|
ทำไมชาตรีจึงต้องการอำนวยมาก?
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
ในอัตราเงินเดือน เดือนละ 400,000 (ภาษี 65%) รวมทั้งสิทธิพิเศษต่างๆ ในการเบิกค่าใช้จ่าย ตลอดจนโบนัสพิเศษสิ้นปี และรายได้ทางสหยูเนี่ยนทำให้มีรายได้ระหว่าง 15-20 ล้านบาทต่อปี
สำหรับธนาคารกรุงเทพแล้วการได้ตัวอำนวยมาในอัตราเงินเดือนเช่นนั้นค่อนข้างถูก เพราะสิ่งที่อำนวยสามารถให้ธนาคารกรุงเทพนั้น ไม่สามารถจะประเมินเป็นเงินได้
“สิ่งที่ชาตรีขาดคือภาพพจน์ ถึงคุณชาตรีจะนั่งมอบทุนการศึกษาอยู่ทุกวันก็ตาม ภาพพจน์ของการเป็นคนจีนโพ้นทะเล ที่มากุมเศรษฐกิจของประเทศก็ยังคงมีอยู่” อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ฯ ท่านหนึ่งให้ความเห็น
นอกเหนือจากภาพพจน์แล้ว การที่อำนวยเข้ามาร่วมในธนาคารกรุงเทพนั้นมีส่วนช่วยเชื่อมระหว่างธนาคารกับภาครัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระทรวงการคลัง ซึ่งนับวันทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย กับธนาคารกรุงเทพจะต้องเกี่ยวกันมากขึ้น
คงมีคนรู้น้อยว่าอำนวย วีรวรรณ และนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเพื่อนที่สนิทกันมาก เพราะเริ่มทำงานที่กรมบัญชีกลางมาพร้อมกัน
“สมัยท่านอยู่กระทรวงการคลังต้องมีหน้าที่ไปประชุมเวิลด์แบงก์ทุกปี และบรรดานายธนาคารระดับใหญ่ๆ ก็รู้จักท่านทั้งนั้น” เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เล่าให้ฟังเพิ่มเติม
การเจริญเติบโตของธนาคารกรุงเทพในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ธนาคารกรุงเทพเปรียบเสมือนจระเข้ที่โตเกินวัง
ใน 5 ปีที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีหลัง ตั้งแต่ชาตรีเริ่มเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพเริ่มเปลี่ยนและปรับลักษณะแนวการค้าเก่าๆ ที่เคยมีมากับธุรกิจหลายอย่าง ซึ่งใช้ความสัมพันธ์เดิมของรุ่นพ่อที่ใช้การเจรจา และประนีประนอมใช้การรู้จักคุ้นกัน มาเป็นการทำงานแบบนายธนาคารมืออาชีพมากขึ้น ประกอบกับได้มีการดึงเอาคนใหม่ๆ และหนุ่มๆ เข้าไปแทนคนเก่า
พื้นฐานของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารตั้งแต่เริ่มแรก เป็นพื้นฐานที่ประกอบด้วยการศึกษาธรรมดาอย่างสูงสุดก็จะเพียงจบแค่มหาวิทยาลัยในประเทศ ซึ่งเมื่อธนาคารเจริญเติบโตขึ้นมาจนระดับหนึ่งแล้ว ต้องขยับขยายไปทางด้านต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับการธนาคารในรูปแบบของวาณิชธนกิจ เป็นเรื่องที่ธนาคารกรุงเทพต้องการทำมาก
ฉะนั้น การผ่าตัดผู้บริหารชั้นสูงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการที่ธนาคารจะคงอยู่ในอันดับหนึ่งตลอดไป
แต่เมื่อมีคนใหม่เข้ามาแทนคนเก่าบางคน ก็จำเป็นต้องหมดอำนาจไป และเผอิญหนึ่งในสองคนนั้นชื่อ โชติ โสภณพนิช
“ความจริงพวกหนังสือพิมพ์นี่แหละเป็นคนทำข่าวแสดงให้เห็นว่ามีการแตกแยก ทั้งๆ ที่ไม่มี” ชาตรีพูดกับนักข่าวคนหนึ่ง
เป็นธรรมดาสำหรับองค์กรใหญ่ ขนาดธนาคารกรุงเทพที่จำเป็นต้องแสดงออกทุกวิถีทางว่าไม่มีอะไรแตกแยกกันทั้งๆ ที่อาจจะรบกันจนฝุ่นตลบอยู่ภายใน
โชติ โสภณพนิช กับชาตรี โสภณพนิช เป็น 2 พี่น้องต่างมารดา และดูเหมือนบุคลิกและความคิดจะต่างกันด้วย
ในขณะที่ชาตรีถูกมองว่าเป็นคนค้าขายเก่ง สามารถจะมองเห็นช่องทางผลประโยชน์ แล้วเข้าไปจับทันที ในลักษณะของพ่อค้าจีนทั่วไป แต่โชติกลับมาในลักษณะของปัญญาชน ที่สนอกสนใจปัญหาสังคม และมีความเข้าใจถึงปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้ง โชติจะเข้ากับบรรดากลุ่มปัญญาชนได้คล่องตัว บ่อยครั้งที่จะเห็นโชติไปนั่งฟังการอภิปรายต่างๆ ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเป็นประจำ ในขณะที่จะมีข่าวว่าชาตรีชอบการบันเทิงอีกแบบหนึ่ง
สังคมของโชติเป็นสังคมของชาวต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในสายงานของเขาโดยตรง โชติจึงดูเหมือนจะเป็นสุภาพบุรุษจากอังกฤษ และในขณะที่ชาตรีดูเหมือนจะเป็นเถ้าแก่จากเซี่ยงไฮ้
แต่โชติจะมาคุมด้านต่างประเทศไม่ได้ เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูง เป็นตัวรายได้ให้ธนาคารถึง 40% ของยอดรายได้ และตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ต้องเกี่ยวพันกับฝ่ายวณิชธนกิจ (merchant banking) โดยตรง
ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว บารมีของโชติจะเทียบกับอำนวยไม่ได้ในแง่ประสบการณ์ของการคุมโครงการใหญ่ๆ แต่โชติได้เปรียบตรงที่อายุยังน้อยและก็ยังเป็นโสภณพนิช อีกด้วย
“ความจริง ถ้าคุณโชติมาแทนตำแหน่งคุณอำนวย มันก็อาจไม่ดีในแง่ภาพลักษณ์ของแบงก์ เพราะจะกลายเป็นแบงก์นี้ไม่ใช่ของมหาชน มองจากบนสุด ประธานก็โสภณพนิช ลงมาก็โสภณพนิช ลงมาอีกโสภณพนิช” คนในวงการธนาคาร พูดให้ฟัง
ส่วนเรื่องความขัดแย้งในครอบครัวนั้นเป็นของธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน ยิ่งถ้ามีผลประโยชน์ที่มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ถ้าไม่ขัดแย้งกันกลับจะดูผิดปกติ
การเอาอำนวยเข้ามาจึงเป็นก้าวแรกของการสร้างโครงสร้างในอนาคตของธนาคารกรุงเทพ ส่วนที่เหลือจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต้องเป็นคำตอบที่เราเห็นจะต้องรอไปอีก 3 ปีเป็นอย่างน้อย ถึงจะรู้ว่าธนาคารกรุงเทพตัดสินใจถูกหรือผิดที่เอาอำนวยเข้ามา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|