ดีแทคสูญรายได้เกือบ 300 ล้านบาท วอนกทช.จัดการเรื่องบล็อกสัญญาณ


ผู้จัดการรายวัน(27 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ดีแทคเสียรายได้เฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท หรือเกือบ 300 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. กรณีถูกเอไอเอสบล็อกสัญญาณข้ามเครือข่าย "บุญชัย" หวังกทช.เข้ามาตรวจสอบปัญหาที่แท้จริง หลังจับมือใครดมไม่ได้ว่าต้นตอปัญหาเกิดจากใคร ด้าน "พล.อ.ชูชาติ" ประธาน กทช.พร้อมช่วยเหลือ ขอเพียงให้ส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามา ส่วนเอไอเอสยันเสียงแข็งไม่ได้บล็อกสัญญาณใคร

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานคณะกรรมการ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นหรือดีแทค กล่าวถึงกรณีปัญหาการบล็อกสัญญาณโทรศัพท์มือถือข้ามเครือข่ายว่าไม่รู้สาเหตุแน่ชัดว่าเป็นอย่างไร เพราะพิสูจน์ไม่ได้และไม่อยากจะไปโทษใคร ตอนนี้พยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าบริการโทรศัพท์มือถือประกอบด้วยหลายส่วน มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างการเชื่อมโยงก็ต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างราชการกับเอกชน หรือเอกชนกับเอกชน

"ตอนนี้เราพยายามประสานงานกับราชการทุกวัน แต่พอไปทีโอทีก็บอกเราว่าต้องให้ กทช.สั่ง พอไปหากทช.ก็บอกว่าเรายังไม่ได้รับใบอนุญาต กลายเป็นคนป่วยคือผู้ใช้บริการที่ไม่รู้ว่าหันหน้าไปพึ่งหมอคนไหนดี"

เขาย้ำว่า ปัญหาการบล็อกสัญญาณไม่ใช่ดีแทคจะต้องแก้ปัญหาคนเดียว แต่ต้องให้องค์กรกลางที่มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับธุรกิจโทรคมนาคมอย่างคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เข้ามาตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการบล็อกสัญญาณเกิดในระดับชุมสายโทรศัพท์ที่ต้องมีการต่อเชื่อมกับบริษัท ทีโอที เนื่องจากปัจจุบันนี้การสื่อสารโทรคมนาคมเป็นการเชื่อมโยงกันหมด ไม่ใช่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง เมื่อโอเปอเรเตอร์ทุกรายใส่ ทราฟิกการสื่อสารลงมาในโครงข่ายใหญ่เดียวกันทั้งหมด หากระบบใครเสียหรือเกิดการบล็อกขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อโอเปอเรเตอร์ทุกรายด้วย

"อุตสาหกรรมโทรคมนาคมวันนี้ผมว่าเหมือนอยู่ในหมอกควัน ต้องรอความเมตตาจาก กทช.พยายามอนุมัติอะไรออกมาสักเรื่องหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเรื่องค่าเชื่อมโครงข่าย หลังจากนั้นเชื่อว่าเรื่องต่างๆ ก็จะทยอยตามออกมา ซึ่งจะทำให้กทช.รู้ว่าธุรกิจโทรคมนาคมบ้านเรามีความสลับซับซ้อนมากแค่ไหน รวมทั้งพันธะสัญญาต่างๆก็มีความไม่เหมือนกัน 100%"

นายบุญชัยกล่าวว่า กรณีที่กทช.จะเปิดเวทีสาธารณะระดมความเห็นเกี่ยวกับแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคมนั้น ดีแทคและยูคอม พร้อมเข้าร่วมเต็มที่และพร้อมเปิดเผยสัญญาต่างๆที่มีความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกับโอเปอเรเตอร์รายอื่น รวมทั้งเรื่องที่โอเปอเรเตอร์ กำลังประสบปัญหาในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลขหมายโทรคมนาคม หรือเรื่องลูกค้าเดือดร้อนจากการถูกบล็อกสัญญาณโทร.ข้ามเครือข่าย

"ผมคิดเสมอว่าเบอร์เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของดีแทคหรือของใครๆ ดีแทคแก้ปัญหาได้ดีที่สุดในขอบเขตของบริษัทนิติบุคคลที่ไม่ได้มีฤทธิ์มาก แต่ความเดือดร้อนของประชาชนนับสิบล้านคนจะเป็นประชามติสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา"

เขากล่าวว่าสภาพของโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ นอกจากเอไอเอสอยู่ในภาวะกดดันเหมือนอยู่ใต้น้ำ และเวลาที่ใกล้จะหมดลมหายใจที่กลั้นไว้และต้องพุ่งขึ้นเหนือน้ำเริ่มใกล้เข้ามาแล้ว นอกจากนี้เขายังเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรเลขหมายและการบล็อกสัญญาณ ต่อไปก็จะต้องมีเรื่องการฟ้องร้องกันวุ่นวายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ค้างคาระหว่างกลุ่มทรูกับทีโอที หรือดีแทคกับทีโอทีเรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้อุตสหากรรมนี้ไม่เคลื่อนที่มีแต่เรื่องฟ้องร้อง

"ผมเชื่อว่าหากมีการใช้ค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเนกชัน ก็จะเหมือนการเปิดหน้าต่างให้หมอกควันสลายเห็นภาพที่แท้จริงและเชื่อว่าน่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้"

นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ดีแทค กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากเครือข่ายดีแทค เพราะเครือข่ายสามารถรองรับได้ถึง 12 ล้านเลขหมาย ซึ่งได้มีการเจรจากับนายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหารเอไอเอสแล้วเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด โดยดีแทคเชื่อว่าท่อของดีแทคสามารถรองรับการใช้งานของลูกค้าแล้ว เพียงแต่อยากให้เอไอเอสช่วยเพิ่มความสามารถในการรับสัญญาณขาเข้า

สำหรับผลกระทบในแง่รายได้ของดีแทค สูญเสียรายได้เฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่เกิดปัญหาขึ้นหรือเกือบ 300 ล้านบาท โดยคิดเป็นผู้ใช้บริการไม่สามารถโทร. ได้มากกว่า 1 แสนคนต่อวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาตั้งแต่ 17.00- 20.00 น. ซึ่งมีการโทร.สำเร็จเพียง 20% เปรียบเทียบกับช่วงต้นเดือน เม.ย. อยู่ที่ 70%

นายธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้อำนวยการกลุ่มแฮปปี้ ดีแทค กล่าวว่า หากไม่ได้ข้อสรุปถือว่าทั้งเอไอเอสและดีแทคจะเสียประโยชน์ในเรื่องคุณภาพของบริการที่ผู้บริโภคจะให้ความเชื่อถือลดลงและส่งผลให้ลูกค้าไหลออกจากระบบ รวมทั้งอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการจัดระเบียบซิมการ์ด

กทช.ให้โอเปอเรเตอร์ส่งเรื่องมา

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกทช.กล่าวว่ากทช.พร้อมเข้าไปตรวจสอบและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยโอเปอเรเตอร์จะต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรมาที่กทช.เพื่อที่กทช.จะได้พิจารณาว่าจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน ภายใต้กรอบอำนาจและหน้าที่ของกทช.

นายเหรียญชัย เรียววิไลสุข กรรมการกทช.กล่าวว่าปัญหาการโทร.ข้ามเครือข่ายนั้นไม่น่าจะเกิดจากการบล็อกสัญญาณของโอเปอเรเตอร์รายใดรายหนึ่ง แต่เกิดจากวงจรเชื่อมโยงระหว่างทีโอที กับโอเปอเรเตอร์รายนั้นมีความจุไม่เพียงพอ กล่าวคือ หากวงจรเชื่อมโยงรองรับการเรียกเข้าได้ 1 พันครั้ง แต่กลับมีความต้องการเรียกเข้าถึง 2 พันครั้ง ก็ทำให้การโทร.เข้ายาก ซึ่งตามมาตรฐานอุตสาหกรรมนั้น การโทร.ไม่สำเร็จ ไม่ควรจะเกิน 5% ซึ่งการให้บริการปัจจุบันก็ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว

"ทีโอทีควรต้องไปขยายในส่วนวงจรเชื่อมโยงดังกล่าว เพราะได้ส่วนแบ่งรายได้และค่าแอ็กเซสชาร์จไปแล้ว นอกจากนั้น หากมีผู้บริโภค ร้องเรียนมายังกทช. ก็จะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ที่ระบุว่ากทช.ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค"

ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสกล่าวว่ากทช.ไม่น่าจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องระหว่างโอเปอเรเตอร์ที่จะต้องเจรจาแก้ปัญหากันเอง นอกจากนี้เอไอเอสไม่ได้มีการบล็อกสัญญาณของโอเปอเรเตอร์รายอื่นที่โทร.เข้ามาในโครงข่าย แต่ที่โอเปอเรเตอร์รายอื่น โทร.เข้ามายังโครงข่ายเอไอเอสยากนั้นเนื่องจากวงจรเชื่อมต่อโครงข่ายของโอเปอเรเตอร์รายนั้นเต็มเอง ดังนั้นการแก้ไขโอเปอเรเตอร์ราย ดังกล่าวต้องไปขยายวงจรเชื่อมโยงเอง เพราะผลดังกล่าวเกิดจากการออกโปรโมชันลดราคาทำให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีการขยายวงจรเชื่อมโยงตาม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.