|
เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ในแง่การบริหาร จากธนาคารนครหลวงฯ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
ธนาคารนครหลวงฯ เป็นบทเรียนที่ดีของขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง ที่จำเป็นต้องใช้ความละเอียดอ่อนและศาสตร์ของการบริหารเข้าไปจัดการ
ขาดการสื่อสารที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจความหมายซึ่งกันและกัน
ในแรกเริ่มที่ชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล เชื้อเชิญบุญชูเข้าไปบริหารนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นนิยามของการเชื้อเชิญและขอบเขตอำนาจในการทำงาน ที่จะต้องตกลงกันให้แน่ชัดก่อน
ชัยโรจน์อาจมีแต่ความคิดเชิญบุญชูเข้าไปเพียงเป็นที่ปรึกษาหารือ เข้าไปบริหารจริง แต่เป็นการบริหารโดยสอนให้พวกเขาบริหาร
หรือชัยโรจน์อาจจะรับปากให้บุญชูมีอำนาจทุกอย่างก่อนเพียงเพื่อให้บุญชูรับปากเข้าไป
แต่บุญชูก็สามารถพิสูจน์ได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว ที่เข้าไปร่วม 2 เดือนแล้วไม่มีอำนาจเลย ก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจะมีอะไรตามมาอีก ถ้าจะถอนตอนนั้นก็ยังไม่สายเกินไป
การเข้าไปอย่างผลีผลามโดยไม่ค่อยเป็นค่อยไป
จริงอยู่ธนาคารนครหลวงฯ อาจจะมีปัญหาอยู่มากมาย แต่ธนาคารก็ดำรงอยู่ได้มานานแล้ว ถ้าจะเข้าไปดูเหตุการณ์สัก 6 เดือนก่อนก็คงไม่ช้าจนเกินไป เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน มีจุดไหนจะแก้ก่อน แก้หลัง ที่ให้ความกระทบกระเทือนต่อขวัญกำลังใจและการปฏิบัติงานให้น้อยที่สุด
อาจจะส่งเพียงวิสิษฐ์ ตันสัจจาเข้าไปโดยไม่เอาทั้งวัฒนา ลัมพะสาระ หรือจิตตเกษม แสงสิงแก้ว เขาไปพร้อมกับ ให้วิสิษฐ์เข้าไปสัมผัสผู้บริหารเดิมก่อน เพื่อรับทราบปัญหาจริงๆ จะได้หาทางแก้ปัญหาระดับผู้บริหารได้ก่อน
จุดแรกที่ควรประเมิน ก็คือการพิจารณาคนที่อยู่เก่าว่ามีใครสามารถ แต่ไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถบ้าง เพราะการส่งเสริมคนเก่าขึ้นมาบ้าง เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานดั้งเดิม ว่าการเข้ามาของผู้บริหารชุดใหม่คือการเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์
และพวกเขาก็มีส่วนร่วมอยู่ในทีมงาน เพื่อทำให้ดีขึ้น การทำเช่นนี้จะเป็นการสร้างคะแนนนิยม
และแสดงความจริงใจต่อพนักงานเก่า
การส่งผู้บริหารที่ขาดประสบการณ์เข้าไป
นอกจาก วิสิษฐ์ ตันสัจจา ที่เคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทย และชาย ธนาสุรกิจ ซึ่งรู้เรื่องเงินตราต่างประเทศจากธนาคารกรุงเทพอย่างดีแล้ว ระดับบริหารของทีมงานบุญชูยังขาดประสบการณ์ด้านนี้อยู่มาก
วัฒนา ลัมพะสาระ ถึงจะเคยอยู่ธนาคารไทยพาณิชย์ก่อน แต่ก็อยู่ในฐานะ senior Loan office เมื่อมาอยู่ตึกดำก็มาบริหารบริษัทที่มีสินทรัพย์เพียงแค่หนึ่งส่วนสิบของธนาคารนครหลวงฯ ฉะนั้นการกระโดดเข้ามาคุมสินเชื่อในประเทศ นอกจากจะเป็นที่น่ากังขาของพนักงานเดิมแล้ว ก็ยังเป็นที่กังขาของพวกมหาดำรงค์กุลด้วย
จิตตเกษม แสงสิงแก้ว มีประสบการณ์ธนาคารน้อยมาก และความสามารถส่วนใหญ่ของจิตตเกษมจะอยู่ในด้านการเขียนโครงการ และติดต่อแหล่งเงินตราต่างประเทศ ซึ่งถ้าติดต่อในฐานะของธนาคารนครหลวงฯ แล้วการติดต่อแหล่งเงินตราต่างประเทศกลับเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าตึกดำจะติดต่อและนำเงินเข้ามา สุรศักดิ์ เทวะอักษร มาจากการส่งเสริมเงินทุนไทย เข้ามาบริหารในด้านต่างประเทศที่ต้องใช้ความรู้เรื่องเงินสกุลต่างชาติมาก ซึ่งสุรศักดิ์ไม่มี
ตำแหน่งผู้อำนวยการกองกลาง เป็นตำแหน่งที่สามารถจะใช้คนเก่าทำงานได้ เพียงแต่มอบหมายงาน และฝึกอบรม เพิ่มเติม แทนที่จะนำคนนอกเข้ามา ตำแหน่งกองการเจ้าหน้าที่และบุคลากรถ้าไม่สามารถจะใช้คนภายในได้ และจะดึงตัวคนนอกมาก็น่าจะเอาคนที่มีประสบการณ์จริงๆ จากบริษัทที่มีความใหญ่ขนาดธนาคาร เช่น ปูนซิเมนต์ไทย หรือเลือกจากรองหรือผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบุคคลจากธนาคารอื่น ที่ไม่มีโอกาสจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาแทน ย่อมจะดีกว่าอาจารย์จากมหาวิทยาลัย แต่วิธีการที่เหมาะที่สุดควรจะเป็นการฝึกอบรมจากคนภายในขึ้นมาเอง โดยใช้ที่ปรึกษาจากภายนอกมาอบรมจนชำนาญงาน อย่างน้อยความสามารถจัดการงานบุคคลก็คงจะพอช่วยได้ในเรื่องนี้
การขาดมนุษยสัมพันธ์ของทีมงานใหม่ กับพนักงานเก่า
จากการสัมผัสกับพนักงานเก่า “ผู้จัดการ” พบว่า พนักงานเก่านอกจากจะไม่ยอมรับในความสามารถของทีมงานชุดใหม่แล้ว ยังมีความรู้สึกถึงการขาดมนุษยสัมพันธ์ของทีมงานชุดนี้เป็นอย่างมาก
ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรัง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารจะต้องเกิดขึ้น
ทั้งผู้เข้ามาใหม่และผู้อยู่ก่อน ต่างฝ่ายต่างมักจะตั้งกำแพงกั้นซึ่งกันและกัน ในกรณีนี้ผู้เข้ามาใหม่ควรจะเข้าหาผู้อยู่เก่าในลักษณะของเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ลักษณะของเจ้านาย หรือในฐานะที่ตัวเองแน่กว่า จึงเข้ามาแก้ปัญหา
ผู้บริหารขาดจรรยาบรรณในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ความขัดแย้ง เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ หากแต่เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นก็ควรจะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันภายใน ไม่ใช่แก้โดยวิธีปล่อยข่าวออกมาเพื่อทำลายหรือบีบบังคับอีกฝ่ายให้เป็นฝ่ายลาออก เช่นกรณีของวิสิษฐ์ ศรีสมบูรณ์นั้น ไม่สมควรจะกระทำ เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแสดงออกถึงการใช่เล่ห์เหลี่ยมในการแก้ปัญหา
ที่สมควรจะทำคือการตกลงกันภายในให้เรียบร้อย และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างสงบลงแล้ว จึงจะหาทางแถลงแก่สาธารณชนให้ทราบการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด
น่าเสียดายที่องค์กรที่ใหญ่ขนาดธนาคารนครหลวงฯ ขาดฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นผู้ให้ความกระจ่างกับสาธารณชนได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|