|
แปรรูปกฟผ.ขายหุ้น25% สหภาพฯยันค้านถึงที่สุด
ผู้จัดการรายวัน(22 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คณะกรรมการทุนนโยบายรัฐวิสาหกิจอนุมัติแปลงสภาพ กฟผ.เป็นบมจ. ทุนจดทะเบียน 6 หมื่นล้าน เชื่อภายในปีนี้ดันเข้าตลาดหุ้น กำหนดเพดานกระจายหุ้นไม่เกิน 25% คลังถือไม่ต่ำกว่า 75% หวังคงสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ การันตีเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานยังเหมือนเดิม “ผู้ว่ากฟผ.” ชี้ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านใน 5 ปี ระบุการขยายการลงทุน ใช้ทั้งเงินกู้-ทุนเดิม และขายหุ้น ด้านสหภาพฯยันคัดค้านถึงที่สุด เตรียมจัดเวทีอภิปรายวันเสาร์นี้
วานนี้ (21 เม.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทุนนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนท.) เรื่องการแปลงสภาพ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นบริษัท จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายสมคิด กล่าวภายหลังการประชุมว่า กนท.ได้มีมติเห็นชอบการแปลงทุนของ กฟผ.เป็นทุนเรือนหุ้น และจัดตั้งบริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.กฟผ. ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บริษัทของกฟผ.ที่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ โดยมีทุนจดทะเบียนจำนวน 60,000 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นจำนวน 6,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้น
โดยหลังจากแปลงสภาพเป็นบริษัทเรียบร้อยแล้วจะเดินหน้าแปรรูปเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไปตามกำหนดการที่ตั้งไว้ หากมีอุปสรรคปัญหาที่ส่งผลให้การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าช้าออกไป ก็เชื่อว่าจะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น ดังนั้นยังยืนยันว่าจะสามารถแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2548 นี้ ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดนั้นต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเหมาะสม
ทั้งนี้ รัฐบาลจะยังคงถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่า 75% และกำหนดเพดานการกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่เกิน 25% เพื่อคงสภาพ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นทรัพย์สินของประเทศต่อไป
**คาด 5 ปีใช้เงินลงทุน 2 แสนล้าน
นายไกรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ.มีความจำเป็นในการใช้เม็ดเงินเพื่อขยายการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า วงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาจากทุนที่มีอยู่ เงินกู้ และส่วนหนึ่งจะนำมาจากการขายหุ้นของ กฟผ. ดังนั้นจึงจะไม่ขายหุ้นทันทีทั้ง 25% แต่จะเป็นการทยอยขายตามความจำเป็นในการใช้เม็ดเงิน ทั้งนี้หากมีการขายหุ้นทั้งก้อน 25% จะคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท
“ตอนนี้เรามีทุนอยู่ส่วนหนึ่ง และการขยายการลงทุนเราคงกู้จากต่างประเทศด้วย เช่น อาจกู้ 70% ใช้ทุน 30% ดังนั้นการขายหุ้น 25% เป็นเพียงเพดานสูงสุดเท่านั้น ไม่ได้ขายทั้งหมดในคราวเดียว” นายไกรสีห์กล่าว
สำหรับสิทธิ หนี้ ความรับผิดชอบ และสินทรัพย์ของ กฟผ. นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะมีการโอนไปยัง บมจ.กฟผ. ซึ่งในส่วนนี้จะรวมถึงโรงงาน และสายส่งด้วย ส่วนสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งได้แก่ โครงสร้างสันเขื่อนแลอ่างเก็บน้ำจำนวน 21 เขื่อน รวมถึงที่ดินที่ตั้งอยู่ในบริเวณเขื่อนอ่างเก็บน้ำและหัวงานในวันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจะโอนให้แก่กระทรวงการคลัง เพื่อคงสภาพเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 สินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของ กฟผ. มีจำนวน กว่า 4.24 แสนล้านบาท 2.26 แสนล้านบาท และ 1.98 แสนล้านบาท ซึ่ง กนท.ได้เห็นชอบตัวเลขทรัพย์สินและหนี้สินเหล่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ณ วันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอาจมีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการโอนพนักงานทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ผู้รับจ้างลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างแบบมีกำหนดเวลา ไปเป็นลูกจ้างของ บมจ.กฟผ.โดยได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม และให้คณะกรรมการ กฟผ.ก่อนวันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นคณะกรรมการ บมจ.กฟผ.
รวมทั้งเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการผลิตไฟฟ้า เพื่อรับโอนอำนาจบางส่วนตาม พ.ร.บ. กฟผ.ในเรื่องเกี่ยวกับการประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้า การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า การบริการจัดการน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ มาเป็นของคณะกรรมการฯ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะดูแลเรื่องความเป็นธรรมในการแข่งขันของเอกชน และเรื่องสายส่งที่ยังโอนไปยัง บมจ.กฟผ.ด้วย เพื่อมิให้เกิดปัญหาข้อกังวลเรื่องการโอนทรัพย์สินของรัฐไปเป็นของเอกชน ส่วนข้อกังวลเรื่องค่าไฟฟ้าจะมีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าเป็นผู้ดูแลเรื่องการให้บริการแก่ประชาชน
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ คือ กนท.จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อทูลเกล้าให้ลงพระปรมาภิไท ยกเลิก พ.ร.บ.กฟผ. และ ออกพ.ร.ก.จัดตั้งบริษัท บมจ.กฟผ. ต่อไป คาดว่าเฉพาะขั้นตอนของรัฐบาลจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหลังจากนี้
“ที่ประชุมไม่ได้พูดถึงเรื่องโฮลดิ้ง ซึ่งขณะนี้มีข่าวว่ากฟผ.กำลังศึกษาดูรายละเอียดในรูปแบบของโฮลดิ้งอยู่ ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง” นายเชิดพงษ์ กล่าว
** Regulator ช้าไฟฟ้าอาจขาด
แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าวว่า ขณะนี้งานหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับนโยบายไฟฟ้าต้องหยุดนิ่งลงไปเนื่องจากจะต้องรอนโยบายจากคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าหรือ Regulator ซึ่งจะต้องประกอบด้วยตัวแทน 7 คน โดยล่าสุดมีผู้แสดงความสนใจอย่างมากแต่ปรากฏว่ามีคุณสมบัติที่ไม่เพียงพอ ซึ่งจุดนี้ทำให้กระทรวงพลังงานยังไม่สามารถประกาศรายชื่อ Regulator ทั้ง 7 คน ได้ทั้งที่สิ่งนี้ถือว่าสำคัญต่อการแปรรูปกฟผ.อย่างมากเพราะจะต้องเป็นผู้มากำหนดนโยบายด้านไฟฟ้าของประเทศ
“Regulator 7 คน ค่อนข้างมีอำนาจมากหากได้คนที่ไม่รู้เรื่องไฟฟ้าจริงๆ จะลำบากรัฐต้องระวัง และควรจะชัดเจนถึงโครงสร้างทั้งหมดด้วยเพราะขณะนี้การกลั่นกรองจากฝ่ายราชการและหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ มีหลายชั้นซึ่งมีการตรวจสอบในแต่ละขั้นที่ถือว่าค่อนข้างดีแล้วหากมี Regulator งานต่างๆ จะมีทิศทางอย่างไรอันนี้สำคัญ” แหล่งข่าวกล่าว
โดยเฉพาะการที่จะต้องเร่งกำหนดแผนรับซื้อไฟฟ้าว่ากฟผ. ควรจะได้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่หรือไม่ เพื่อความมั่นคงของระบบเพราะปริมาณไฟฟ้าคาดว่าใน 1-2 ปีนี้ จะต่ำกว่าสำรองปกติที่ระดับ 15% ซึ่งสำรองไฟขณะนี้มีอยู่ประมาณ 20-25% แต่จะเริ่มลดหากยังไม่ชัดเจนเพื่อกำหนดสร้างโรงไฟฟ้าใหม่หลังปี 2553 ไปแล้วไทยอาจเกิดภาวะขาดแคลนไฟฟ้าได้ ดังนั้น Regulator จะต้องเร่งให้ชัดเจนก่อนที่จะไปเร่งแปรรูปกฟผ.เพราะไม่เช่นนั้นการแปรรูปกฟผ.จะไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนแต่จะไปตกกับผู้ถือหุ้นและตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น
**สร.กฟผ.ยันต่อต้านถึงที่สุด
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ. (สร.กฟผ.) กล่าวว่า วันที่ 23 เม.ย. ทางสร.กฟผ.จะจัดเวทีชี้แจงเกี่ยวกับกับแปลงสภาพกฟผ.ที่รร.เจ้าพระยาปาร์ค โดยจะเชิญผู้ทรงวุฒิอาทิ นายโสภณ สุภาพงษ์ สว.กทม.มาอภิปราย ซึ่งจุดยืนของสร.กฟผ.ยังคงคัดค้านการแปรรูปด้วยการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะท้ายสุดแล้วผลประโยชน์ที่แท้จริงจะไม่ได้ตกอยู่กับประชาชน
“การเคลื่อนไหวของเรายอมรับว่าถูกปิดกั้นแต่เราก็จะพยายามใช้เวทีภายนอก ส่วนจะมากน้อยเพียงใดก็คงจะต้องค่อยๆ ทำไป" นายศิริชัยกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|