลูกค้าอยู่แล้วอยู่ในทุกภูมิภาค แม้แต่ประเทศในทวีปแอฟริกา

การที่มีฐานการผลิตในแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ จึงเป็นข้อได้เปรียบ "โครงการนี้เราได้การันตีจากรัฐบาลอิหร่านว่าจะขายเอทิลีนให้เราในราคาถูก"

โครงการดังกล่าวจะมีการเซ็นสัญญากับรัฐบาลอิหร่านได้ภายใน 1 เดือนนี้ หลังจากนั้นจึงเริ่มสร้างโรงงาน โดยใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง

แต่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มนี้ที่ได้วางแผนเอาไว้แล้ว คือการสร้างโรงงานโอเลฟินส์ขึ้นอีก 1 แห่ง โดยใช้วัตถุดิบที่มาจากแนปทา โดยเครือซิเมนต์ไทยอาจลงทุนเอง 100% บนที่ดินที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วที่จังหวัดระยอง ใช้เงินลงทุนสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยในขณะนี้ตกประมาณเกือบ 4 หมื่นล้านบาท

โครงการนี้คาดว่าจะเริ่มอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้นทุนขณะนี้เพิ่มสูงขึ้นตามราคาวัสดุก่อสร้าง ประกอบกับราคาผลิตภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมัน ดังนั้นเครือซิเมนต์ไทยจึงรอให้วงจรของปิโตรเคมีเข้าสู่ช่วงขาลงก่อนค่อยเริ่มสร้างโรงงาน เพื่อให้เปิดทันรับกับวงจรขาขึ้นรอบใหม่

การสร้างโรงงานโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เพื่อให้เครือซิเมนต์ไทยได้บรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของภูมิภาคนี้ โดยมีกลุ่มของ ปตท. เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่อีก 1 ราย "ถึงที่สุดแล้ว ของไทยก็คงจะเหลือรายใหญ่แค่ 2 รายคือเรากับ ปตท.ซึ่งก็น่าจะกำลังพอดี"

ตลาดที่เครือซิเมนต์ไทยมองไว้คือ ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันรวมถึงในจีนตอนใต้ ซึ่งปัจจุบันยังมีอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอยู่ในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก

"เฉพาะ 3-4 ประเทศนี้ จำนวนประชากรก็ 400-500 ล้านคนเข้าไปแล้ว"

จึงไม่น่าแปลกใจ หากมีบางคนกล่าวถึงกลุ่มปิโตรเคมีว่ากำลังจะกลายเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุดของเครือซิเมนต์ไทยในอนาคต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.