|

อารมณ์บุญชู เสียไปหมด
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
พอพูดถึงเรื่องวิธีการจัดงบประมาณของรัฐบาล
“รัฐบาลที่ผ่านมา ก็อย่างที่ท่านข้าราชการทั้งหลายว่า คือ... ความจริงรัฐบาลท่านไม่ได้เขียนกำหนดนโยบายอะไรหรอก ข้าราชการต่างหาก และก็เป็นเรื่องจริงครับที่ว่า คนเขียนนโยบายมันคนละคนกันกับรัฐบาลครับ นี่เป็นเรื่องจริง... ผมเข้าไปเป็นรัฐบาลครั้งที่สองเนี่ย พอเข้าไปถึงนะ เขามีนโยบายเสร็จไว้แล้ว กระผมก็ไม่ยอม ผมบอกว่า เอ๊ะ คุณจะทำหรือผมจะทำ ต่อรองกันไปต่อรองกันมา เขาบอกว่าก็คุณรับผิดชอบทางเศรษฐกิจคุณก็ไปแก้นโยบายในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ คุณจะเห็นได้ว่า ภาษามันไม่เหมือนกันครับ คุณไปอ่านนโยบาย “เปรม 1” ก็สะดุดปั๊บ คนละเรื่องกันเลย แล้วก็จบแค่นั้นครับ ต่อจากนั้นก็เป็นของข้าราชการเขียนกัน”
“นี่คือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับงานที่รัฐบาลได้ปฏิบัติกันอยู่ และก็มาถึงเรื่องงบประมาณ เอาตัวเลขต่างๆ เท่าที่ได้ รวบรวมจากบรรดากระทรวง ทบวง กรมทั้งหลาย ก็เขากำหนดไว้แล้วว่าจะใช้ แล้วก็เกี่ยวข้องกับเรื่องเก่าๆ ที่ทำค้างกัน ทำต่ออย่างไร นี่ก็ต้องเอามาแสดงกันก่อน รวมตัวเลขได้จำนวนหนึ่ง แล้วก็ย้อนไปดูตัวเลขเกี่ยวกับรายได้ทั้งหมดว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้นน่ะรายได้มันเป็นอย่างไร ก็เปรียบเทียบกับจำนวนที่ข้าราชการทั้งหลาย มันต่างกันตรงไหนแค่นั้น ขีดคั่นความสามารถของเราที่จะทำให้ได้เต็มที่นั้น เท่าไร? นี่เป็นเรื่องของวิธีการ ขั้นสุดท้ายคนที่จะเป็นคนกำหนดนั่นก็คือ ตัว รมต. ว่าการกระทรวงการคลัง วิธีการบอกว่า เขาจะเอาอย่างนี้ก็จบกัน ที่ท่านข้าราชการท่านบอกว่า จะหาจุดพอดีนั้น ผมอยากจะเรียกว่า จุดพอดีในที่นี้นั้นยากจะจ่ายให้ท่าน”
“มันต้องมาคิดกันแล้วว่า จุดพอดีของใคร เท่าที่ผมประสบพบมานั้น ก็เป็นจุดพอดีตามความสามารถของท่านข้าราชการนั้น ก็ท่านทำให้ได้แค่นี้จะเอาแค่ไหน ไอ้นี่เป็นเรื่องจริงนะครับ เออเรื่องอย่างนี้ครับ ก็เลยกลายเป็นว่า เราทำงบประมาณเพื่ออะไร เรามาเล่นตัวเลขกันอยู่เรื่อยว่าจะต้องจ่ายเท่านั้น มันจะกระทบกระเทือนเศรษฐกิจ จะทำให้ภาระการคลังเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ลืมไปข้อหนึ่ง วัตถุประสงค์ในการบริหารนั้นจะอยู่ตรงไหน คือถ้าไม่เริ่มต้นด้วยการคิดว่าจะแก้ปัญหาอะไร ปัญหาของชาติบ้านเมืองนั้น อะไรเป็นปัญหาสำคัญ ถ้าเราไม่แก้แล้ว มันจะเสีย มันจะกระทบกระเทือนไปถึงที่ทำให้เศรษฐกิจลำบาก จะต้องกู้หนี้ยืมสินเขามากมายอะไรนั่น ถ้าท่ามลืมสิ่งที่ท่านคิดจะทำ และปัญหาของบ้านเมืองนั้น ก็มีมากมายนะครับ เพราะว่าที่มีมากนั้น ก็เพราะสะสมกันไว้ แต่ละรัฐบาลเข้ามาส่วนมากมักจะสะสมปัญหามากกว่าแก้ปัญหา และเรื่องมันก็มีมาก ฉะนั้นหน้าที่ที่แท้จริงของการดำเนินงานด้านการจัดสรรงบประมาณนั้น ก็เห็นจะต้องขึ้นต้นด้วยการกำหนดว่า ปัญหาอะไรเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ต้องแก้ก่อน เพราะถ้าเลือกถูกต้องว่าต้องแก้อะไรก่อน เราจะต้องแก้ให้ได้ แค่ไหน อย่างไหน มันก็จะเป็นผลทำให้ได้พิจารณากันต่อไปว่า เมื่อมีขีดความสามารถเท่านั้น เราจำเป็นจะต้องทำสิ่งนี้ก่อน แล้วสิ่งอื่นจะต้องลดอย่างไรจะต้องตัดอย่างไร ไอ้นี่เป็นเรื่องซึ่งในกระบวนการกระทำที่ถูกต้องจะต้องยึด
“ฉะนั้นเริ่มต้นก็คือ ให้รัฐบาลเป็นผู้ทำงบประมาณจริงๆ แล้วจะต้องนั่งพูดกันก่อนแล้ว ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ...นโยบายของเรานั้นต้องการแก้ไอ้นี่ก่อน ให้เสร็จให้สำเร็จให้ได้ เพราะเป็นปัญหาใหญ่โต เพราะอะไร? เช่นนโยบายหลักของคุณเปรม เขาพูดกันมาตลอด คือแกบอกว่า ความยากจนของประชาชนนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องแก้ไขให้ได้ แกไม่ได้บอกเลยว่าพวกไหนยากจน แกบอกว่าเพราะแกทำงานในท้องถิ่นที่อยู่ในชนบทตอนแกเป็นทหาร แกไปเห็นความยากจนมาแล้ว ท่านคิดถึงสิ่งที่อยู่ในใจท่านตลอดเวลา เป็นความตั้งใจที่สุจริตอย่างยิ่ง บริสุทธิ์ผุดผ่อง อยากจะแก้ความยากจนนะ เราจะต้องมาดูว่าไอ้ความยากจนนั้นมันอยู่ที่ไหน? ไปอยู่ในไร่ในนามันยากจนเพราะอะไร? เราจะแก้ให้พวกยากจนนั้น เราจะต้องทำอะไรบ้าง? ถ้าเริ่มต้นได้อย่างนี้ ปัญหามันก็คงหมดไป จะต้องมาพิจารณากันว่า ไอ้จุดใดที่มันจะทำให้เขายากจนบ้าง มันอยู่ตรงไหน และท้องที่ที่ยากจนมันเป็นอย่างไร มีความจำเป็นจะต้องแก้อะไรบ้าง ก็กำหนดงานการอะไรต่างๆ ออกมาได้ ว่าต้องทำอะไรบ้าง เสร็จแล้วก็กำหนดได้ว่า มันมีจำนวนเงินที่จะต้องใช้จ่ายแต่ละด้านเท่าไหร่? กำหนดได้ว่า พื้นที่ที่จะต้องทำก่อน-หลังกันด้วย เพราะทำทีเดียวหมดทั้งประเทศก็ไม่ได้ พื้นที่เท่าไหร่จะต้องทำให้เสร็จ พื้นที่นั้นจำเป็นต้องทำก่อนเพราะเหตุใด และจำนวนเงินที่ต้องใช้ในแต่ละด้านเพื่อให้ความยากจนในจุดนั้นมันหายไป จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้เท่าไหร่แน่ พูดกันซะก่อน เมื่อพูดกันอย่างนี้ ตกลงกันอย่างนี้ได้ มันก็มีพอให้เกิดงานที่จะต้องทำเพื่อแก้ความยากจนของคนเหล่านี้ในท้องที่นี้ว่ามันมีอะไรบ้าง ใครมีความรับผิดชอบที่ต้องทำ เงินจะต้องใช้เท่าไหร่ ใช้เสร็จแล้วจำนวนนี้จะเกิดผลอะไรขึ้นในแง่ที่ว่า จะทำรายได้เขาเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ถ้าทำในลักษณะนี้ มีผลต่อไปอีกประการหนึ่ง คือมีการติดตามวัดผลกันได้ในช่วงๆ งบประมาณแผ่นดินเท่าที่เราทำกันมาแล้วนั้นนะ มีใครไปประเมินผลบ้างว่ามันสำเร็จตรงไหน สำนักงานงบประมาณนั่นนะท่านวิเคราะห์นะครับ ไม่ใช่นักวิเคราะห์ แต่วิเคราะห์กันอยู่เสมอว่า ที่ใช้จ่ายกันไปแล้ว มันได้ผลสักแค่ไหนแล้วแกก็หัวเราะอยู่ในใจ จริงหรือไม่จริง ไม่กล้าออกมาเปิดเผยและไม่มีใครแยแสอยากจะรู้นี่ครับ นี่เพราะทำกันไม่ได้จริงจังนัก
“แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าเรามองในแง่ของนักธุรกิจเอกชนละก็ การลงการใช้จ่ายในแต่ละเรื่องของเขาจะต้องคิดก่อนว่า แล้วมันจะได้ผลอะไร? ผลนั้นมันจะต้องวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ มันก็ปรากฏตัวเลขสำคัญที่จะต้องทำก่อนนี่เป็นหลัก ตอนนี้ล่ะครับก็มีปัญหา ความสำคัญของปัญหานั้นมันใหญ่หลวงแค่ไหน? เราต้องยอมให้ปีแรกนี้ ทำแค่ไหนก่อนนั้นก็คือจะได้ตัวเลขที่ถูก ถ้าได้อันนั้นแล้วตัวเลขหลังๆ ที่มีความสำคัญรองลงมา ก็จะได้กำหนดกันได้ ตอนนี้จะช่วยกันหน่อย ผมก็ยังไม่ว่า แต่นี่มันชุ่ยตั้งแต่ต้นมาเลย ไม่มีอะไรเลยที่เป็นแก่นเป็นสาร เอ้า นี่เรื่องจริงนะ แล้วก็เป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวกับฤทธิ์เดชของคนด้วย ท่านข้าราชการท่านบอกมาแล้วว่า เวลาที่จะหาจุดพอดีนั้นนะ คือการต่อรองกันระหว่างสำนักงบประมาณกับหน่วยราชการ รู้ไหมเขาต่อรองกันตรงไหน ในหน่วยไหนที่พอจะบีบมันจะได้ พอจะเขกกบาลมันได้เนี่ยเอากันเต็มที่เลย แต่ไอ้หน่วยไหน มันมีฤทธิ์นั้น ยกวันทาให้เลย ไม่ค่อยกล้าไปต่อรองเขาเลยแม้แต่นิดเดียว เขาจะเอาเท่าไหร่ก็ต้องให้เขาหมด
“รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่พวกเราทำได้อย่างเดียว คือหัวเราะ และนี่เป็นความจริงเกี่ยวกับการทำงบประมาณ ผมเห็นด้วยในเรื่องที่ว่างบประมาณนี้มันต้องทำในลักษณะที่เหมาะเจาะกับสภาวะของเศรษฐกิจ คือหมายความว่าถ้าเรายังจนอยู่ ก็ต้องใช้น้อยลง ต้องใช้ให้พอเหมาะกับสถานะ แต่มันมีเรื่องที่จะต้องคิดด้วยเหมือนกันว่า สภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ซบเซาลงไปนั้น มันมีส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของรัฐด้วย ความผิดในเรื่องนี้ ก็อาจจะยอมรับว่ามันเกี่ยวกับการจัดงบประมาณด้วยเหมือนกัน เพราะลักษณะของการทำงานเท่าที่ผมได้หยิบมากล่าวให้เห็น มันเป็นเรื่องของการกระทำของข้าราชการเป็นสำคัญ มันก็แล้วแต่ว่าประสิทธิภาพของหน่วยงานแต่ละหน่วยงานนั้นมีดีแค่ไหน เรามาพูดถึงประสิทธิภาพในการหารายได้ของรัฐที่กำหนดไว้ว่า จะต้องเป็นการนำมาซึ่งปัจจัยที่จะนำมาใช้จ่ายลงทุนในการมาแก้ปัญหาของบ้านเมืองนั้น มันมีทางที่จะทำแค่ไหน
“ถ้าเราใช้ความพยายามกันอย่างจริงจังเราจะต้องทำอะไรบ้าง ดูกันแล้วจริงหรือ พิจารณากันดีแล้วหรือว่ารายได้ด้านภาษีอากรที่มันเก็บได้ตกต่ำนั้นน่ะ ไม่มีทางจะแก้ไขได้เลย ผมอยากจะยกตัวเลขที่เขาชอบเล่นกันนั้นนะ ให้เห็นกันสักตัวหนึ่งก็ได้ ยอดภาษีการค้าเท่าที่เก็บได้นั้นน่ะ มันมีความสัมพันธ์กับปริมาณการค้าขายสักแค่ไหน? ทำไมมันเป็นอย่างนั้น เท่าที่มันเก็บไม่ได้ตามที่ควรจะเป็นนั้น มันขึ้นอยู่กับอะไร เคยมีการวิเคราะห์ เขาเคยเอามาคิดกันหรือเปล่าว่า มันจะต้องแก้ตรงไหน มันถึงจะถูกต้อง ตัวเลขเกี่ยวกับภาษีการค้านั้นเป็นตัวเลขหลักสำคัญที่จะนำไปถึงตัวเลขเกี่ยวกับกำไร ถ้าหากเราจะเก็บภาษีจากกำไร ถ้าตัวเลขด้านภาษีการค้ามันน้อย มันตกต่ำแล้วเห็นชัดทีเดียวว่า ภาษีกำไรนี้ไม่มีทางจะเพิ่ม แต่ภาษีการค้าอันนั้นเป็นภาษีการค้าที่แท้จริงหรือเปล่า ควรจะปรับได้หรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น
“เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาของเราว่า เราจะทำกันอย่างจริงจังแค่ไหน? ถ้าเราไม่คิดจะทำกันอย่างจริงจัง ก็แน่นอนล่ะครับ ก็ต้องกำหนดตัวเลขการขยายตัวของรายจ่ายงบประมาณปีนี้ แค่ 8.5% คือเรื่องที่ว่า ถ้าหากไปเทียบกับตัวเลขจริงๆ เกี่ยวกับรายได้แล้ว มันอาจจะเป็น 20% อะไรนั้น ก็เห็นจะต้องบอกว่า จะต้องทำย้อนหลังไปอีกหลายปีครับ เหมือนกันแหละครับใช่ไหมฮะ อย่างนั้นก็ต้องถือว่า ตัวเลขอันนี้มันขยายตัวขณะที่จิ๊บจ๊อยเป็นบ้าไปเลย ว่างั้นเถอะ มันเป็นไปไม่ได้ในลักษณะที่ว่า เราต้องการพัฒนาบ้านเมือง กำลังแก้ความยากจน งบประมาณอย่างนี้มันจะแก้ความยากจนตรงไหนได้? พวกไหนที่ได้รับการอุ้มชูให้หายจากความยากจนได้ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ผมคิดว่า อยู่ที่ว่าเราจะทำงานกันง่าย คือให้ง่ายหรือยาก ข้าราชการก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ ท่านก็ต้องการที่จะทำงานอย่างสบายๆ ได้บ้างเหมือนกัน เงินเดือนก็นิดหน่อยเท่านั้น โธ่เอ๊ย ทำอะไรกันมาก ท่านก็ต้องตั้งเป้าหมายอะไรต่างๆ ไว้น้อยๆ แล้วถึงเวลาท่านก็ทำได้ครบตามนั้นง่ายๆ ละก็ มาอวดกันได้อีกด้วย ยิ่งถ้าหากมันคิดว่า เป้าโอ๊ยวิเศษ เลยต้องหลายขั้น
“ฉะนั้น นี่ก็เป็นส่วนที่น่าจะต้องพิจารณาเหมือนกันว่า การขยายตัวของรายจ่ายงบประมาณในลักษณะเช่นนี้นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องจริงหรือ ถ้าเรามองถึงปัญหาที่เราจะต้องให้กับบ้านเมืองในขณะนี้ ว่ามันเป็นความเรียบร้อยในจุดใด มาดูลักษณะงบประมาณในขณะนี้ เราคงจะมองเห็นว่า ผลของงบประมาณแบบนี้ มันก็เป็นแต่เพียงว่า ให้ราชการแต่ละแขนงดำเนินต่อไปได้ตามวิถีทางของมันอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่มีอะไรที่จะบกพร่อง
“แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องให้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลดน้อยลงนั้น ท่านก็ไม่ต้องถืออะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ละนะที่จะประเมินผลกัน ผู้แทนราษฎรในรัฐสภาก็ไม่เคยคิดที่จะประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณในปีที่แล้ว ผู้แทนท่านอุตส่าห์ตั้งข้อสังเกตเวลาที่พิจารณางบประมาณเสร็จ เขียนเป็นเอกสารหรูหราแนะนำไปเยอะ เสร็จแล้วตัวงบตัวคนที่แนะนั้นก็ลืมไปด้วย..เขียนกันทุกปีครับ ท่านที่เคยติดตามดูเอกสารงบประมาณหลังที่ได้ผ่านรัฐสภาไปแล้ว จะเห็นทีเดียวว่า โอ๊ย ตั้งข้อสังเกตทั้งหลายมีอยู่มากมาย น่าทึ่งอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลเอาไปปฏิบัติตามนั้น ป่านนี้งบประมาณดีกว่านี้เยอะแยะ
“เรื่องที่เกี่ยวกับข้อที่ควรจะพิจารณาในด้านงบประมาณเท่าที่ผมคิดว่าควรจะเอาไปวิเคราะห์กันต่อก็คือ ความหมายว่าวันนี้เรามาหาความรู้ความเข้าใจกับคนที่มีประสบการณ์มาบ้างว่าเขาทำกันอย่างไร ? และก็มีเรื่องอะไรที่น่าจะต้องเอาไปพิจารณาแล้วละก็ ผมก็คิดว่า...เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของเราเนี่ย ...ซึ่งก็ได้กล่าวมาแล้วว่าเงินหนึ่งร้อยบาทนี่นะเป็นเงินเดือนเท่าไหร่ เป็นค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ มันยังมีอีกหลายอย่างนะครับ ค่ารถค่ารา..ค่าน้ำมัน..ค่าไฟ..ค่าสถานที่..ฯลฯ ร้อยแปด ค่ากระดาษดินสอมากมายมหาศาล รวมกันเข้าแล้วประมาณ 62% ค่าของงานที่เกิดขึ้น จากบริการที่ข้าราชการทั้งหลายทำอยู่นั้น วัดกันตรงไหน? ไม่ใช่ไม่มีค่านะ...มี! ท่านที่นั่งอยู่นี่บางทีท่านทำงาน มีค่าของงานสูงกว่าเงินเดือนของท่านก็เยอะ คนเขาประมูลไปเรื่อยๆ ไอ้คนที่ทำไม่ถึงค่าของมันก็มีไม่น้อย ค่าของงานเหล่านี้ ควรจะวัดกันอย่างไร? แล้วเราควรจะพิจารณากันซะทีว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริหารงานนั้นนะ มันควรจะแก้ไขกันอย่างไร? ไม่ใช่ว่า เราแก้ไม่ได้ มีทางที่จะแก้ได้มากมาย
“ผมขอยกตัวอย่างว่า เดี๋ยวนี้นะถ้าเราอยากจะลดบทบาทของงานราชการลงไป ข้าราชการที่มีอยู่ในที่ต่างๆ ที่ต้องไปนั่งทำงานในส่วนที่ควรจะไปจ้างคนอื่นเขาทำนั้นมีเยอะเชียว การซ่อมถนนนี่เขาก็ทำได้ กรมทางไม่น่าจะต้องมีราชการมานั่งทำเองหรอก กรมชลประทานมีลูกจ้างมหาศาล กรมทางนี่ก็มีลูกจ้างมหาศาล ไม่จำเป็นจะต้องไปไล่ลูกจ้างนี้ออกหรอก ให้คนอื่นเขารับเหมางานไปได้ แล้วบอกเงื่อนไขนั้นต้องจ้างคนฉันไปด้วย ทำได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราตั้งใจจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบริหารให้มันเข้ารูปเข้ารอยซะที หรือไม่ แต่นี่มันพองออกไปเรื่อยๆ มันพองพอๆ กับการชำระหนี้เงินกู้ล่ะครับ ต้องระวังครับเรื่องนี้ วันหนึ่งมันจะกินไอ้รายได้ของรายอื่นหมด แล้วจะไม่มีรายจ่ายด้านที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป ฉะนั้นเรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องมาวิเคราะห์กันว่า ระบบราชการเท่าที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ ข้าราชการได้ยอมทำทุกอย่างไปหมดไม่ใช้วิธีจ้างเขาทำ ถูกต้องจริงหรือ แล้วยังเป็นทางที่ประหยัดหรือไม่
“อีกข้อหนึ่งที่น่าจะต้องพิจารณาก็คือว่า การที่เรามีเครื่องมือเครื่องไม้ในการปฏิบัติงานอยู่มากมายหลายต่อหลายอย่าง ซื้อกันมาทุกปีมากมายนั้นน่ะ มันควรจะต้องกำหนดวิธีการที่จะเอามารวมกันเป็นกองกลางที่จะใช้กันหรือยัง หรือว่าควรจะทำอย่างไรกันถึงจะช่วยให้มาใช้เครื่องไม้เครื่องมือทรัพย์สินถาวรต่างๆ ให้มันมีประโยชน์สูงสุด และมีประสิทธิภาพในการใช้ของควบคุมได้ดีขึ้น ผมอยากจะเรียนสิ่งที่ผมจำได้ข้อหนึ่งในการพิจารณางบประมาณปี 2524 เขามีข้อสังเกตตั้งเอาไว้นะ เขาได้มีการสำรวจว่ารถแทรกเตอร์มีรถตักดินมีอะไรร้อยแปดนี่ เป็นจำนวนร้อยๆ สำรวจเข้าจริงๆ อยู่ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง นอนตายอยู่กับที่สัก 60% ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และพบว่ามันเสียไม่มีเงินซ่อมหรือดูแลกันไม่ดีก็ตาม ที่ใช้ได้บางตัวก็ไปอยู่โน่น อยู่นี่ สำรวจเข้าจริงจึงเห็นชัดว่า ระบบการใช้งานในลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง ของกรมทางก็มี ของชลประทานก็มี รพช. ก็มี ของ กรป. กลางก็มี ทำหน้าที่เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ต่างคนต่างใช้ ถ้าเป็นของเอกชนเขาล่ะก็อยู่กันในสภาพอย่างนั้น เขาเจ๊งแล้ว! นี่ก็เป็นวิธีการทำงานของราชการ ซึ่งจะต้องกลับมาคิดแก้ มันถึงจะเป็นประโยชน์ ในด้านเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณในลักษณะที่เรามีเงินน้อยต้องกระเบียดกระเสียรอยู่แล้ว มันจะได้ให้เงินที่มีจำนวนน้อยเนี่ยมีประโยชน์ให้สูงสุดจริงๆ ไม่ใช่อีลุ่ยฉุยแฉกไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ข้อที่ควรพิจารณาในด้านนี้นั้น ผมคิดว่า...เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาระเบียบแบบแผนในการทำงาน
“เงินนอกงบประมาณนั้นมหาศาล ถ้าเรามาคิดถึงรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วยที่มีผลเกี่ยวกับปัญหาที่ท่านอาจารย์...เออ..ได้หยิบยกขึ้นมาพูดไว้เมื่อสักครู่นี้ ดูเหมือนจะเป็นคุณธวัชชัยกล่าวว่า ... ถ้าครั้งนี้เรามีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาททางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ยอมรับแล้วว่า ข้าราชการเข้าไปยุ่งมันไม่ดี เราก็จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลพร้อมกันไป การลงทุนก็ดี ทางด้านเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องคิดว่า หน้าที่หรือบทบาทนี้ควรจะให้กับเอกชนมากขึ้น ...เห็นด้วย... ผมก็เลยคิดว่า สิ่งที่น่าจะต้องพิจารณาพร้อมกันไปก็คือว่า ไอ้ที่ทำอยู่แล้วขณะนี้ ในวงการรัฐวิสาหกิจเยอะแยะนั้น ควรหรือยังที่จะพิจารณาว่าจะลดบทบาท ก็ขายให้เขาซะบ้าง เลิกเสียจะได้ไม่ต้องเปลืองเงินงบประมาณที่บางครั้งแอบๆ เอาไปใช้ สร้างหนี้สินเอาไว้ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องมาชำระหนี้กันทีหลัง แล้วเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่จะมีประโยชน์มาก ถ้าเราลดบทบาทด้านนี้ลง ทรัพย์สินที่เราลงทุนไปในรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแล้ว ขณะนี้จริง ๆ ทั้งหมดประมาณสามแสนกว่าล้านบาท ถ้าเราขายไปบ้าง และรู้จักวิธีการขายก็จะได้เงินมาลงทุนด้านการพัฒนาได้ด้วย วิธีการที่จะขายอย่างไร ทำอย่างไรนี่ มันก็มีหลายอย่าง ซึ่งถ้าจะพูดกันในที่นี้คงจะต้องใช้เวลาอีกมาก
“ผมคิดว่าเรื่องที่เกี่ยวกับบทบาทด้านเศรษฐกิจ เท่าที่รัฐบาลจะลดตัวลงไปนั้น... เห็นด้วย แต่ว่าจะทำกันในลักษณะอย่างไรนั้น ผมคิดว่าควรจะเริ่มต้นพิจารณาจากรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ก่อน เรื่องเกี่ยวกับระเบียบแบบแผนที่เป็นบทบาทอันเนื่องมาจากอำนาจของกฎหมายที่ให้กับข้าราชการ ไปยุ่งกับเศรษฐกิจนั้นนะท่านร้ายที่สุด ร้ายมาก ฉะนั้นเรื่องนี้จะต้องรีบเลิกให้หมด อะไรที่จะต้องใช้อำนาจข้าราชการไปบังคับด้านเศรษฐกิจนั้นน่ะ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะเสนอว่า ลองเลิกสักระยะหนึ่ง แล้วดูซิว่ามันเป็นอย่างไร? ถ้ามันแย่เกินไป ก็เอากลับมาใช้อีกยังได้”
จากการบรรยายเรื่อง “งบประมาณปี 2526: ข้อเท็จจริงและข้อควรพิจารณา” ของกลุ่มสาธารณกิจ มูลนิธิประชากร ผู้บรรยายมี บุญชู โรจนเสถียร-ธวัชชัย ยงกิตติกุล-กนก วงษ์ตระหง่าน และ ม.ร.ว. จันทร์แรมศิริโชค จันทรทัต ผู้ดำเนินรายการ ที่โรงแรมอิมพีเรียล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2526
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|