ล้มดีลดังซีพีถือหุ้นKTAM


ผู้จัดการรายวัน(25 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" เอ็มดีธนาคารกรุงไทย ล้มดีลดึงยักษ์ใหญ่ซีพีเข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุนบลจ.กรุงไทย ธ.กรุงไทยถือหุ้น 40% กลุ่มซีพี 40% ทรีนีตี้ 20% หลังเห็นบลจ.กรุงไทยมีผลงานดีสามารถล้างขาดทุนสะสม 100 กว่าล้านบาท หมดใน 2 ปี ผลงานปี 2547 มีกำไรเล็กน้อย กว่า 1 แสนบาท อยากเก็บไว้ให้ธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าของกุมอำนาจการบริหาร เตรียมแจกโบนัส 1 เดือนกลางปีนี้ให้กำลังใจพนักงานบลจ.กรุงไทย

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยนาย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มว่าที่ผู้ลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ซึ่งได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และบริษัททรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) ว่า คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยขอยกเลิกแผนการเข้าร่วมลงทุนตามบันทึกความเข้าใจการลงทุนในบลจ.กรุงไทย ซึ่งมีการลงนามกันในวันที่ 28 มิถุนายน 2547

สำหรับการลงนามในครั้งนั้นธนาคารกรุงไทย ได้มีการร่วมลงนามในข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ตามโครงการร่วมมือทางธุรกิจ และการเข้าลงทุนในบลจ.กรุงไทย โดยมีการลงนามกันระหว่างนาย วิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กับนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการลงนามจำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1)บันทึกความเข้าใจในการเข้าร่วมลงทุนใน Business Development Bank 2) บันทึกความเข้าใจการลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย 3) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทซี.พี.เซเว่น อีเลฟเว่น (7-Eleven)

ในส่วนของการเข้าลงทุนในบลจ.กรุงไทย ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท จะมีการเพิ่มทุนออกหุ้นสามัญใหม่เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับผู้ร่วมทุนใหม่ 2 กลุ่ม ซึ่งจะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบลจ.กรุงไทยภายหลังการร่วมทุนเป็นดังนี้ ธนาคารกรุงไทย 40% บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ 40% และบริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) 20% ของทุนจดทะเบียน

การร่วมทุนครั้งนั้นจะทำให้ บลจ.กรุงไทย กลายสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนไปทันที

ทั้งนี้ การตัดสินใจเปิดทางดึงพันธมิตรยักษ์กลุ่มซีพีเข้ามาร่วมทุนในครั้งนั้นมีการระบุว่า นอกจากเป็นไปตามนโยบายของธนาคารกรุงไทยที่ต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้นธุรกิจในเครือแล้ว ยังเพื่อต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับบลจ.กรุงไทยในอนาคตที่จะต้องมีการเปิดเสรีทางการเงิน และเตรียมขยายธุรกิจกองทุนในประเทศจีนร่วมกับกลุ่มซีพี

สำหรับฐานะการเงินของ บลจ.กรุงไทยนั้น เดิมมีผลขาดทุนสะสมกว่า 100 ล้านบาท ต่อมาในปี 2545 และปี 2546 เริ่มมีการปรับปรุงแก้ไขฐานะอย่างแข็งขัน โดยมีการจัดตั้งกองทุนใหม่เพิ่มขึ้นและรับบริหารกองทุนเพิ่ม ทำให้ผลขาดทุนสะสมลดลงเรื่อย โดยมีผลขาดทุนสะสมลดลงเหลือ 60 ล้านบาท กระทั่งในปี 2547 สามารถล้างขาดทุนสะสมได้หมด และสามารถมีกำไรเหลืออีกประมาณ 1 แสนบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า นายอภิศักดิ์ เห็นว่า ฐานะของบลจ.กรุงไทยเริ่มดีขึ้น และสามารถทำกำไรได้แล้ว จึงตัดสินใจล้มดีลร่วมทุนครั้งนี้เก็บธุรกิจกองทุนไว้ดูแลเองดีกว่า ซึ่งในปี 2547 หลังจากมีกำไรเล็กน้อยยังได้ให้เงินรางวัลกับพนักงานบลจ.กรุงไทยเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับพนักงานจากในอดีต ที่ไม่เคยได้รับเงินโบนัสเลยเพราะบริษัทขาดทุนสะสม นอกจากนี้จะเตรียมจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานในกลางปีนี้คนละประมาณ 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม การล้มดีลร่วมทุนครั้งนี้ทำให้แผนการขยายธุรกิจด้านกองทุนร่วมกับกลุ่มซีพี โดยในขณะนั้นมีแผนการจะจัดตั้งกองทุนไปลงทุนยังประเทศจีน และดึงเงินจากประเทศจีนมาลงทุนในเมืองไทยก็ต้องพับไป

ในส่วนของบริษัท ทรีนีตี้วัฒนา หรือกลุ่มทรีนีตี้ของ นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารคนสำคัญ ซึ่งมีแผนจะเข้าไปลงทุนในประเทศจีนก็มีอันต้องยุติการเข้าไปลงทุนในเมืองจีนกับกลุ่มซีพีไปโดยปริยาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.