สมบูรณ์ ครบธีรนนท์ "คู่แข่งวีซ่าคือเงินสด"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่สมบูรณ์ ครบธีรนนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนลประจำประเทศไทย แทนริชาร์ด ชาง ที่ย้ายไปเป็นผู้บริหารในจีน ดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ ที่หนักพอสมควร

1 ปีก่อน ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นช่วง ที่สมบูรณ์ถูกโปรโมตให้ขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญในวีซ่าผู้นำธุรกิจ เพื่อการชำระเงินชั้นนำของโลก ถือได้ว่าเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญในฐานะแม่ทัพของวีซ่าในประเทศไทย

หลายคนมองว่าบัตรเครดิตดูเหมือนจะเป็นที่พึ่งในยามยากได้ดีในสถานการณ์เช่นนี้ แต่หาเป็นเช่นนั้น ไม่ เพราะบรรดาธนาคารเจ้าของบัตร ซึ่งกำลังตกอยู่ในฝันร้ายถูกมรสุมหนี้เสียกระหน่ำจนตั้งตัวแทบไม่อยู่ ต่างพยายาม ที่จะจำกัดสินเชื่อ เพื่อการบริโภคประเภทนี้ตามคำสั่งของแบงก์ชาติ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย ที่อาจเกิดขึ้น

เป็นอันว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ธุรกิจบัตรเครดิตต้องหดตัวตามสภาพเศรษฐกิจ แม้แต่วีซ่าเจ้าของแบรนด์บัตรพลาสติกระดับโลกยังต้องปรับกลยุทธ์ตามหลังจาก ที่ตัวเลขการเติบโตของบัตรเครดิต เริ่มปรากฏให้เห็นว่า หดตัวลงอย่างชัดเจน แม้ว่าจะได้ความสำเร็จจากการได้ยอดบัตรเครดิตครบ 1 ล้านใบไปแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ เริ่มคลี่คลายไประดับหนึ่งแล้ว น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจวีซ่า และการทำงานของสมบูรณ์มากขึ้น หลังจาก ที่ประคับประคองมาได้ระยะหนึ่ง

สิ่งที่สมบูรณ์สนใจ และให้ความสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจบัตรเครดิต คือ ทำอย่างไร ที่จะให้คนไทยหันมาชำระเงินผ่านบัตรพลาสติกมากขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคม ที่ใช้เงินสดเป็นส่วนใหญ่ สังเกตได้จากปี 2536 เงินสดครองสัดส่วน 91% ของการใช้จ่าย เพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ขณะที่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีเพียง 5% ปี 2541 89% ก็ยังเป็นสัดส่วนเงินสดอยู่ ส่วนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ ที่ระดับ 5.48%

นี่คือ ปัญหาหลักของธุรกิจวีซ่า ที่จะต้องพยายามทำให้คนไทยเห็นบทบาทสำคัญของบัตรชำระเงิน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ถ้าทำได้ย่อมหมายถึงรายได้ของวีซ่า ที่จะเพิ่มขึ้น

"เราต้องการให้คนไทยหันมาใช้บัตรเครดิต เพื่อการชำระเงินแทนเงินสดให้มากที่สุด ดังนั้น ผมจึงมองว่าเงินสดคือ คู่แข่งของวีซ่า" สมบูรณ์กล่าว

ดังนั้น แผนการดำเนินธุรกิจของวีซ่าในอีก 3 ปีข้างหน้า จึงมุ่งไปด้านส่งเสริมการใช้บัตรวีซ่า เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเพิ่มจำนวนร้านค้าผู้รับบัตร "เราจะขยายฐานร้านค้าผู้รับบัตรไปสู่ตลาดใหม่ ที่มีศักยภาพสูง เช่นสถานีน้ำมัน ทางด่วน ประกันภัย ธุรกิจการศึกษา หน่วยงานราชการ" สมบูรณ์บอก

อีกทั้งยังจะขยายฐาน และส่งเสริมบัตรวีซ่า อิเลคตรอนให้กลายเป็นสัญลักษณ์บัตรเดบิตของประเทศ ปัจจุบันจำนวนผู้ถือบัตรเดบิตเกิน 1 ล้าน ใบเช่นเดียวกับบัตรเครดิตแล้ว

"ตลาดบัตรเดบิตของเราจะเติบโตเป็น 100% เพราะเป็นตลาดใหม่ และยังไม่มีคู่แข่ง"

นอกจากนี้ยังขยายการใช้ผลิตภัณฑ์บัตรพาณิชย์ของวีซ่า บัตร วีซ่า คอร์ปอเรท วีซ่า เพอร์เชสซิ่ง และวีซ่า บิซิเนส เพื่อเจาะตลาดที่มีศักยภาพ อาทิ การชำระเงิน เพื่อการค้าโดยบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง

ปัจจุบันวีซ่ามีส่วนแบ่งตลาดบัตรเครดิต 55% และบัตรเดบิตระหว่าง ประเทศ 80% ล่าสุดได้เปิดตัววีซ่า แคช ซึ่งเป็นการตอกย้ำ และกระตุ้นการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ในไทย "ตลอดจนผลักดันเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไปสู่สังคมปลอดเงินสดอีกขั้นหนึ่ง" สมบูรณ์กล่าว

คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่ากลยุทธ์ของวีซ่าในไทยจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด รวมถึงวีซ่า แคช เพราะใน อดีตเคยมีผู้ออกบัตรประเภทเดียวกันออกมาชื่อ ไมโคร แคช แต่ก็ล้มเหลวใน เชิงธุรกิจ

สำหรับอนาคตของระบบการชำระเงินในศตวรรษหน้าของไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมปลอดเงินสด สอดคล้องกับแนวโน้มของทั่วโลก ที่จะมีการใช้บัตรชำระเงินประเภทต่างๆ แทนเงินสด และเช็ค

ธุรกิจการชำระเงินของไทยได้วิวัฒนาการจากเดิม ที่ประกอบด้วยบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต และบัตรเดบิตไปเป็นตลาดที่มีบัตรหลากประเภทแตกเซ็กเมนต์มากขึ้น อาทิ บัตรสมาร์ทการ์ด อเนกประสงค์ ที่ใช้เทคโนโลยีสูง

จากนี้ไปตลาดบัตรเดบิตจะเติบโตขึ้นในอัตรา ที่เร็วกว่าบัตรเครดิต เนื่องจากประชากร ที่มีบัญชีเงินฝาก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 13 ล้านคน เปรียบเทียบกับผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ถือบัตรเครดิต ที่มีอยู่เพียง 1.9 ล้านคน

จากปริมาณยอดขายผ่านบัตรวีซ่าทั่วโลก 70% มาจากบัตรเครดิต และ 30% มาจากบัตรเดบิต อย่างไรก็ตามสัดส่วนยอดขายจากบัตรเครดิตได้รับการคาดหมายว่าจะลดลงเหลือเพียง 30% สวนทางกับสัดส่วนยอดขายผ่านบัตรเดบิต ที่จะก้าวขึ้นมามีสัดส่วน 70% แทนในระยะยาว

ธุรกิจชำระเงินมีการแข่งขันกันสูงขึ้น โดยกิจกรรมการตลาดที่ใช้จะมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวให้กับลูกค้า และการให้ข้อเสนอพิเศษ สิ่งเหล่านี้จะมีผลในการกำหนดว่าผู้บริโภคจะเลือกใช้บัตรของใคร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.