A Passion for Ideas


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ในโลกแห่งนวัตกรรมอันกว้างใหญ่

"ในที่สุดแล้ว พวกเราไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเปลี่ยน แปลงตัวเองใหม่ หรือยอมสูญสลายไป" Bolko v. Oetinger และ Heinrich v. Piere เขียนไว้ในหนังสือ A Passion for Ideas หนังสือที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรม ซึ่งทั้งสองร่วมกัน เป็นบรรณาธิการ "ศิลปะต้องแสวงหาหนทางสายใหม่ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของโลก มิเช่นนั้น ศิลปะก็หมดคุณค่า วิทยาศาสตร์ ต้องสามารถตอบคำถามใหม่ๆ มิเช่นนั้น วิทยา ศาสตร์ก็ไม่มีพลังอำนาจ บริษัทต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่หรือไม่ก็ตาย ต้องเลือกเอาระหว่างทำตัวใหม่หรือจะยอมเสื่อมสูญไปเท่านั้น ไม่มีทางเลือกที่สาม"

สำรวจตรวจสอบนวัตกรรมทุกซอกทุกมุม

นวัตกรรมถูกคิดค้นขึ้นได้อย่างไร เหตุใดนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างการดำรงอยู่และการเสื่อมสูญ มีหลักสำคัญอะไรบ้างที่จะทำให้สามารถคิดค้นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ

บรรณาธิการทั้งสองกล่าวไว้ในคำนำว่า นอกจากพวกเขาจะตระหนักดีถึงความสำคัญของความคิดใหม่และนวัตกรรม อันเปรียบเสมือนข้าวที่เราต้องกินทุกวันไม่อาจขาดได้แล้ว พวกเขายังตระหนักดีถึงความยากลำบากในการคิดค้นนวัตกรรม ดังนั้น ทั้งสองจึงตัดสินใจว่า จะต้องทำความรู้จักและเข้าใจนวัตกรรมด้วยการศึกษามันในทุกแง่ทุกมุม

ทั้ง Oetinger และ Piere ล้วนมาจากโลกธุรกิจ Oetinger เป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสแห่ง The Boston Consulting Group ส่วน Piere เป็นประธานกรรมการบริษัท Siemens AG ยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน ในการพยายามสำรวจตรวจสอบนวัตกรรมอย่างรอบด้านนี้ ทั้งสองคิดว่าคงเป็นการดีกว่าถ้าจะพิจารณา นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในหลากหลายวงอาชีพ มากกว่าจะจำกัดเพียงในแวดวงธุรกิจเท่านั้น

25 นักนวัตกรรมที่พวกเขานำมารวบรวมไว้ในที่นี้จึงมีทั้งกวีอย่าง John Barnie, นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล Gerd Bennig, ผู้จัดและผู้กำกับละคร Broadway อย่าง Harold Prince, ผู้ประพันธ์เพลง Wolfgang Rihm, และที่ปรึกษาเทคโนโลยี Christoph-Friedrich v. Braun ส่วนนักนวัตกรรมในโลกธุรกิจ ได้แก่ ศาสตราจารย์ John Kao แห่ง Stanford University, Perter Senge ผู้พัฒนาแนวคิดองค์กรแห่งการเรียนรู้, Daniel Leemon กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผน ยุทธศาสตร์แห่งบริษัท The Charles Schwab Corporation, Claus Otto Scharmer จาก MIT Sloan School of Management และสุดท้ายคือ Ron Sommer ประธานกรรมการบริษัท Deutsche Telekom AG.

นวัตกรรมกับความนอกคอก

งานเขียนในหนังสือเล่มนี้เป็นการเขียนของนักนวัตกรรม เอง หรือไม่ก็ได้จากการสัมภาษณ์พวกเขา เช่น การสัมภาษณ์ Harold Prince ซึ่งได้พูดถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ Broadway เช่น การขายตั๋วด้วยคอมพิวเตอร์ การตั้งบูธขายตั๋วที่ขายไม่ออกในแต่ละวัน และการโฆษณาละคร Broadway ซึ่งอย่างหลังสุดนี้เป็นนวัตกรรมที่ Prince คิดว่าไร้รสนิยมอย่างมาก เนื่องจากเม็ดเงินที่ทุ่มไปกับการโฆษณาละคร Broadway ในทุกวันนี้นั้น ยังมากกว่าที่จ่ายให้แก่งานสร้างสรรค์หรือศิลปินเสีย อีก เขาเห็นว่าพฤติการณ์เช่นนี้น่ารังเกียจมาก

บทสัมภาษณ์ของ Prince ปรากฏอยู่ในตอนที่ชื่อว่า "The Individual and The Environment" ของหนังสือที่แบ่งเป็น 2 ตอน (อีกตอนหนึ่งชื่อ "Freedom and Organizations") ในตอนนี้จะกล่าวถึงบทบาทของบริบททางสังคมที่ส่งผลต่อตัวนักนวัตกรรม นักนวัตกรรมจะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้อย่างไร ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อุตสาหกรรมการละครในโลกทุกวันนี้ กำลังเผชิญกับแรงกดดันทางธุรกิจอันหนักหน่วง Prince แนะว่า กุญแจสำคัญคือ ต้องยึดมั่นในสัญชาตญาณสร้างสรรค์ของตัวเอง แต่จะต้องไม่ออกนอกลู่นอกทางจนกลายเป็น "นอกคอก" หลักการนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการคิดค้นนวัตกรรมในโลกธุรกิจได้เช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.