ธนชาติเสือปืนไวรื้อกรอบการลงทุน ลุยตราสารหนี้เพิ่มหลังธปท.ตรึงดบ.


ผู้จัดการรายวัน(25 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.ธนชาติดอดแก้หลักเกณฑ์การลงทุนกองทุนเปิดธนชาติพันธบัตรใหม่ โดยเปิดทางให้ลงทุนในตราสารหนี้ได้ หลังก่อนหน้าตีกรอบให้ลงทุนเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล หลังประเมินทิศทางดอกเบี้ยในประเทศยังไม่มีทีท่าขยับ และการที่ธปท.ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรได้รับในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน

นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาติ จำกัด เปิดเผยว่า บลจ. ธนชาติในฐานะผู้จัดตั้งและจัดการกองทุนเปิดธนชาติพันธบัตร (NGB) ได้มีการแก้รายละเอียดโครงการของกองทุน และชื่อโครงการใหม่ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดโครงการข้างต้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2548 เป็นต้นไป

สำหรับรายละเอียดการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการกองทุนดังนี้คือ เดิมกองทุนเปิดธนชาติพันธบัตรมีนโยบายการลงทุนที่จะเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกันเป็นหลัก หลังการแก้ไขโครงการ กองทุนสามารถที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ และหรือ ตราสารทางการเงินต่างๆ ของทั้งภาครัฐ และเอกชนที่มีความมั่นคงและให้ผลตอบแทนที่ดี

ทั้งนี้จะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขโครงการ และเปลี่ยนแปลงชื่อโครงการจากเดิมชื่อโครงการกองทุนเปิดธนชาติพันธบัตร มาเป็นกองทุนเปิดธนชาติตราสารหนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนเพื่อให้กองทุนมีขอบเขตการลงทุนกว้างขึ้น โดยสามารถลงทุนในตราสารหนี้อื่นๆ ได้มากขึ้น และเพื่อความยืดหยุ่นในการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ

สำหรับกองทุนเปิดธนชาติตราสารหนี้ ณ วันที่ 21 เม.ย. มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 282.80 ล้านบาท มูลค่าหน่วยลงทุน 10.0338 บาท มูลค่าโครงการ 1.5 พันล้านบาท จดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548

นายกำพล กล่าวว่า การแก้ไขโครงการครั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่สูงขึ้น หลังจากที่เราประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) 14 วัน ไว้ที่ระดับ 2.25% เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจุดนี้จะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรเพียงอย่างเดียวได้รับผลตอบแทนในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนควบคู่กันไป

"เรามองว่าแนวโน้มดอกเบี้ยยังไม่น่าจะขยับจึงได้ตัดสินใจขออนุมัติผู้ถือหน่วยลงทุน ขยายขอบเขตการลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนในระดับที่ทุกคนพอใจ" นายกำพลกล่าว

นายกำพล กล่าวว่า วันนี้หากนักลงทุนมีเงินออมและเป็นเงินออมที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาว เชื่อว่าการลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ หรือพันธบัตรระยะยาวอายุเฉลี่ย ประมาณ 3 ปี ผลตอบแทนจากการลงทุน ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจมาก ซึ่งทำให้เริ่มเห็นบลจ.หลายแห่งเริ่มออกกองทุนตราสารหนี้ หรือพันธบัตรที่มีอายุมากขึ้น จากที่ก่อนหน้าเน้นลงทุนตราสารหนี้เอกชนอายุเฉลี่ย 6 เดือน หรือ 9 เดือน

สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนผ่านพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มีอายุประมาณ 3 ปี หากเป็นตราสารหนี้เอกชนผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4% หลังจากหักค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการ ขณะที่การลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.8%

นายกำพล กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนจะอยู่ที่ 2.6% ขณะที่ตราสารหนี้เอกชนให้ผลตอบแทน 3.1% ส่วนที่พันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.99% ตราสารหนี้เอกชนให้ผลตอบแทน 3.8% และการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุเฉลี่ย 3 ปี ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.29% และการลงทุนผ่านตราสารหนี้ภาคเอกชนอายุ 3 ปี ให้ผลตอบแทนสูงถึง 4.35%

ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส กล่าวอีกว่า การที่ธปท.ตัดสินใจประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีไว้ที่ระดับ 2.25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 2.75% ส่วนต่าง 0.50% เนื่องจากธปท.ประเมินว่าจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการตัดสินใจตรึงดอกเบี้ยครั้งนี้จะทำให้แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งจะทำให้การส่งออกของไทยไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น และจะทำให้ปัญหาการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.