|
ตึกที่จะต้องตอกต่อไป ทุกอย่างไม่มีเหมือนเดิมอีกแล้ว
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2526)
กลับสู่หน้าหลัก
หากจะเอาความรู้เรื่องการตอกเสาเข็มทั้งหมด เห็นที “ผู้จัดการ” เล่มนี้ เนื้อที่คงไม่พอ ฉะนั้นก็เอากันพื้นๆ บางเกร็ดบางประเด็นอันคาบเกี่ยวกับเรื่องที่นำเสนอ ทั้งนี้จากการสืบเสาะถามไถ่จากช่างเทคนิคของบริษัทรับเหมาตอกเสาเข็ม 3 บริษัท ด้วยกัน...
แรกสุดต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างเครื่องตอกเสาเข็มดีเซลกับธรรมดาเสียก่อน แบบธรรมดาก็ที่ใช้กัน โดยทั่วไปที่เห็นๆ กันนั่นแหละ เป็นการใช้เครื่องยนต์โยงกับเหล็กสลิง ที่อีกปลายมีตุ้มเหล็กแขวนอยู่ การตอกก็คือ การดึงตุ้มเหล็กให้สูงขึ้น แล้วปล่อยลงกระแทกเสาเข็ม.. ก็แค่นั้น ส่วนเครื่องดีเซลนั้น ตัวตุ้มสำหรับการตอก ประกอบเข้ากับส่วนเครื่องยนต์และทำงานด้วยระบบลูกสูบ ระบบนี้ทำให้การตอกเป็นไปอย่างถี่ยิบ แน่นอน ความเร็วย่อมเหนือกว่า “หากสภาพโดยทั่วไปเหมือนกันทุกอย่างแบบดีเซล ทำงานได้เร็วถึง 3 เท่า “ช่างเทคนิคแห่งบริษัทแถลงใจ
หรืออีกนัยหนึ่ง เครื่องตอกแบบดีเซลก็คือการพัฒนาที่ล้ำยุคกว่า ตึกสูงๆ ที่จำเป็นต้องใช้เสาเข็มลึก เครื่องธรรมดาไม่มีความหมายนัก เพราะแรงกระแทกไม่พอเพียง แต่สำหรับดีเซลแล้วไม่มีปัญหา..
แน่นอน..ว่ากันถึงราคาก็ย่อมแพงกว่า “ปั้นจั่นสำหรับตอกธรรมดานี่ราคาไม่เกิน 2 แสนบาท เท่าที่ใช้อยู่ในบ้านเรา แต่ดีเซลรวมตัวรถตีนตะขาบด้วยก็ 4-5 ล้านบาท เฉพาะตัวหัวตอก ถ้าซื้อเข้ามาเลยรวมภาษีแล้วก็ประมาณล้านกว่าบาทเข้าไปแล้ว” ช่างเทคนิคคนเดิมชี้แจง...แต่ความแพงก็ทดแทนได้ด้วยความเร็วและจำนวนเครื่อง รวมทั้งคนงานที่ลดน้อยลง สำหรับโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ “แบบธรรมดาใช้คนแต่ละตัวก็ 5-7 คน แต่ดีเซลรวมคนขับด้วย 3-4 คน พอ ถ้าเอากันระดับความลึกก็ต้องตอกที่เครื่องธรรมดามีแรงพอ แต่เป็นโครงการที่ใหญ่ เครื่องธรรมดาอาจต้องใช้หลายตัว ขณะที่ดีเซลไม่จำเป็น”
“เครื่องไอน้ำเหรอ..คงล้าสมัยมาก ผมไม่มีความรู้เลย อาจจะเป็นเครื่องก่อนที่ผมจะเกิดก็ได้ ผมไม่เคยเรียนมาเลย ไม่มีความรู้เลยครับ แต่ผมว่ายุคไอน้ำก็คงล้าสมัยกว่ายุคน้ำมันแน่ ๆ” ช่างเทคนิคอีกคนหนึ่งซึ่งเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อ 2 ปีก่อน กล่าวกับ “ผู้จัดการ” เมื่อถูกถามถึงสมรรถนะของเครื่องไอน้ำ
“อัมรินทร์ พลาซ่า ซึ่งต้องตอกลึกถึง 40 เมตร คุณไม่มีสิทธิ์เลือกเครื่องธรรมดาเลย เพราะใช้ไม่ได้แน่นอน ทางเลือกก็คือคุณจะใช้เครื่องดีเซล หรือระบบเข็มเจาะ และจะเจาะวิธีไหน เมื่อเคยทดลองวิธีหนึ่ง อีกหลายวิธีก็ยังมีให้เลือก” ช่างเทคนิคอีกบริษัทให้ข้อมูล กับ “ผู้จัดการ” ก่อนขยายความต่อไปว่า เข็มเจาะที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็ที่ตึกทองและอโศก ทาวเวอร์ แต่นั่นแหละปัญหาสำคัญก็คือ “เข็มเจาะต้นทุนสูงกว่าประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ครับ”
“ของอัมรินทร์ พลาซ่านี่ เครื่องดีเซลค่อนข้างเก่าแล้วครับ ปัญหาซึ่งเป็นทุนเดิมของเครื่องประเภทนี้อยู่แล้ว ก็มากขึ้นอีก ตอนที่ประมูลกันนั้นบริษัทที่ใช้ระบบเข็มเจาะก็ประมูลด้วย แต่ทุนสูงกว่า เขาจึงไม่เอา” ช่างเทคนิคคนเดิมกล่าว
“แบบธรรมดานี่ตอกลึกและเข็มใหญ่ไม่ได้ เพราะสลิงอาจขาด แต่เครื่องดีเซลไม่วอรี่” ช่างเทคนิคอีกบริษัทปูพื้นด้วยเรื่องเดิมให้เห็นภาพชัดขึ้นก่อนขยายความ
“เรื่องการตอกเสาเข็มนี่ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจเรื่องการสั่นสะเทือน ซึ่งเกี่ยวพันกับความถี่ในการตอก หากความถี่ในการตอกสูง แรงสั่นย่อมเป็นปัญหา เครื่องธรรมดานั้นตุ้มเหล็กกระแทกเข็มแต่ะครั้งเว้นช่วงยาว แต่เครื่องดีเซลนี่ยิงรัว เพราะฉะนั้นปัญหาแรงสั่นสะเทือนที่กระทบตึกรอบข้างก็มีมาก.. .เมื่อหัวตอกกระแทกเข็มทีหนึ่ง ตึกข้างเคียงก็ถอนขึ้น แต่ไม่ทันเลื่อนตัวลงเข้าที่ เครื่องดีเซลก็ซัดปังเข้าอีกที เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ตึกข้างเคียงก็เขยิบขึ้นทีละนิดละหน่อย นานเข้าตึกก็ร้าว การตอกเสาเข็มนี่ต้องคำนึงถึงความสั่นสะเทือนกระทบครับ ถึงแม้เครื่องจะดี ประสิทธิภาพสูงกันยังไงก็ละเลยจุดนี้ไม่ได้ “ช่างเทคนิคผู้นี้กล่าวว่าทางเลี่ยงปัญหานี้ของอัมรินทร์ พลาซ่า ซึ่งต้อง ตอกเข็มลึก 40 เมตร มีทางเดียวเท่านั้นคือการใช้เข็มเจาะ “แต่นั่นแหละ เข็มเจาะนี่ต้องวุ่นวายเรื่องการวิเคราะห์ที่ดินด้วย หากดินข้างล่างเหนียวหนืด การเจาะดินก็ลำบาก ของอัมรินทร์นั้นแรกทีเดียวก็ทดลองเข็มเจาะก่อน แต่ก็มีปัญหาเรื่องดินทำให้ปลอกเหล็กที่เจาะลงไปดึงไม่ขึ้น ต้องฝังทิ้งไว้อันหนึ่ง ก็อันละเป็นแสนบาทครับ”
การใช้เข็มเจาะนอกจากต้นทุนสูงกว่าแล้ว ที่สำคัญก็คือความล่าช้าซึ่งย่อมเกี่ยวพันถึงต้นทุนอีกโสตหนึ่งด้วย “เข็มเจาะนี่ใช้เวลายาวกว่าดีเซลถึงหนึ่งเท่าตัวครับ” ช่างเทคนิคคนเดิมชี้
คำถามที่ว่า เมื่ออัมรินทร์ พลาซ่า เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรไอน้ำจะสามารถแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ทั้งเงื่อนเวลา และปัญหากระทบกระเทือนที่เคยเกิดขึ้น คำตอบก็คือ... เครื่องไอน้ำสามารถขจัดปัญหาไอเสียได้ แต่ความสั่นสะเทือน แก้ไม่ได้ หากจะใช้ความเร็วในการตอกคงเดิม ถ้าจะให้ช้าลงก็ย่อมทำให้จุดหมายของโครงการต้องเปลี่ยนไป
“เรื่องที่ว่าการป้องกันปัญหาของเครื่องดีเซลก็พอมีอยู่ เช่นใช้ผ้าใบขึงป้องกันควันเสีย ใช้แผ่นเหล็กตอกฝังรอบๆ บริเวณก่อสร้าง หรือขุดคูรอบๆ เพื่อป้องกันการสั่นสะเทือนกระทบตึกรอบข้าง ผมรู้สึกว่าก็ยังยากอยู่ดี ใช้ผ้าใบกั้นควันเสีย โอเค ไม่ยากนัก แต่แผ่นเหล็กนี่ลำบากครับ หากแรงสั่นมาก ทำอย่างไรเสียก็ยังมีแรงดันแผ่นเหล็กไปถึงพื้นดินรอบข้างอยู่ดี ถ้าจะขุดคูสำหรับอัมรินทร์ พลาซ่า ก็ต้องตอกลึก 40 เมตร เนื้อที่ขุดคูก็คงหมดที่ดินสำหรับก่อสร้างกันพอดี” ช่างเทคนิคคนเดิมกล่าว โดยไม่ลืมพ่วงเรื่องของตัวเองว่า “ตอนแรกประมูลตอกเข็มนี่ บริษัทผมก็ต้องเตรียมเอาด้วย แต่ต้องถอย เมื่อศึกษาดูว่าโรงแรมเอราวัณซึ่งเป็นตึกใกล้เคียงที่สุดนั้นเป็นตึกเก่าและใช้เข็มไม้ด้วย ทั้งที่ผ่านมาก็เคยแก้ปัญหาฐานรากนี้มาแล้วล้านกว่าบาท เพราะฉะนั้นไม่เสี่ยงดีกว่า”
คำถามต่อไปมีว่า เมื่อถึงจุดนี้แล้วอัมรินทร์ พลาซ่า ควรแก้ปัญหาอย่างไร คำตอบของช่างเทคนิคผู้นี้ก็คือ
“เมื่อเข็มเหล็กก็ซื้อมาแล้ว จะคืนก็ไม่ได้ ก็ควรเจาะก่อนให้กว้างกว่าขนาดเข็มในช่วงต้นๆ อีกช่วงหนึ่ง ก็ตอกย้ำอีกที หลังจากนั้นก็เอาคอนกรีตหล่อข้างๆ ต้นทุน สูงขึ้นแน่ครับ แต่จะทำยังไงก็ได้ ถึงจุดนี้จะให้ทุกอย่างกลับคืนเหมือนเดิมไม่ได้แน่นอนครับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|