|
แบงก์-นอนแบงก์ปล่อยกู้ไม่สนหลักทรัพย์ค้ำ
ผู้จัดการรายวัน(21 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์-นอนแบงก์โหมโรงปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง-ย่อม (เอสเอ็มอี) สนองนโยบายรัฐ "กสิกรไทย" เปิดตัวโปรดักท์ใหม่ให้บริการสินเชื่อไม่มีหลักประกัน แถมคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ตั้งเป้าปล่อยกู้ 2 พันล้านบาท ให้หมดภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ หวัง 1,000 ราย
ภาพรวมธุรกิจสถาบันการเงินในปีนี้ เริ่มเข้ามาเล่นในตลาดผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชน ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ต่างเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยกลยุทธ์ที่นำออกมาใช้ และมีการแข่งขันในตลาดสูงมากในขณะนี้คือ การปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สำหรับผู้ประกอบการที่เข้ามาเล่นในตลาดนี้ประกอบด้วย ธนาคารเอเชีย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์),บริษัทบัตรกรุงไทย (KTC), ธนาคารไทยธนาคาร, ธนาคารนครหลวงไทย, ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดนครธน, ธนาคารซิตี้แบงก์, บริษัท แคปปิตอลโอเค, บริษัท จีอี แคปิตอล (ประเทศไทย), บริษัท อิอนธนสินทรัพย์ เป็นต้น โดยวงเงินที่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเฉลี่ยอยู่ที่ 1-5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาการคืนหนี้ไม่เกิน 5 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเริ่มตั้งแต่ 11-17% ต่อปี
โดยล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศตัวเข้ามาลงเล่นในตลาดนี้ผ่านรูปแบบการให้บริการสินเชื่อไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (เคแบงก์ เอสเอ็มอี คลีน เครดิต) โดยตั้งเป้าปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปีนี้จำนวน 2 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้ารายใหม่เข้ามาขอรับบริการสินเชื่อผ่านโครงการนี้ประมาณ 1 พันราย และเชื่อว่าจะสามารถอนุมัติวงเงินให้กับลูกค้าทั้งหมดได้ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้
นายกฤษฎา ล่ำซำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพาณิชย์และบุคคลธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สินเชื่อเคแบงก์ เอสเอ็มอี คลีน เครดิต เป็นสินเชื่อเชิงพาณิชย์ ที่มีวงเงินกู้ตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 4 ล้านบาท และผู้กู้สามารถเลือกระยะเวลาผ่อนชำระได้ ตั้งแต่ 24 เดือน 30 เดือน หรือ 36 เดือน รวมทั้งผู้กู้สามารถเลือกกู้เป็นวงเงินกู้ (Loan) ได้ 90-100% ของวงเงินสินเชื่อใหม่ทั้งหมด หรือเลือกเป็นวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) ไม่เกิน 10% ของวงเงินสินเชื่อ
"การออกผลิตภัณฑ์นี้มีส่วนที่แตกต่างจากที่อื่น คือสามารถให้ลูกค้าเลือกที่จะขอวงเงินกู้ได้ 2 แบบ ซึ่งไม่เหมือนกับที่อื่นที่ให้มีเฉพาะแบบใดแบบหนึ่งให้เลือก และวงเงินการให้กู้สูงสุดถึง 4 ล้านบาท แม้ในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่จะขอกู้โดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านบาท รวมทั้งการคิดอัตราดอกเบี้ยก็คิดตามจริงไม่มีหมกเม็ดอย่างที่อื่น" นายกฤษฎากล่าว
สำหรับอัตราดอกเบี้ยวงเงินกู้ (Loan) จะคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) บวก 5% ถึงเอ็มอาร์อาร์ บวก 9% หรือ 11.0-15.0% ขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ ส่วนวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) จะคิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ บวก 7% ถึงเอ็มอาร์อาร์ บวก 11% หรือ 13.0-17.0% ตามวงเงินกู้เช่นกัน นอกจากนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการขอสินเชื่อดังกล่าวจะต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ประกอบธุรกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการค้าส่ง การค้าปลีก การผลิต และการบริการ
"กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี นับเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดของธนาคารและเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ ทำให้มีความต้องการในการใช้บริการที่หลากหลาย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มนี้เมื่อต้องการขยายธุรกิจแต่ไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกันในการขอสินเชื่อ จึงหันไปหาแหล่งเงินกู้นอกระบบ (Shark Loan) หรือใช้สินเชื่อบุคคลหรือกดเงินจากบัตรเครดิตมาใช้ดำเนินธุรกิจทำให้มีต้นทุนทางการเงินสูงมาก ดังนั้นทางธนาคารจึงเข้ามาช่วยจะช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและยุติธรรม"
ทั้งนี้ ทางธนาคารเชื่อว่าการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในลักษณะลดต้นลดดอกจะช่วยลดภาระของลูกค้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ มั่นใจว่ามีลูกค้าจำนวนมากที่สนใจจะใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวของธนาคาร เนื่องจากเงื่อนไขการกู้ที่ดี อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด และธนาคารก็มีทีมขายและสาขาที่พร้อมจะบุกเจาะกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีทั่วประเทศ
นายวาสิต ล่ำซำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ออกนวัตกรรมประกันรูปแบบใหม่ 2 แบบ คือ เคแบงก์ คลีน โลน โปรเทคชั่น และ เคแบงก์ คลีน โอ/ ดี โปรเทคชั่น ที่จะให้ความคุ้มครองลูกค้าสินเชื่อไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่มีวงเงินกู้ (Loan) และวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) กับธนาคาร โดยหากลูกค้าเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ในช่วงระยะเวลาการกู้เงิน ทางบริษัทจะเข้าไปรับผิดชอบในการชดใช้เงินกู้ที่เหลืออยู่กับธนาคารทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบรุนแรงที่มีต่อธุรกิจลูกค้า และจะช่วยให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยไม่ต้องพะวงต่อหนี้สินที่มีกับธนาคาร
ทั้งนี้ ปัจจุบันลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1.2 แสนราย หรือคิดเป็น 50% ของลูกค้าทั้งหมดของธนาคาร โดยในปี 48 ธนาคารตั้งเป้าหมายจะปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีได้ประมาณ 17-18% หรือคิดเป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมีนาคมประมาณ 54,042 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.24%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|