RATCHดึงปตท.สผ.ผุดโรงไฟฟ้า


ผู้จัดการรายวัน(21 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เล็งผุดโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยใช้ก๊าซที่เผาทิ้งในแหล่งสิริกิติ์ (S1) มาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะดึงปตท.สผ.เข้าร่วมทุนโครงการดังกล่าวด้วย เผยก.ค.นี้เตรียมรีไฟแนนซ์หนี้ก้อนใหญ่ 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1% บิ๊กกฟผ.ย้ำหลังเข้าตลาดทรัพย์ฯ กฟผ.จะไม่เข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าแข่งกับลูก และไม่ลดสัดส่วนการถือหุ้นในเอ็กโก้และราชบุรีฯด้วย

นายบุญชู ดิเรกสถาพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าขณะนี้บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซเผาทิ้งในกระบวนการผลิตน้ำมันดิบที่แหล่งปิโตรเลียมสิริกิติ์ (S1) ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือปตท.สผ. มีกำลังการผลิตเบื้องต้น 1 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้

ทั้งนี้ บริษัทฯจะเจรจาขอซื้อก๊าซฯ ที่ไม่ได้มีการใช้ทำให้ต้องเผาทิ้งไปในขบวนการผลิตน้ำมันดิบ รวมทั้งเจรจาให้ปตท.สผ.สยาม เข้ามาร่วมทุน 50:50 ในโครงการดังกล่าวด้วย หากโครงการดังกล่าวมีศักยภาพก็จะดำเนินการจัดซื้อเครื่องผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ มาติดตั้ง และขายไฟฟ้าที่ได้เข้าระบบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่สูงมากและระยะเวลาดำเนินการติดตั้งไม่เกิน 1ปี

โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการหนึ่งในแผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังทดแทน นอกเหนือจากการเข้าไปศึกษานำพลังลมมาผลิตไฟฟ้า โดยจะทดลองผลิตเริ่มต้นขนาด 5 กิโลวัตต์ หากประสบผลเป็นที่น่าพอใจก็จะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 150 กิโลวัตต์ นับเป็นการปูฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อรองรับการเข้าร่วมประมูลสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคต หลังจากรัฐกำหนดให้โรงไฟฟ้าแห่งใหม่จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 5% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยราชบุรีฯ มีพื้นที่เหลือเพียงพอที่จะสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพีใหม่ขนาด 700 เมกะวัตต์

รีไฟแนนซ์หนี้3.4หมื่นล้านก่อนก.ค.นี้

นายบุญชู กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้มีแผนจะปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครบกำหนด 1 ก.ค.2548 จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่ชำระอยู่ MLR-2 เป็น MLR-1.125 ทำให้บริษัทฯ มีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มอีก 1%

ซึ่งรูปแบบการรีไฟแนนซ์หนี้นั้น อาจจะเจรจากับเจ้าหนี้เดิมเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ หรือออกหุ้นกู้รวมกับกู้เงินสถาบันการเงินเพื่อนำมารีไฟแนนซ์หนี้ทั้งหมด คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 1 ก.ค.นี้ และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ราชบุรี เพาเวอร์ จำกัด ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 25% จะพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,400 เมกะวัตต์ โดยจะใช้เงินกู้ประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นเงินกู้เงินสกุลบาท 6,500-7,000 ล้านบาท และกู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ 480-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,400 เมกะวัตต์นี้ ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จชุดที่ 1 ในเดือน มี.ค. 2551 และชุดที่ 2 ในเดือนมิ.ย.2551

ส่วนวงเงินหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติให้บริษัทฯเสนอขายได้ไม่เกิน 7.5 พันล้านบาทนั้น บริษัทยังไม่มีแผนที่จะออกหุ้นกู้ในปีนี้ แต่คงขึ้นกับแผนการใช้เงินในอนาคต เพราะวงเงินดังกล่าวขอไว้เพื่อรองรับแผนการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าและให้เป็นเงินกู้โครงการของบริษัทลูก

กฟผ.ยันเข้าตลท.ไม่กระทบ RATCH

นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่ากฟผ.ไม่มีนโยบายที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลูกทั้งบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และบมจ.ผลิตไฟฟ้า (เอ็กโก้) ภายหลังจากกฟผ.เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของราชบุรีและเอ็กโก้แน่นอน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ากฟผ.จะไม่ทำโรงไฟฟ้าแข่งกับบริษัทในเครือฯ ดังนั้น กฟผ.จึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานว่าจะขอเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าประมาณ 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนที่เหลือให้เอกชนเข้ามาประมูลสร้างโรงไฟฟ้า เนื่องจากกฟผ.มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงระบบพลังงานไฟฟ้าและปริมาณสำรอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.