|

"ต้องแพ้เสียก่อน เราถึงจะชนะได้"
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
ทำไมจะต้องรอให้แก่ชราเสียก่อน ถึงจะพูดเรื่องในอดีต?
ทำไมต้องรอให้ประสบผลสำเร็จเสียก่อน แล้วค่อยกลบเกลื่อนเรื่องในอดีต พูดแต่เรื่องความยิ่งใหญ่ของตนเอง?
ทำไมจะต้องก้มหน้าก้มตา หลบผู้หลบคน เพียงเพราะเราล้มเหลวในเรื่องการทำงาน?
ขอเพียงเรื่องที่ทำไม่ผิดคุณธรรม ก็ไม่มีอะไรที่น่าจะต้องหลบหนีหน้าตากัน!
เริ่มฉบับหน้าใน “ผู้จัดการ” สนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการนิตยสารผู้จัดการ จะเอาความผิดพลาดในการทำงานตั้งแต่กลับจากต่างประเทศเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาตีแผ่ทุกขั้นตอน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมาได้เป็นอุทาหรณ์ เตือนใจ
บันทึกนี้ไม่ใช่ประเด็นบันทึกระดับชาติหรือระดับโลก แต่บันทึกนี้จะเล่าให้ฟังเป็นครั้งแรกในวงการธุรกิจเมืองไทย ถึงเบื้องหลัง ปัญหา การล้มเหลว ตลอดจนการประสบความสำเร็จ
เราจะพูดถึงการเจริญเติบโตของ PSA
พร สิทธิอำนวย เป็นคนอย่างไร?
เขามีวิธีการใช้คนทำงานให้อย่างไร?
สุธี นพคุณ ในที่สุดทำไมแตกจากพร?
ทำไมพรถึงไปได้ดี แต่สุธีล้มเหลว?
บทบาทของบุญชู ระหว่างพรและสุธี อยู่ที่ไหน
ทำไม จึงมี advance media และทำไมจึงทำ business times?
Business Times ล้มเหลวเพราะอะไร?
อาณาจักร PSA ทำไมถึงขยายเร็ว? เอาเงินที่ไหนมาขยาย?
ฐาน PSA อยู่ที่ไหน?
สำนักพิมพ์การเวก เกิดขึ้นเพราะอะไร?
ทำไมถึงล้มเหลว?
เมื่อสนธิถูกฟ้องคดีเช็ค และถูกจำในเรือนจำคลองเปรม ถึง 1 เดือน เขารู้สึกอย่างไร? และเขาคิดอะไรอยู่
อะไร คือการทำงานที่ล้มเหลวของเขา?
จากคนหนุ่มที่พุ่งไปไกลมาก จากการที่ได้คบกับผู้ใหญ่ตั้งแต่นักธุรกิจระดับนานาชาติ จนถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อคิดอะไรกับเขาบ้าง
บันทึกนี้ไม่ใช่บันทึกของความสำเร็จ แต่เป็นบันทึกของบทเรียน!
บันทึกนี้ สนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ต้องการเก็บไว้เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ ในอีก 20-30 ปี และผู้อ่านสามารถเอาไปใช้ในการทำงานได้
มนุษย์ทุกคนมีอดีต อดีตบางอย่างควรเก็บไว้กับตัวเอง แต่อดีตบางอย่างควรนำออกมาเผยแพร่ ให้เป็นวิทยาทานกับคนหนุ่มสาว ให้เป็นประโยชน์ต่อวงการบริหาร
ไพบูลย์ สำราญภูติ ที่ปรึกษาหนังสือผู้จัดการ เมื่อทราบถึงบันทึกกล่าวว่า “จะมีคนอยู่สามประเภทที่จะอ่านบันทึกนี้ พวกแรกคือเพื่อนฝูงที่เห็นใจ พวกที่สองคือคนที่อยากเรียนรู้ พวกที่สามคือพวกที่เกลียดขี้หน้าคนเขียนจะได้เอามาซ้ำเติม”
การซ้ำเติมไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย หากเป็นเสมือนกำลังใจที่ทำให้มีมานะในการต่อสู้อีกต่อไป
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “มีคนในโลกนี้อยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ คนที่ล้มเหลวแล้วลุกไม่ได้เลย ประเภทที่สองคือ คนที่จะล้มกี่ครั้ง แล้วก็ยังพยายามลุกขึ้นมาอีก ทุกครั้งไป”
และหากบันทึกนี้สามารถจะเป็นกำลังใจให้คนที่ล้มเหลวลุกขึ้นมาสู้ต่อไป และเป็นบทเรียนให้กับคนหนุ่มสาวในการทำงานได้แล้วละก็ จะมีคนอีกสักล้านคนมาซ้ำเติมผู้เขียนบันทึกนี้ ก็คงจะไม่เป็นอะไรกระมัง?
ฉบับกันยายน บทที่หนึ่ง “กลับสู่มาตุภูมิ”
ฉบับตุลาคม บทที่สอง”เข้าสู่สังคม เอ็กเซ็คคิวทีฟ”
ฉบับพฤศจิกายน บทที่สาม “PSA”
ฉบับธันวาคม บทที่สี่ “การแผ่ขยายของPSA”
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|