|

ธปท.กังวลศก.ทรุดดึงเวลาขึ้นดอกเบี้ย
ผู้จัดการรายวัน(21 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25 % เหตุเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงหลายปัจจัย ทั้งน้ำมัน-ความไม่สงบชายแดนใต้ ไม่หวั่นเงินทุนไหลออกเพราะนักลงทุนจะดูอัตราแลกเปลี่ยน และพื้นฐานของเศรษฐกิจมากกว่าดอกเบี้ย ขณะที่ดอกเบี้ยของโลกก็อยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกันกับแรงกดดันต่อเงินเฟ้อก็ยังต่ำอยู่ ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ฟันธงแบงก์ชาติกังวลเศรษฐกิจชะลอ แค่ดึงเวลารอดูสถานการณ์ถึงที่สุดคาดมิถุนายนจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรซื้อคืนระยะ 14 วัน หรืออาร์พี ไว้ที่ 2.25 % ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มีมากขึ้นจากปัจจัยลบต่างๆ เช่น ภาวะภัยแล้ง ผลกระทบจากสึนามิ การลดลงของการท่องเที่ยว ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง
“ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณของความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำผิดปกติ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่จำเป็นว่าจะต้องปรับขึ้นทุกครั้งที่ประชุม เพื่อช่วยให้ภาวะทางการเงินในขณะนี้สนับสนุนให้ธุรกิจที่ดำเนินกิจการภายใต้ความเสี่ยงได้ปรับตัวตาม ” นางอัจรา กล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าการไม่ปรับขึ้นครั้งนี้จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ถึง 0.50 % แต่คณะกรรมการคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการไหลออกของเงินทุนไปยังนอกประเทศ เนื่องจากนักลงทุนจะพิจารณาถึงแนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนและพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของประเทศส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำจึงไม่มีแรงกดดันมากนัก ไม่ใช่ไทยแตกต่างกับสหรัฐเพียงแค่สองประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคณะกรรมการจะคำนึงถึงแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่มีโอกาสเร่งตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ โดย ธปท.มีความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะเกินกว่าประมาณการ 0-3.5% แต่เหตุที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเท่าเดิม เพราะแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งภาวะเงินเฟ้อจะเร่งตัวตามราคาพลังงานเป็นหลัก โดยในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2 % และ 0.8 % ตามลำดับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่มีสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานจะอยู่สูงเกินกว่าเป้าหมาย และแม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้น 3 บาทต่อลิตรในเดือนมีนาคม แต่ราคาค่าขนส่งและบริโภคอุปโภคจะปรับขึ้นจริงๆ ในเดือนพฤษภาคม
ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ 44.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนในปี 2549 จะปรับขึ้นไปเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 46.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนมกราคมที่ ธปท.ประมาณการไว้ที่ 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 9.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อระบุว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น1%จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 0.02%และการปรับประมาณใหม่ราคาน้ำมันครั้งนี้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 27%
นางอัจนากล่าวต่อว่า ขณะนี้ธปท.ยังเชื่อมั่นว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี 2548 จะเกินดุล เนื่องจากในไตรมาสแรกนั้นมูลค่าการนำเข้าของไทยสูงขึ้นผิดปกติจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และการสะสมสินค้าคงคลังในบางชนิด เช่น เหล็กที่คิดว่าราคาจะสูงขึ้นแต่ช่วงต่อไป โดยการท่องเที่ยวและการส่งออกที่สูงขึ้นจะช่วยให้กลับมาเกินดุล
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าธปท.ได้ส่งสัญญาณที่จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้เอื้อต่อการส่งออกของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามารุมล้อม ทั้งราคาน้ำมัน เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ภัยแล้ง เป็นต้น
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้นคงยังไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ของปีนี้แน่นอน เนื่องจากสภาพคล่องของธนาคารยังมีเพียงพอในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารได้มีการขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้น
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส สแตนดาร์ดชาเตอร์ด สาขาประเทศไทย กล่าวว่าการที่ ธปท.ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเรื่องแนวโน้มของเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวเทียบน้ำหนักมากกว่าความกังวลเรื่องของภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมองว่าเป็นการดึงเวลาดูสถานการณ์ของเศรษฐกิจระยะหนึ่ง เมื่อถึงที่สุดแล้วการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในเดือนมิถุนายนจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ขณะนี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วัน จะต่ำกว่าดอกเบี้ยเฟดอยู่ประดับ 0.5 % และในวันที่ 3 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25 % ทำให้มีช่วงห่างเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นช่วงพอดีกับมีการเคลื่อนย้ายการลงทุนในตลาดทุนในภูมิภาคอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย เพราะดูผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทที่จดทะเบียนไตรมาส 1 ไม่ขยายตัวตามที่คาดไว้ และในขณะที่ราคาได้ปรับสูงก่อนหน้านี้ จึงอาจจะมีการโยกย้ายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียออกไป
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลเรื่องของราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้แนวโน้มของการเคลื่อนย้ายการลงทุนมีสูง และส่งผลถึงค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าลง ซึ่งหากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากจะกระทบกับภาวะเงินเฟ้อที่ราคาน้ำมันเป็นตัวเร่ง ดังนั้นเชื่อว่าธปท.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก คาดว่าทั้งปีจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.5 %
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|