|
อี๊สต์เอเซียติ๊กกับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อใช้
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
มูลเหตุที่ต้องซื้อ...ปัญหาในการใช้ ...ประเภทที่ใช้...การลดต้นทุนค่าใช้จ่าย...การต่อต้านจากพนักงาน
ผู้จัดการ: อะไรเป็นมูลเหตุที่คิดเอาคอมพิวเตอร์มาใช้?
ฉัตรชัย: มูลเหตุใหญ่ก็คือ เป็นงานบัญชีและสถิติ ซึ่งเดิมใช้คนทำแล้วปริมาณงานมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เราเพิ่มคนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การเก็บตัวเลขอะไรต่างๆ นี่ไม่ค่อยได้ทันเหตุการณ์ ใช้คนเยอะทีเดียว ก็ใช้ประมาณ 5-6 คน ถึง 10 คน ก็มานั่งบวกบิลทีละใบ แล้วมานั่งแบ่งเขตตัวเลขของใครของใคร
ในการตีพิมพ์บทความต่อไปนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่อีเอซีต้องใช้คอมพิวเตอร์ และใช้ในด้านใดบ้าง รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ ตลอดจนปฏิกิริยาของพนักงาน
การเอ่ยชื่อยี่ห้อของคอมพิวเตอร์ในเรื่องก็เพื่อให้เรื่องออกมาอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ หาได้มีเจตนาที่จะเป็นการเชิญชวนท่านผู้อ่านว่ายี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็นยี่ห้อที่ดีที่สุด เพราะในฉบับต่อไปทุกแบบต้องเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์อีกหลายยี่ห้อและหลายระดับ
ในการทำเรื่องนี้ “ผู้จัดการ” ใคร่ขอบคุณที่ปรึกษาคือ คุณอมร ถาวรมาศ ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดการให้เราได้พบคุณสุรชัย ศิริฤกษ์โอภาส ผู้จัดการตลาดของเครื่อง Texas Instrument ซึ่งแนะนำให้เราได้รู้จักคุณฉัตรชัย ที่เป็นผู้จัดการแผนก EDP ของอีเอซี (ประเทศไทย) ซึ่งซื้อเครื่อง TI มาใช้
คุณฉัตรชัยเป็นผู้จัดการ EDP ของบริษัท อี๊สต์เอเซียติ๊ก(ประเทศไทย) ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ คณะบัญชี คุณฉัตรชัยมาเริ่มงานกับอีเอซี (อี๊สต์เอเซียติ๊ก) เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
คุณฉัตรชัยบริหารแผนก EDP ด้วยพนักงาน 5 คน ซึ่งรวมทั้งคนทำซอฟต์แวร์ด้วย การเลือกอีเอซีนั้น เป็นเพราะอีเอซีได้เลือกซื้อเครื่องของ TI (Texas Instrument) ขนาดกลางในมูลค่าประมาณ 2 ล้านกว่าบาท และขนาดของธุรกิจก็เป็นขนาดที่ค่อนข้างจะใหญ่มากในฐานะที่อีเอซี เป็นบริษัทที่มีสินค้าหลายแผนกการออกบิล และอินวอยซ์ รวมทั้งการทำบัญชีลูกค้า ตลอดจนการควบคุมและตรวจสินค้าคงเหลือ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องการข้อมูลที่แม่นยำ และทันต่อเหตุการณ์
ผู้จัดการ: นี่หมายถึงงานของอี๊สต์เอเซียติ๊กทั้งหมดเลยใช่ไหม?
ฉัตรชัย: ฮะ ทั้งหมดเลย รวมไปถึงย่านวิภาวดี การบัญชีก็คุมที่นี่ บางทีก็ต้องใช้เงินเยอะ ในการที่จะบวกตัวเลขที่เราเริ่มจริงจังประมาณ 10 ปีได้ เราทำพวกแรก คือสถิติด้านขาย เป็นเขตจังหวัด เป็นรูปของสินค้า ทีนี้ก็ทำมาโดยใช้เซอร์วิสรวมของไอบีเอ็ม คือเช่ามา โดยที่สมัยก่อนอี๊สต์เอเซียติ๊ก เป็นบริษัทของฝรั่งจากเมืองนอก มาทำโปรแกรมให้เรียบร้อย ผ่านมาได้สักหลายๆ ปี เรามาทำเกี่ยวกับเรื่องสต๊อก ก็ยังใช้ไอบีเอ็ม ใช้มาตั้งหลายปีครับ เริ่มตั้งแต่ปี 2519-2520 ตอนนั้นผมยังไม่ได้ทำที่นี่ ผมมาที่นี่ประมาณปี 2522 ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งเครื่อง ช่วงนั้นผมดูแลส่วนที่เขาทำอยู่ ดูแลว่าที่เช่ามีปัญหาอะไรเอาไปแก้ไข
ผู้จัดการ: แล้วช่วงไหน ที่คิดว่าน่าจะมีเครื่องของตัวเอง
ฉัตรชัย : ทางอี๊สต์เอเซียติ๊ก มี management meeting กันอยู่แล้วว่าเขาจะต้องมีเครื่อง แต่ก็กำลังกำหนดว่าจะใช้เครื่องอะไรดี ขนาดไหน อะไรอย่างหนี้
ผู้จัดการ : ก่อนที่เริ่มเซอร์วิสนี้ เช่าไอบีเอ็มเดือนละเท่าไหร่
ฉัตรชัย : ตอนนั้นราคาถูกนะฮะ ก็สิบกว่าปีมาแล้วนี่ ราคาคิดเป็นนาทีหรือวินาที คือมันคิดกันหลายอย่าง คือในแง่คิดของเขานี่ เขาคิดตาม record ที่เข้า จำนวนกระดาษที่พิมพ์ นาที อะไรพวกนี้นี่ฮะ เขาก็คิดหมดเลยทุกอย่าง แล้วมารวมกัน คือแต่ละอันก็มีอัตราต่างๆ เดือนหนึ่งๆ เรา ก็ตกประมาณไม่กี่พันบาท พอมาหลัง ๆ ก็ตกเดือนละหมื่น สองหมื่น สามหมื่น ขึ้นสูงที่สุดก็ประมาณสามหมื่นกว่าๆ ราวเดือนละสองครั้ง ใช้เวลาไปทำงานจริงๆ ก็ราวๆ หนึ่งวัน
ผู้จัดการ: โปรแกรมนี่เราทำเองใช่ไหม
ฉัตรชัย: ครับเราทำเอง
ผู้จัดการ: ใช้อะไรวัดว่าจะใช้เครื่องขนาดไหน?
ฉัตรชัย: การใช้เครื่องขนาดไหน มันขึ้นอยู่กับปริมาณงาน คือต้องดูว่างานที่เราจะทำ เป็นงานอะไรบ้าง แบบอะไรบ้าง
ผู้จัดการ : แล้วงานที่ทำมีงานอะไรบ้าง
ฉัตรชัย : มันก็มีพวกอินวอยซิ่ง พวกออกบิลบัญชีลูกค้
ผู้จัดการ : ออกบิลเดือนละกี่ราย
ฉัตรชัย: เดือนหนึ่งสัก 5 พันราย ทำบัญชีลูกค้าหลายพัน ทำสต๊อก และบัญชีทั่วไป งานที่เราจะทำนี่มันก็ต้องดูว่า ขอบข่ายมันกว้างขนาดไหน เสร็จแล้วก็ต้องมาดูว่าจำนวนมันจะคุ้มหรือเปล่ากับงานที่เราจะทำ คือบางที่มันผลิตออกมาไม่กี่ใบต่อเดือนนี่ฮะ มันก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้มาเขียนโปรแกรมออกมา เพราะมันมีน้อย ถ้ามันมีจำนวนมาก มันก็คุ้มนะฮะ ในแต่ละอันนี่ก็ต้องมาดูปริมาณงานว่ามันคุ้มหรือเปล่า
ผู้จัดการ: ตอนนี้ใช้เครื่องทีไอ ใช่มั้ยฮะ ราคาเท่าไหร่
ฉัตรชัย: ที่ใช้อยู่ตกประมาณ 2 ล้าน 4 แสนกว่า นี่ขนาดมินินะฮะ ความจริงแล้วมันมากกว่านั้น เพราะของเรามีการขยายออกไปเยอะ
ผู้จัดการ: 2 ล้าน 4 แสน นี่เป็นตัวอะไร
ฉัตรชัย: เป็นตัวซีพียูฮะ ประกอบด้วยจอภาพ 10 จอ เพราะว่าเราจะพูดทั้งหมดนี่เกินนะฮะ เดิมครั้งแรกที่เรามีอยู่นี่นะฮะ เราซื้อมาจริง ๆ เป็นตัวซีพียู 250 เค ดิสจ้อย 2 ไดร์ฟ 50 เมฟซันไดร์ฟ ตัวปริ๊นเตอร์ 3 ตัว คือซื้อของ TI ทั้งหมด
ผู้จัดการ : ตอนนั้นก็มีเครื่องกลหลายเครื่องที่ให้ใช้พิจารณาใช่ไหม
ฉัตรชัย : อันนี้นะฮะ เราคุยกับทางสำนักงานใหญ่ที่เดนมาร์ค ว่าควรจะใช้เครื่องอะไรให้เขาเป็นคนตัดสินใจในเรื่องของฮาร์ดแวร์ แล้วเรื่องซอฟต์แวร์นี่เขาเป็นคนทำ เรามีบริษัทในเครือของโคเปนเฮเกน เป็นบริษัทด้านคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ว่าเราควรจะใช้เครื่องอะไรให้เขาเป็นคนตัดสินใจ ตอนนั้นผมไม่ได้ลงไปทำเอง
ผู้จัดการ: เขาก็บอกว่า ควรใช้ ทีไอ (TEXAS INSTRUMENT)
ฉัตรชัย: เขาตัดสินใจแบบนี้สำหรับเซาท์อี๊สต์เอเชียโดยเฉพาะเลย คือบริเวณนี้เขาบอกมาจากเดนมาร์กว่าจะให้ใช้อะไร แล้วก็จะให้ใช้เหมือนกันหมด เพราะเขาเผื่อไว้ในอนาคตว่า ถ้าหากมีการเชื่อมการสื่อสารอะไรกันนี่ก็สามารถจะเชื่อมกันได้โดยที่ไม่มีปัญหา
ผู้จัดการ: ใช้เวลานานไหมในการที่จะป้อนข้อมูลเข้าไปตอนเอาเครื่องเข้ามา
ฉัตรชัย: คือต้องเตรียมงานตั้ง 1 ปี นะฮะ หลายเดือนก่อนที่เครื่องจะมา แล้วหลังจากที่เครื่องมา 2 เดือนแล้ว ถึงจะมาทำอะไรกันมั่ง ปีหนึ่งนี่คืองานของเราจะต้องมาดูระบบข้างในของเราเองว่าที่ใช้คนทำของเรานี่ เราทำอะไรกันไว้บ้าง ดูว่ามีโครงสร้างของระบบเป็นอะไรต่างๆ อะไรพวกนี้ ดูว่ามีงานอะไร เราจะคำนวณปริมาณขนาดไหน พอเครื่องเข้ามาสักประมาณ 4-5 เดือน เราก็ตัดสินใจว่าขนาดโมเดลใหม่ของทีไอนี่ขึ้นอยู่กับขนาดของงานของสโตเรจ ส่วนใหญ่แล้ว เราใช้เวลาที่จะเทสต์ต่างๆ ประมาณ 2 เดือนครึ่ง เราก็เริ่มโปรดักชั่น ซึ่งเริ่มแล้วนี่มันก็เป็นเวลาที่สั้นมาก
ผู้จัดการ : มีปัญหาอะไรยุ่งยากไหมฮะ ตอนแรกเริ่ม?
ฉัตรชัย : มีฮะ คือโปรแกรมของเราเป็นแพ็กเกจ ค่อนข้างช้า เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่เราเตรียมงานนี่ค่อนข้างช้า ประกอบกับเราจะต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพื่อให้เข้ากับความต้องการของเรา ดัดแปลงบางส่วนฮะ คือพวกภาษาไทย คือแพ็กเกจเมืองนอกนี่ไม่มีภาษาไทย ไปๆ มาๆ ก็ใส่ภาษาไทยลงไป
ผู้จัดการ: ตอนนี้ที่ใช้ ใช้ในระบบงานอะไรบ้าง?
ฉัตรชัย: ก็มีระบบออกบิล บัญชีลูกค้า สต๊อก สถิติ และบัญชีทั่วไป
ผู้จัดการ: มีอะไรบ้างที่ฝ่ายการตลาดต้องการ
ฉัตรชัย: มีครับ อย่างพวกสถิติในการขาย ว่าเขตใครขายเท่าไหร่ในวันนี้ สินค้าตัวไหนขายเท่าไหร่? ไอ้นี่ฝ่ายการตลาดขอดู ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร
ผู้จัดการ: แล้วที่จะต้องรายงานเป็นรายอาทิตย์ มีอะไรบ้าง?
ฉัตรชัย: รายงานเป็นรายอาทิตย์ ก็พวกตัวเลขสต๊อกกับยอดขายรายอาทิตย์
ผู้จัดการ: ตัวเลขสต๊อกกับยอดขายรายอาทิตย์ นี้ส่งให้กับใคร
ฉัตรชัย: เราทำหลายชุด ฝ่ายการตลาดก็เอาไปดู แผนกบัญชีก็เอาไปดูว่า เขามันถูกต้องไหม ส่วนมากจะเป็น 2 อย่างที่เราใช้
ผู้จัดการ: ฝ่ายบริหารนี่เขาขอดูอะไรบ้าง
ฉัตรชัย: ตอนนี้เรายังไม่ได้ทำให้ทางด้านฝ่ายบริหารช่วงนี้ เพราะเราพยายามที่จะทำให้พวกข้อมูลพื้นฐานถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงทำรายงานให้ฝ่ายบริหาร คือทางด้านการตลาด และการบัญชี จะต้องเอาข้อมูลของเราไปรวบรวม แล้วสรุปให้ฝ่ายบริหาร
ผู้จัดการ: เครื่องที่ใช้อยู่นี่เล็กเกินไป หรือว่ากำลังพอดี หรือใหญ่เกินไป
ฉัตรชัย: ขนาดพอดีกับงานที่เราทำอยู่ แต่อนาคตนี่ไม่พอ ต้องขยาย
ผู้จัดการ : รูปแบบในการจัดหาคอมพิวเตอร์ในงวดนี้คือการซื้อเลยไม่ได้เช่า แล้วบริการหลังการขายเป็นอย่างไร
ฉัตรชัย: โดยปกติ ทีไอให้ประกัน 90 วัน แล้วหลังจากนั้น ก็เซ็นสัญญาบริการต่อปีกัน
ผู้จัดการ: คิดเดือนเท่าไหร่
ฉัตรชัย: ประมาณ 9% ต่อปี ต่อราคาทั้งหมด 9% ของ 2,500,000 ก็ประมาณ 250,000 ต่อปี รวมอะไหล่ด้วย
ผู้จัดการ: ที่ใช้นี้ ใช้ batch หรือ on line
ฉัตรชัย: ส่วนใหญ่เป็น on line นะ ตอนกลางวัน หลังเลิกงาน จะเป็น batch
ผู้จัดการ: ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในการทำคอมพิวเตอร์นี่แพงไหมในปัจจุบัน
ฉัตรชัย : ตอนนี้ที่ทำทางด้านผมจริงๆ มีสต๊าฟอยู่ 5 คน เท่านั้นเอง
ผู้จัดการ: 5 คน รวมทั้งคุณฉัตรชัยด้วยหรือเปล่า
ฉัตรชัย: รวมฮะ จริงๆ แล้วน้อยมาก ถ้าเทียบกับเครื่องแบบเดียวกัน หรือว่างานขนาดเดียวกัน นี่ที่อื่นจะใช้คนมากกว่า แต่สำหรับผมได้เปรียบที่ได้แพ็กเกจจากเมืองนอก เพราะฉะนั้นจำนวนคนที่เราจะใช้นี่มันจะน้อยลง
ผู้จัดการ: พวกที่ทำซอฟต์แวร์ จบจากมหาวิทยาลัยทั้งนั้นเลยใช่มั้ย แล้วที่เหลือล่ะ
ฉัตรชัย: ฮะ พวกที่เหลือก็จบจากอาชีวะทำงานด้านธุรการ มาเทรนเพิ่มเติมกันเอง
ผู้จัดการ: จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องเครื่องคอมฯ
ฉัตรชัย: ควรรู้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เรามาเทรนกันทีหลัง เกี่ยวกับความรู้คอมฯ
ผู้จัดการ: มีโครงการขยายงานอย่างไรบ้างในในอนาคต
ฉัตรชัย: ขยายงาน มี 2 ด้าน คือทางด้านซอฟต์แวร์ของเราเอง ต้องเพิ่มงานเพื่อจะทำอย่างอื่น เช่น พวกงานที่เหลืออยู่ อย่างเช่น ทางด้านรีพอร์ตต่าง ๆ คือสุดท้าย ต้องทำรีพอร์ตสำหรับพวกผู้บริหารระดับสูง
ผู้จัดการ: รีพอร์ตสำหรับผู้บริหารระดับสูงต่างจากรีพอร์ตทางด้านการตลาดอย่างไร
ฉัตรชัย: ส่วนใหญ่เป็นพวก โพร์ฟท์ แอนด์ ลอส พวก summary of customer statement หรือว่า summary ของ stock status เป็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องของสต๊อกว่า เคลื่อนไหวเร็ว หรือว่าเคลื่อนไหวช้าอย่างไร คือแผนกอื่นเขาจะดูเพียงแต่ว่ามันเข้าออกอย่างไรเท่านั้นเอง ยอดคงเหลือ เท่าไหร่เท่านั้นเอง แต่งานทางด้านผู้บริหารนี่เขาจะต้องดูว่า โอเค ลูกค้าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ระดับการจ่ายเงินเดือนเป็นอย่างไร เขาจะดูด้าน Account receivables จะดู aging ว่ามันดีขึ้นไหม
ผู้จัดการ: ฝ่ายบริหารนี่จะดู acct. Receivable มากกว่าใช่ไหม
ฉัตรชัย : อันที่จริง มันก็ไม่ถูกนักนะฮะ คือทางด้านท็อปแมเนจเม้นท์ รีพอร์ตจากคอมพิวเตอร์เป็นตัวที่สามารถช่วยเขาตัดสินใจอะไรออกไปได้เกี่ยวกับประวัติที่เขามีอยู่ ว่าไอ้สินค้าตัวนี้เขาควรจะรับมาร์เกตไปทางไหน มาร์เกต เฟกเตอร์ อยู่ไหน ควรจะทุ่มไปทางตลาดของสินค้าทางด้านอะไร รีพอร์ตต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเขาดูแล้วเขาจะ ได้ตัดสินใจทุ่มลงไปได้
ผู้จัดการ: ตั้งแต่ใช้คอมพิวเตอร์มาคุ้มค่ากับการลงทุนหรือเปล่า
ฉัตรชัย: ในแง่ไหนครับ
ผู้จัดการ: ในแง่ถ้าคุณไม่ใช้คอมพิวเตอร์ นี่คุณต้องใช้คนเท่าไหร่ โอเคคุณซื้อเครื่อง 2 ล้าน 4 คุณตั้งค่าเสื่อมไป 5 ปีนะฮะ ปีละ 5 แสน เดือนหนึ่งก็ประมาณ 4 หมื่น 5 คุณบวกค่า maintenance 2 หมื่น 5 ก็เป็น 70,000 บวกเงินเดือนแผนกคุณ ตีซะว่าอีก 60,000 พอมั้ย ก็ 130,000 สมมุติว่า ถ้าหากเราไม่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ เราสามารถทำได้ภายใน 130,000 ไหม
ฉัตรชัย: โดยปกติแล้ว คนที่จะใช้คอมฯ เขาก็ต้องมาคิดว่าคอมฯ เร็ว ทำงานได้เยอะกว่า โดยที่เราจะสามารถลดคนลงไปได้ พอจริง ๆ แล้ว คอมฯ ในช่วงแรก นี่ไม่ได้ลดคน แต่ว่ามันจะทำงานในอัตราที่เก่งขึ้นในช่วงแรกนี่นะฮะ
ผู้จัดการ: ในช่วงแรกนี่นานแค่ไหน
ฉัตรชัย: ในช่วงปี สองปีแรก ในช่วงระยะยาว ถ้างานเพิ่มขึ้นเราไม่จำเป็น ต้องเพิ่มคน ในช่วงระยะยาว ในอนาคต คือสามารถจะรับผิดชอบงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเพิ่มคนมาก
(ตอนนี้คุณสุรชัย ตัวแทน IT ขอเสนอความเห็น)
สุรชัย: เรื่องนี้ผมเคยเสนอ บางอันนะฮะ ใช้ๆ ไปเขาบอกว่าไอ้นี่ไม่เอาล่ะ ไม่ต้อง โปรเจกต์ไอ้นี่ไม่เอาล่ะ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แล้วไปทำงานรูทีน สมมุติตอนที่ผมเสนอขาย ถ้ามีผู้จัดการคนหนึ่ง ที่ยิงคำถามมายังผม ถามมาว่า มันคุ้มค่ากันไหมถ้าซื้อคอมพิวเตอร์ ผมก็บอกว่ามันคุ้ม คุ้มในทัศนะไหน ในลักษณะอยากลองสมมุติว่า ตอนนี้คุณรายได้ 1,000,000 โดยที่คุณใช้คน 10 คน ถ้าคุณต้องการเพิ่มรายได้ เป็น 2,000,000 บาท แน่นอน บริษัทนี้ต้องการเจริญเติบโตแน่ๆ ไม่มีใครอยากให้บริษัทอยู่แค่นี้ แน่นอนเขาก็อยากขาย เขาต้องขยายให้เป็น 2 ล้านบาท เมื่อเป็น 2 ล้านบาท ก็หมายความว่าบุคลากรของคุณก็ต้องเป็น 20 คน ก็ต้องเพิ่มเท่าตัว
ผู้จัดการ: ผมว่า คงเพิ่มไม่ถึงเท่าตัว สักประมาณ 70 % อย่างเช่น เป็นแผนกธุรการคงจะไม่ต้องเพิ่ม เซลส์อาจจะต้องเพิ่มอะไรแบบนี้ว่ากันไปนะฮะ คือผมอยากจะให้ตัวเลขมันค่อนข้างจะเป็นจริงหน่อยนะฮะ
สุรชัย (TI): นะฮะ ถ้าหากเราใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อเรามีรายได้แค่ 1,000,000 บาท เราใช้คน 10 คน เมื่อเราต้องการ 2 ล้านบาท เราไม่จำเป็นต้องเพิ่มคนอีก 10 คน อันนี้เราอาจจะเพิ่มอีก 20% เพื่อรับงานที่เพิ่มอีกเท่าตัว คือ 1 ล้านบาท ผู้บริหารเนี่ยปกติแล้วทุกอย่างเขาโชว์ได้ แต่มีจุดหนึ่งซึ่งเขาหนักใจที่สุดในเมืองไทย ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเพรสซิเดนท์ เอ็ม.ดี.อะไรต่างๆ คือ การบริหารงานจะยุ่งที่สุด เขาจะยอมรับจุดนี้ว่า คนยิ่งมากการบริหารคนยิ่งลำบาก ฉะนั้นถ้าเอาเครื่องมาแทนคน การบริหารยิ่งง่ายขึ้น ไอ้นี่เป็นจุดที่เขาจะคิดกัน
ผู้จัดการ : อันนี้ค่อนข้างเห็นด้วยนะฮะคุณสุรชัย ขอให้การคุยวันนี้ นอกจากจะเป็นการสัมภาษณ์แล้ว ขอให้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยนะฮะ คือจากเท่าที่เห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา คิดว่าคอมพิวเตอร์นี่มันแพงนะฮะ ถ้าพูดถึง Cost & Benefit ในแง่กำลังคนแล้วนะฮะ ในการลงทุนมันคงไม่คุ้มแน่ เพราะถึงคุณสุรชัยจะคิดว่าเพิ่มรายได้อีกเท่าตัว แล้วจะต้องเพิ่มอีกประมาณ 70% ซึ่งถ้าพูดจริงๆ แล้วมันเพิ่มไม่ถึง70% หรอกจริงๆ แล้วผมคิดว่า เพิ่มคนจริงๆ แล้วคงประมาณ 30% เท่านั้น ซึ่งจะเพิ่มในแง่พวกปฏิบัติการมากกว่า เช่นเพิ่มเซลส์์มากขึ้น แต่ผมคิดว่าคุณค่าที่สำคัญซึ่งทำให้ราคาของคอมพิวเตอร์แทบจะทำให้เราไม่ต้องไปคิดมันเลย คือตรงที่เราได้ข้อมูลที่เร็วเพื่อช่วยการตัดสินใจให้ถูก ซึ่งอันนั้นเป็นตัววัดความเป็นความตายของบริษัท และความอยู่รอดของทุกคน อันนี้นี่ล่ะที่ทำให้ตัวต้นทุนของคอมพิวเตอร์แพง ไอ้ตัวนี้วัดราคาไม่ได้ ประเมินค่าไม่ได้ ไม่ทราบว่าที่ผมพูดนี้ถูกไหม?
คุณเห็นด้วย และถ้าพวกเราเห็นด้วย ผมจะได้เสนอให้กับผู้อ่านเลย อันนี้เแหละคือตัวจริง เพราะถ้าเรามาวัดกันว่ามันลดค่าใช้จ่าย นี่มันไม่ลดจริง ตอนนี้ความเชื่อมั่นของคนหลายคน แม้กระทั่งคุณเชื่อมั้ย คนขายคอมพิวเตอร์บางคนยังเชื่อเลยว่ามันลด ซึ่งมันลดจริง แต่คงจะเป็นระยะยาว
ผู้จัดการ: คุณสุรชัยครับ ถ้าผู้บริหารจะซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่องหนึ่ง เขามองที่ไหนก่อน?
สุรชัย(TI) : คืออันแรกที่เขาอยากจะได้นี่คือความรวดเร็ว ความถูกต้องของข้อมูล ที่เขาจะได้ อันนี้เขามองเป็นตัวแรก เท่าๆ ที่ผมเจอมาเขาถามว่า จะซื้อดีมั้ย เขาจะซื้อยี่ห้อไหน เขาจะมองว่า งานของเขาควรจะใช้คอมพิวเตอร์เพื่อความรวดเร็ว ความถูกต้อง แล้วเขาจะมองไอ้ตัวราคาอีกที ส่วนคุ้มไม่คุ้มนี่ เขามองทีหลัง ที่ผมคุยๆ มาก็เป็นอย่างนี้ แต่บางที ผมเจอลูกค้าบางคนบอกว่า เขารู้ว่าคอมพิวเตอร์ให้ความรวดเร็ว แต่เขาถามว่า พอซื้อมามันจะคุ้มไหม เงินเขามี แต่เขามองที่มันจะคุ้มไหม
ผู้จัดการ: คุณฉัตรชัยมีปัญหาไหมฮะ ทางด้านการให้แผนกอื่นเข้าใจการใช้คอมพิวเตอร์
ฉัตรชัย: ปัญหาที่เจอมานะครับ เกี่ยวกับปัญหาความเข้าใจในการใช้มากกว่า ต้องมีการอธิบาย ต้องมีการประชุม เช่นบอกว่าเราจะให้อะไรเขาได้บ้าง
ผู้จัดการ: มีปฏิกิริยาต่อต้านบ้างไหม จากคนที่ไม่ค่อยยอมรับวิทยาการใหม่ๆ ถ้ามีส่วนใหญ่เขาจะแย้บเข้ามาในลักษณะไหน
ฉัตรชัย: มีครับ เช่นว่าไม่คุ้ม ช้า
ผู้จัดการ: อะไรครับ มีช้าด้วย!
ฉัตรชัย: มีฮะ
ผู้จัดการ : คือถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ คุณสุรชัยคงขายเครื่องไม่ได้แน่
ฉัตรชัย: เมื่อเช้านี้ ไม่ใช่เแง่นั้นนะฮะ คือในแง่ของการออกบิล เราต้องมีซิสเต็มคอนโทรลนะฮะ เช่นว่า ของในสต๊อกไม่มี เราก็ไม่ออกบิลนะฮะ เครดิตเกินเราก็ไม่ออก ระบบที่ผมบอกก็คือระบบการออกบิลฮะ อินวอยซิ่ง เราต้องมีคอนโทรลเยอะ สต๊อกไม่พอ ไม่ออกคอนซูเมอร์ โอเวอร์ดีลก็ช้านะฮะ ของถ้ารีพอร์ตกลับโกดังมากของยังไม่ได้เข้าสต๊อกเราก็ยังไม่ออก
ผู้จัดการ: สมัยก่อนการออกบิลนี่ใช้เวลาเท่าไหร่?
ฉัตรชัย: ก็ประมาณ 15 นาทีนะฮะ เป็นปัญหาการคอนโทรลมากกว่า คือแต่ก่อนนี้เราไปคอนโทรลอีกด้านตอนปลายแล้ว ถ้าเรารู้ว่าของไม่มี เราก็ไปตอกการ์ดว่าไม่มีของเสร็จกันตั้งแต่ต้น ย้ายการทำงานช่วงท้ายมาคอนโทรลทางด้านช่วงต้น มันจะให้ขั้นตอนนี้มันยาว นี่คือปัญหาที่เขาบอกช้า ทุกวันนี้เวลาออกบิลก็เท่าเดิม เพราะคอนโทรลเรามาก
ผู้จัดการ: เป็นไปได้ไหมที่มีการควบคุมก็ต้องมีปฏิกิริยาต่อต้าน
ฉัตรชัย: ธรรมดาฮะ ไอ้นี่เป็นธรรมชาติ แต่มาตอนหลัง ๆ เขารู้ว่า จะให้อะไรได้บ้าง เขาก็ไม่ต่อต้านนะฮะ เขาเข้าใจแล้วฮะ แล้วยังขอเพิ่มอีก อย่างสถิติการขายอะไรพวกนี้ฮะ ตอนแรก เราให้ในรูปแบบปกติ ซึ่งเขาก็ดูได้ธรรดา ต่อมาเราก็มาคิดว่าในเมื่อมีคอมพิวเตอร์แล้วเนี่ย มันน่าจะให้อะไรที่ดีกว่านี้
ผู้จัดการ: แผนกอีดีพีเป็นเซอร์วิสเซ็นเตอร์จริง ๆ
ฉัตรชัย: ฮะ แล้วต้องมีอารมณ์เย็นด้วย
ผู้จัดการ: ก่อนที่คุณจะมาใช้เครื่องนี้ คุณมีการฝึกอบรมระดับพวกผู้บริหารระดับกลางไหม?
ฉัตรชัย: ฮะ เพราะช่วงที่เรามันค่อนข้างรีบนิดหน่อยฮะ ไม่ค่อยมีเวลา
ผู้จัดการ: ทางการตลาดมีการป้อนข้อมูลราคาสินค้าทางด้านคู่แข่งมาให้เก็บไหม?
ฉัตรชัย: ตอนนี้ยังไม่มีฮะ แต่เขามีโครงการเหมือนกันเป็นบางแผนก แต่ไอ้นี่ทำเป็นความลับของเขาเองนะฮะ โดยเราพยายามให้เขาช่วยตัวเองให้เก็บเอง แต่เราสอนให้เขาใช้ได้
ผู้จัดการ: มีแผนกไหนบ้างไหมฮะ ที่สอนเขาไปแล้วบ้าง?
ฉัตรชัย: มีหลายแผนกฮะ มีพวกแผนกมาร์เก็ตติ้ง แต่พวกเซลส์นี่ไม่ได้สอนฮะ ทางด้านแอดมินของมาร์เก็ตติ้งสอนฮะ แผนกบัญชี
ผู้จัดการ: ทำไมเขาไม่ให้คุณทำให้หมด?
ฉัตรชัย: เออ ไม่ดีฮะ การที่จะมารวม เราไม่รู้ความต้องการของเขาจริงๆ เสร็จแล้วจะมีปัญหา ถ้าหากเป็นความลับอะไรพวกนี้ก็จะรู้กันหมด เพราะถ้าหากมันรั่วไหลไปแล้ว เขาก็โทษทางเราได้เยอะ คืออันนี้นี่ไม่สมควรจะทำ คือถ้าลดภาระเราออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น เราจะได้ใช้เวลาทำอย่างอื่นได้มากขึ้น คือเราทำโปรแกรมใหม่ๆ ได้มากขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|