"ลูกเอ๋ย...พ่อจะจากเจ้าไปแล้ว เจ้าคือ บุตรหัวปี ภาระครอบครัวจะตกบนบ่า
ทั้งสองของเจ้า น้องๆ อายุยังเยาว์ ต้องอาศัย เจ้าอุ้มชูสมบัติครอบครัวเรา
....ทางที่ดีเจ้าจงเป็นหัวเรือของธุรกิจ อย่าได้แบ่งสมบัติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า
เจ้าจะดำเนินการได้ดี จงอย่า ทำให้พ่อผิดหวัง" แต้จือปิง ต้นตระกูลเตชะไพบูลย์สั่งเสียบุตรชายคนโต
อุเทน หรือแต้โหงวเล้าไว้ในพินัยกรรมสุดท้าย
วันนี้ อุเทนอายุ 87 ปี ถือว่าเป็นTycoon ที่บริหารธนาคารยาวนานที่สุดถึง
48 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493-2541) ได้เห็นการล่มสลายของธนาคารระบบครอบครัวอันเก่าแก่ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย
อันเนื่องจากแนวคิด และกระบวนการผ่าตัดระบบธนาคารไทยของ IMF และการลดจำนวนธนาคารไทยพร้อมกับการครอบงำของธนาคารต่างชาติ
ธนาคารศรีนครเป็นตัวอย่างล่าสุดที่ถูกทางการยึดและยุบรวมกับธนาคารนครหลวงไทย
ตามประกาศกระทรวงการคลัง ยุค สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อ 29 มีนาคม 2545
โดยใช้ชื่อ "ธนาคารนครหลวงไทย" เป็น แกนหลักบริหารแบบ "1 ธนาคาร 2 ระบบ"
ถ้าเป็นเมื่อก่อน อุเทน เตชะไพบูลย์ อาจอาศัยเส้นสายและบารมีผู้ใหญ่บ้านเมืองที่อุปถัมภ์ค้ำจุนช่วยเหลือกันได้
แต่สูตรสำเร็จ แบบโมเดลเก่าๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ใหญ่เกินได้
รากฐานเก่าแก่ของตระกูลเตชะไพบูลย์ เริ่มต้นจากโรงยาฝิ่น โรงเหล้า มูลนิธิป่อเต็ก
ตึ๊ง โรงรับจำนำ สู่กิจการธนาคารศรีนคร ซึ่ง เป็นแหล่งระดมเงินทุนให้แก่ธุรกิจระบบครอบครัว
โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อมหาศาลให้กับธุรกิจสุราแม่โขง ซึ่งเป็นธุรกิจสัมปทานผูกขาดที่ตระกูลถือหุ้นใหญ่ที่สุด
ช่วงยุครุ่งโรจน์ ในปี พ.ศ.2515 ตระกูล เตชะไพบูลย์ได้ลงทุนและบริหารธนาคาร
อีก 2 แห่ง คือ ธนาคารเอเชีย และธนาคารมหานคร และขยายสู่ธุรกิจประกันภัย
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เครดิตฟองซิเอร์ โรงแรม ธุรกิจที่ดินและอื่นๆ เพื่อรองรับอาณาจักรธุรกิจครอบครัวใหญ่ที่มีน้องๆ
อีก 12 คนที่เกิดจากภรรยาสามคนของแต้จือปิง
บุคลิกนิสัยของน้องชาย รวมทั้งอุเทน 8 คน ซึ่งเรียกไล่เรียงลำดับจาก ตั้วเสี่ย
(อุเทน), ยี่เสี่ย (แต้เต็กเล้า), ซาเสี่ย (สุเมธ), ซี่เสี่ย (คำรณ), โหงวเสี่ย
(อุทัย), หลักเสี่ย (อุธรณ์), ชิกเสี่ย (เสฐียร), โป้ยเสี่ย (ไชยทัศน์) ต่างส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวและธุรกิจอย่างแยกไม่ออก
ต่อมาได้กลายเป็นปัญหาศึกสายเลือดระหว่างอาและหลาน
อุเทน มีภรรยาที่เปิดเผย 3 คน ลูกสาว ลูกชายที่มีบทบาทธุรกิจ ได้แก่ เพ็ชรี
(สมรสกับสมพงษ์ อมรวิวัฒน์), สุกัญญา (สมรสกับนิพิธ โอสถานนท์), วิเชียร
(อดีตผู้จัดการใหญ่ธนาคารศรีนคร), จิตรา, วิรุฬ (ดูแลเวิลด์เทรด เซนเตอร์),
วิวัฒน์ (ดูแลเอเย่นต์แม่โขง), วิรมิตร, วิมล (เจ้าของเบียร์คลอสเตอร์ และวีระเดช
ที่จับธุรกิจโรงแรมและที่ดิน
ในปี พ.ศ.2529 เห็นได้ชัดว่า อาณา จักรธุรกิจในตระกูลเตชะไพบูลย์สั่นคลอนหนัก
ความเป็นปึกแผ่นของตระกูลลดลง เกิดรอยแตกร้าวใหญ่ระหว่างอุเทนกับสุเมธ ที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมค่ายแม่โขงกับค่ายสุราทิพย์
นอกเหนือจากกรณีของคำรณ ที่ทิ้งธนาคารมหานครไปต่างประเทศเนื่องจากเกิดความเสียหายหนัก
ความพยายามของอุเทนที่ตั้งใจนำ "มืออาชีพ" เข้ามาผ่าตัดโครงสร้างบริหารภายในธนาคารศรีนคร
เพื่อเปลี่ยนภาพพจน์ "ธนาคารระบบครอบครัว" และลดแรงกดดัน จากธนาคารชาติ ก็ไม่สามารถปรับปรุงได้เท่าที่ควร
กลับกลายเป็นการเปลี่ยนมือ จาก "น้อง" ไปสู่ "ลูก" เท่านั้น และยังปรับตัวได้ช้า
ตลอดจนกฎระเบียบควบคุมธนาคารเริ่มเปลี่ยนไปใช้ BIS (Bank for International
Settlement) ทำให้สินทรัพย์ของธนาคารต้องประเมินกันใหม่ โดยเฉพาะการเพิ่มทุนไม่ได้
ธนาคารศรีนคร ซึ่งเป็น Flagship ของตระกูลเตชะไพบูลย์จึงต้องล่มจม ถูกทางการยึดและควบรวมกิจการในที่สุด
วันนี้ ธนาคารศรีนครได้ถูกลบชื่อหายไป "ฝูงนกหงัน" สัญลักษณ์ของความรักใคร่สามัคคีของตระกูลที่ตั้งไว้หน้าสำนักงานใหญ่
ต่างแตกกระเจิงบินไปแบบ "ทางใครทางมัน" เหลือไว้เพียงตำนานของชายชราชื่อ
"อุเทน เตชะไพบูลย์"