อาราเบียน-ไทย อินเวสเม้นท์ “ ในวงเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ผมอนุมัติได้”


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2526)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุนจดทะเบียนแม้จะมีเพียง 46 ล้านบาท (ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่อาราเบียน-ไทย อินเวสเม้นท์ สามารถจะปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการได้เป็นพันๆ ล้านอย่างสบายด้วยตัวเอง

เพราะอาราเบียน-ไทย อินเวสเม้นท์ เป็นการลงทุนของคนไทยกับชีคซาเลห์ คาห์เมล โดยคนไทยถือหุ้นอยู่ 49% และก็เผอิญอีกแหละที่กรรมการผู้จัดการคนใหม่ก็คือ วิสิษฐ์ ตันสัจจา ซึ่งก็มีหุ้นอยู่ด้วยเหมือนกัน

“ผมถือหุ้นอยู่มาก ความจริงเรื่องอาราเบียน-ไทย นี่เข้ามาหาผมตอนที่ผมอยู่นครหลวงได้สัก 3 เดือนแล้ว และผมก็กำลังคิดว่าคงจะอยู่แบงก์ต่อไม่ไหว ผมเลยรับปากไปว่า ผมจะช่วยดูแล เพราะคนที่เอาเรื่องมาให้ ก็นับถือผมอยู่แล้ว” วิสิษฐ์ ตันสัจจา พูดให้ฟัง

คนที่เอาเรื่องมาให้คือยงยศ อดิเรกสาร บุตรชายพลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับวิสิษฐ์ ตันสัจจา ในเรื่องเทเล็กซ์น้ำมันมาแล้ว

“ผมเคยทำงานเป็นเลขาให้ท่าน (พลตรีประมาณ) ตอนท่านเป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมไทย และอาราเบียน-ไทย ก็มีแต่พวกอดิเรกสารเท่านั้น คุณชาติชายไม่ได้เข้ามายุ่งเลย” วิสิษฐ์กล่าวต่อ

ชีคซาเล่ห์ คาร์เมล เคยมีการลงทุนร่วมกันคนไทยบ้าง ปัจจุบันลงทุนร่วมกับกลุ่มของสุธี นพคุณ ในบริษัท CSI ด้าน จัดหาแรงงานส่งไปตะวันออกกลาง “แต่สุธีไม่ได้สานต่อก็เลยอยู่เพียงแค่นั้น” วิสิษฐ์เสริม

ชีค ซาเล่ห์ มีคนสนิทชื่อ ชีคคาซูบ้า ซึ่งเผอิญเป็นเพื่อนสนิทกับทูตไทยประจำซาอุดีอาระเบีย สุวัฒน์ ณ อยุธยา ก็เป็นน้าภรรยาของจิตตเกษม แสงสิงแก้ว ซึ่งเป็นทีมงานเดียวกับวิสิษฐ์ ตันสัจจา ที่บุญชู โรจนเสถียร ส่งเข้าไปในธนาคารนครหลวงฯ

สุวัฒน์ เสนีย์วงศ์ ก็ชวนกลุ่มของชีคซาเลห์ให้เข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ประจวบเหมาะกับไพเราะ เปี่ยมพงษ์สานต์ ไปได้เรื่องอาวุธที่ซาอุดีอาระเบีย ก็รับเรื่องมาและมอบมาทางยงยศ อดิเรกสาร แล้วก็ถึงมือวิสิษฐ์

“พวกโป้ง (ยงยศ อดิเรกสาร) เขาบอกว่างานนี้มันใหญ่เกินไปสำหรับพวกเขา ก็เลยโยนมาให้ผม มันก็พอดีเหมาะเจาะผมกำลังมีปัญหาที่ธนาคารฯ คือ ถ้ามันดีก็ไม่เลว เพราะเราจะได้ฐานสำหรับลูกน้องเรา ตัวเราเมื่อออกมาก็ไม่มีอะไรทำ ผมก็รับปากเขา โอเค ผมบินไปพบชีคซาเลห์ เทสต์แล้วก็รู้สึกว่าเขามีความจริงและจะได้เช็กว่าเขามีเงินจริง เงินที่เขาสนับสนุนโครงการเขาบอกว่าถ้ามันดีจะเอาเท่าไหร่ก็บอกมาในลิมิต ผมบอกให้เขาส่งเงินมา 10 ล้านเหรียญ (230 ล้านบาท) เขาก็ส่งมาทันที ตอนแรกที่กำลังปรึกษาว่าจะจดทะเบียนบริษัทเท่าไหร่ เขาบอกว่า คนละ 10 ล้านเหรียญเป็นอย่างไร ฝ่ายไทยก็แทบจะตกเก้าอี้เลย” วิสิษฐ์พูดถึงความเป็นมาของอาราเบียน-ไทย ให้ฟังเพิ่มเติม

อาราเบียน-ไทย ไม่มีนโยบายให้กู้เพื่อกินดอกเบี้ย เพราะผิดกฎหมายของศาสนาอิสลาม แต่อาราเบียน-ไทย จะลงทุนร่วมเพื่อแบ่งผลกำไร หรือซื้อเครื่องจักรให้เช่า

แนวทางการลงทุนของอาราเบียน-ไทย จะมุ่งไปทางโครงการใหญ่ๆ เช่น ทางด้านเกษตร ฯลฯ ปัจจุบันกำลังเจรจาซื้อเครื่องจักรมูลค่าเกือบ 1,800 ล้านให้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาด ใหญ่แห่งหนึ่ง โดยอาราเบียน-ไทย จะเป็นคนซื้อให้แต่คนเดียว แล้วโรงงานนั้นก็เช่าซื้อไป

“เงินมีผ่านเข้ามาจริงเป็นล้านๆ เหรียญ รู้สึกว่าจะเป็นของจริง” เจ้าหน้าที่แผนกต่างประเทศของธนาคารระดับใหญ่แห่งหนึ่งของสีลมเล่าให้เราฟัง ถึงเรื่องเงินของอาราเบียน-ไทย

สำหรับสิทธิ์ขาดอำนาจในการตัดสินใจ วิสิษฐ์บอก “ผู้จัดการ” ว่า “ เราตัดสินใจได้ทันที ถ้าวงเงินไม่เกินหนึ่งล้านเหรียญ เกินกว่านั้นต้องตัดสินใจร่วมกัน”

230 ล้านบาทที่เอาเข้ามา วิสิษฐ์บอกว่าได้ลงทุนไปหลายทาง สำหรับการเพิ่มทุนของธนาคารนครหลวงไทยอีก 500 ล้านบาท ก็คงจะไม่เกินความสามารถที่ชีคซาเลห์ จะจัดเงินมาให้เพื่อจะซื้อไว้หมด เพราะก็แค่ 32 ล้านเหรียญเอง

ถ้าแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้นจริง ก็เชื่อขนมกินได้ว่าวิสิษฐ์จะต้องหาทางทำให้ชีคซาเลห์เห็นด้วยว่าน่าจะลงทุนในธนาคารนครหลวงฯ และเมื่อถึงเวลานั้นก็คงจะมีความแค้นที่จะต้องชำระกันบ้าง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.