จิมมี่ ไล อหังการแห่งสิ่งพิมพ์ฮ่องกง


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางการคาดคะเนถึงสภาพชีวิตของฮ่องกง หลังปี พ.ศ. 2540 เมื่อการปกครองฮ่องกง ถูกโอนคืนกลับไปให้จีนแผ่นดินใหญ่ตามสัญญาเช่าเมื่อ 99 ปีก่อน มีตัวแปรและปัจจัยต่าง ๆ ที่นำมาประกอบการพิจารณาพยากรณ์จำนวนมหาศาล ในจำนวนนี้มี จิมมี่ ไล นักธุรกิจสิ่งพิมพ์ปากกล้ารวมแทรกอยู่ด้วย

ธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ถูกมองว่ามีเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของตัวเองชนิดที่ไม่ยี่หระต่อเสียงของนานาชาติ จีนเคยยืนยันในความเป็นจีนเดียว ซึ่งในท้ายที่สุดไต้หวันก็ต้องหลุดพ้นจากความเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ให้จีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาแทนที่ ทำนองเดียวกันกับการยืนยันความเป็น "เรื่องภายในประเทศ" ในเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาอย่างนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และการตัดสินลงโทษผู้มีความคิดกระด้างกระเดื่อง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์พยานที่รับรู้กันโดยทั่วไป

แต่จิมมี่ ไล ก็ยังหวังว่า หากคนในฮ่องกงยืนหยัดจริง ๆ แล้ว ก็อาจจะทำให้ฮ่องกงเป็นเกาะที่มีการปกครองของตนเองได้ มิใช่อยู่ใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ๆ

จิมมี่ ไล เกิดในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กวางโจว เป็นทายาทของตระกูลที่มั่งคั่งหลังจากที่เขาได้เกิดเพียงปีเดียว พรรคคอมมิวนิสต์ก็ขึ้นมามีอำนาจ ทรัพย์สินของตระกูลถูกยึดไปหมด บิดาของไลเล็ดลอดหนีออกจากประเทศ ปล่อยให้ครอบครัวตกระกำลำบาก ไลต้องทำงานเลี้ยงชีพตั้งแต่อายุยังน้อย

เมื่ออายุ 9 ขวบ ไลไปช่วยยกระเป๋าให้นักเดินทางตามอาชีพ และได้ลิ้มรสช็อกโกเลตที่เป็นรางวัลตอบแทนค่าเแรงเป็นครั้งแรก ไลประทับใจกับช็อกโกเลต มากถึงกับตั้งปณิธานว่าจะไปอ่องกงเมื่อได้รู้ว่าล็อกโกเลต นั้นมาจากที่ไหน

เมื่อเขาอายุ 12 ไลก็ขอความช่วยเหลือจากญาติ จนได้รับใบอนุญาตเดินทางไปมาเก๊าจากที่นี่ เขาเล็ดลอดออกไปยังเขตปกครองของอังกฤษด้วยการซ่อนตัวอยู่ใต้ท้องเรือประมง เมื่อถึงฮ่องกง เขาก็เริ่มต้นทำงานในโรงงานผลิตถุงมือ เป็นคนกวาดพื้น ในช่วงนี้ไลได้คลุกคลีอยู่กับบรรดาคนงาน ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเจ้าพ่อใหญ่อยู่ฮ่องกง ไลขาดการติดต่อกับคนเหล่านี้ เพราะเห็นเข็มของตัวเองไปในทางอื่น เขาอุตสาหะทำงานในโรงงานอย่างขยันขันแข็ง ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็นผู้จัดการโรงงานเมื่ออายุ 20 ปี ไลเล่าว่า ช่วงเวลานั้นเองที่เขาเริ่มฝึกภาษาอังกฤษและเริ่มหุ้นกับเพื่อน เอาเงินออม 2,000 ดอลลาร์ ไปเล่นหุ้น ได้กำไรมาเป็นกอบเป็นกำถึง 150,000 ดอลลาร์ แล้วนำมาลงทุนซื้อโรงงานทอผ้าแล้วก่อตั้งบริษัทโฮลดิ้งคอมปะนี ในเวลาต่อมา ไลใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีจากเจ็กข้างถนน มาเป็นเศรษฐี 300 ล้านดอลลาร์

ความสำเร็จของจิมมี่ ไล เป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับคนบางคน คำเล่าลือเกี่ยวกับตัวเขาจึงมีออกมาต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าเขาเป็นสายของคอมมิวนิสต์ ที่ส่งเข้ามาแทรกซึมในแวดวงธุรกิจหัวกระทิของฮ่องกง บ้างก็ว่าเขาทำงานให้กับซีไอเอ สำหรับไลเอง เขามองตัวเองว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของฮ่องกง

การทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ของไล เริ่มต้น ในปี ค.ศ. 1990 ด้วยนิตยสารรายสัปดาห์ ชื่อว่า เน็กซ์ (Next) ซึ่งเน้นข่าวที่สร้างความตื่นเต้น รายงานการสืบสวนและเซ็กซ์ นิตยสารฉบับนี้ ยังคงเป็นตัวหลักของกลุ่มบริษัทสิ่งพิมพ์ของไล ซึ่งมีชื่อว่า เน็กซ์ มีเดีย กรุ๊ป (next media group) มีกำไรในปี 1994 ถึง 10 ล้านดอลลาร์ และคาดว่ากำไรหลังหักภาษีในปี 1995 จะตกอยู่ในราว 7 ล้านดอลลาร์

นิตยสารเน็กซ์รายสัปดาห์ของไลทำกำไรได้ 10 ล้านดอลลาร์ ในปี 1994 สำหรับแอปเปิล แดลี่ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งได้ปีเศษนั้น ยังขาดทุนอยู่วันละ 60,000 ดอลลาร์ แม้ว่าจะมียอดพิมพ์ถึง 310,000 ฉบับ และเป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีเป็นอันดับสองของฮ่องกง ไลกล่าวว่า เขาพร้อมที่จะทุ่มเงินลงไปกับแอบเปิล 39 ล้าน และกำลังเตรียมการสร้างโรงพิมพ์ทันสมัย อีก 77 ล้านดอลลาร์ ด้วยยอดจำหน่ายอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไลเชื่อว่าแอปเปิลจะเริ่มมีกำไรด้วยโฆษณาที่หลั่งไหลเข้ามาในปี 1997

จิมมี่ ไล เป็นข่าวดังมากตอนที่ออกหนังสือพิมพ์รายวัน แอปเปิลเดลี่

ความดังนั้นเนื่องมาจากแอปเปิลเดลี่ติดตลาดอย่างรวดเร็วเป็นประการสำคัญและอีก

ประการหนึ่ง เพราะรูปแบบการนำเสนอ ซึ่งแพรวพราวด้วยภาพสีน้ำ สำหรับคนที่ต้องการความเข้าใจที่รวดเร็วด้วยการดูรูปมากกว่าจะพิถีพิถันกับวรรณศิลป์ นอกจากนี้แล้ว แนวการตลาดที่แข่งราคาเหมือนกับจะมีเป้าหมายเพื่อโค่นคู่แข่ง ก็ทำให้แอปเปิลเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ (และเป็นข่าว) และหนังสือพิมพ์ด้วยกัน

แอปเปิลเปิดตัวในราคาที่ต่ำกว่าหนังสือพิมพ์รายวันอื่น ๆ ของฮ่องกงกว่าครึ่ง คือขายในราคาเพียงฉบับละ 2 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 7 บาท) ในขณะที่หนังสือพิมพ์ทั่วไป มีราคาถูกที่สุดไม่ต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 16 บาท)

ส่วนที่ทำให้แอปเปิลติดตลาด ก็มิใช่เรื่องราคาที่ถูก แต่เป็นเรื่องการให้ในสิ่งที่ผู้อ่านต้องการ ซึ่งทราบมาจากการสำรวจตลาด คอลัมน์ประสบการณ์ทางเพศที่เปิดต้อนรับข้อเขียนของผู้อ่าน เป็นสิ่งหนึ่งที่หนังสือพิมพ์ฮ่องกงไม่เคยทำกัน

เรื่องนี้อาจถือได้ว่าเป็นเคล็ดลับของความสำเร็จของจิมมี่ ไล อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง ก็อาจจะเป็นวิธีการบริหารของเขา ซึ่งจิมมี่ ไล บอกว่า เขามิใช่คนยึดมั่นถือมั่น หากสามารถเปลี่ยนแปลงยืดหยุ่นกับสิ่งที่ได้ตัดสินใจดำเนินการไปแล้วได้ในฉับพลัน หากเห็นว่ามันผิดคุณสมบัติอันนี้ อาจมองไนแง่ดีได้ว่ามันคือความไม่ดื้อรั้นดันทุรังกับสิ่งเก่า หรือความคิดเก่า หากพร้อมจะเปลี่ยนแปลงรับสิ่งใหม่ได้เสมอ

แต่สิ่งที่ทำให้จิมมี่ ไล โด่งดังมากที่สุด มิใช่เรื่องการรวยเร็วจนชวนให้กังขา ไม่ใช่วิธีการบริหาร หากเป็นการประกาศตัวที่จะสู้เพื่อเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นของสื่อมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีกำหนดจะเข้ามามีอำนาจปกครองฮ่องกงในปีหน้า

แม้ว่าจะได้มีการประกาศมาหลายครั้งหลายคราว่าระเบียบวิธีการดำเนินธุรกิจในฮ่องกงจะยังคงดำเนินไปในแบบเก่า ว่าฮ่องกงจะเป็นเมืองท่าเปิดเสมอ ว่ารัฐบาลจีนจะไม่เข้าไปแทรกแซงวิถีชีวิตของฮ่องกง ฯลฯ แต่ความเห็นวิตกว่า จะถูกลิดรอนเสรีภาพก็ยังคงมีอยู่เสมอ ทั้งก็ดูเหมือนผู้นำของจีน ก็ไม่หนักแน่นกับการวิจารณ์นักเช่นกัน

เมื่อปีกลายนี้ มีนักเขียนนการ์ตูนของหนังสือพิมพ์เซาธ์ไชน่า มอนิ่ง โพสต์ ของฮ่องกง ชื่อนายลาร์รี่ เฟจ์น จับเอาเรื่องตลกเก่ามาเขียนการ์ตูน มีเนื้อความในทำนองที่ว่า มีผู้เขียนคนหนึ่งกล่าวหาว่าผู้นำของจีนเป็นปัญญาอ่อน และก็ถูกศาลจีนตัดสินจำคุก 20 ปี นักเขียนประท้วงกับศาลว่าทำลงโทษรุนแรงนัก ก็ได้คำตอบว่า เพราะบังอาจเอา "ความลับของชาติ" ไปเปิดเผยต่อสาธารณชน

เรื่องตลกล้อนี้เก่ามาก จนฟังแล้วแทบจะไม่ขำ แต่นายลาร์ลี่ เฟจ์น ถูกไล่ออกจากงาน หนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชน่า มอนิ่ง โพสต์ ยืนยันว่า การปลดนายลาร์ลี่ เฟจ์น เป็นการปรับภายในบริษัท ซึ่งมีการลดพนักงานจำนวนหนึ่ง และเฟจ์น เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น มิได้มีสาเหตุมาจากเรื่องการเมือง

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเชื่อ และในช่วงที่เรื่องนี้กลายเป็นข่าวขึ้นมา จิมมี่ ไลน์ ก็ประกาศในทันทีทันควันว่า ยินดีรับนายลาร์รี่ เฟจ์น มาทำงานกับหนังสือพิมพ์แอปเปิลเดลี่

เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นการพยายามสร้างความเด่นดังให้ตัวเอง เพราะจิมมี่ ไลเอง ก็เคยได้ผลกระทบรุนแรงจากการวิจารณ์ทำนองนี้เหมือนกัน เมื่อเขาเขียนในบทบรรณาธิการของนิตยสารเน็กซ์ (next) เดือนกรกฏาคม ปี 1994 ว่านายกรัฐมนตรีหลี่ เผง ของจีน เป็น "ไข่เต่าที่มีปัญญาเท่ากับศูนย์" ร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อจิออร์ดาโน Gioradano) ที่ทำธุรกิจเฟื่องฟูอยู่ในประเทศจีนของนายไลก็ถูกปิดหมด

เรื่องนี้กระทบกระเทือนถึงผู้ถือหุ้น บริษัทจิออร์นาโด โฮลดิ้ง โดยรวมด้วยและจิมมี่ ไล ก็กล่าวในทำนองว่า เขาจะถอนตัวออกจากบริษัทจิออร์นาโด หากว่าทางการจีนจะอาฆาตเขาผ่านบริษัทนี้

จิออร์นาโด เป็นหนึ่งในบริษัทในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอของไล เป็นฐานการผลิตใหญ่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ และมีเป้าหมายตลาดในอนาคตอยู่ในแผ่นดินใหญ่ด้วยเช่นกัน

บริษัทนี้มีร้านค้าย่อยอยู่ 1,930 แห่ง ทั่วเอเชีย มียอดขายในปี 1994 สูง ถึง 370 ล้านอดลลาร์ เพิ่มขึ้นมา 73 เปอร์เซ็นต์ จากปี 1992

กำไรของจิออร์นาโด ไชน่า ก็จะสูงกว่าจะทิ้งไปอย่างไม่เสียดายเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1992 จิออร์นาโดมียอดกำไร 14.9 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเป็น 25.3 ล้าน ในปี 1994 แต่ไลได้กล่าวว่า ความสนใจของเขาในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องเงินทองและผลิตภัณฑ์ที่เขาขายในธุรกิจ แต่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ คือ อิสรภาพ

คำพูดเช่นนี้ น่าจะเป็นที่จับใจแก่นักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย แต่ทว่าความคลางแคลงใจก็ยังคงมีอยู่ นายอิวาน ตง นายกสมาคมผู้สื่อข่าวของฮ่องกง กล่าวว่า จำเป็นจะต้องอาศัยเวลาอีกสักหน่อย จึงจะบอกได้ว่า จิมมี่ ไล จะยืนหยัดอยู่ได้หรือไม่ เมื่อมีประเด็นที่เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันมากในอนาคต

นักธุรกิจอื่น ๆ ที่มิได้มองจิมมี่ ไล เป็นคู่แข่ง ก็มิได้อยากร่วมสังฆกรรมกับไลนัก ด้วยเกรงว่าอาจจะมีผลให้ธุรกิจของตัวเองในแผ่นดินใหญ่พลอยมีปัญหาไปด้วยว่ากันว่า บริษัทใหญ่ ๆ ที่เข้าไปทำธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ ล้วนแต่แสดงความเกรงอกเกรงใจผู้นำจีนกันอย่างออกหน้าออกตา (ดังกรณีที่ ลาร์รี่ เฟจ์น ถูกไล่ออกจากงาน)

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็มีคนที่ไม่ศรัทธาเสรีภาพตามแบบของจิมมี่ ไล เช่นกัน แนวการทำหนังสือพิมพ์ชนิดขายเซ็กส์ และความรุนแรง เป็นข่าวชนิดที่นักหนังสือบางกลุ่มไม่เห็นด้วยว่าสมควรจะได้เสรีภาพนัก อีกทั้งการใช้คำ ผรุสวาท เปรียบเปรยก็มิใช่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล แม้ว่ามันจะมีผลต่อความรู้สึกได้อย่างรวดเร็วก็ตามที

อีกมุมหนึ่ง ก็มีคนที่ศรัทธากับจิมมี่ ไล เหมือนกัน เป็นต้นว่า นายมาร์ติน ลี ส.ส. พรรคดีโมแครต ซึ่งได้รับความร่วมมือจากไลเป็นอย่างดี เมื่อขอให้บริจาคเสื้อยืดพิมพ์คำขวัญแสดงความรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน นายลีมองว่า ไลเป็นนักธุรกิจใจกว้าง

ความหวังของจิมมี่ ไล ที่จะให้คนฮ่องกงร่วมยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง เป็นเรื่องที่ไม่มีใครมองเห็นอนาคต แม้แต่ไลเอง ก็เตรียมความพร้อมที่จะอพยพครอบครัวไปอยู่อังกฤษ หากว่าแอปเปิล เดลี่ และกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ของเขามีอันเป็นไป จิมมี่ ไล เตรียมพร้อมไว้แล้วด้วยพาสปอร์ตอังกฤษ 25 ล้านดอลลาร์ ที่ลงทุนไว้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในแคนาดาและฝรั่งเศส กับผู้บริหารมืออาชีพ ที่เขาจะมอบหมายงานไว้ให้ทำแทนเขาในฮ่องกง

จิมมี่ ไล ไม่เคยเปรียบตัวเองว่าเป็นเดวิด ที่จะหาญสู้กับโกโลแอ็ท ปักกิ่ง ทั้งยังไม่เคยมีใครเปรียบเขาว่าเป็นดอนกิโฮเต้ ผู้สถาปนาตัวเองเป็นอัศวินที่จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่โลกฮ่องกง แต่จิมมี่ ไล ก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่ถูกจับตามอง ทั้งจากนักธุรกิจที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับจีน แผ่นดินใหญ่อย่างเลี่ยงไม่พ้น ในโลกซึ่งเศรษฐกิจล้วนส่งผลกระทบต่อกันและกัน และจากประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะในฮองกง ที่ต่างได้รับผลกระทบจากความผันแปรทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยตรง

จิมมี่ ไล อาจจะมีส่วนเปลี่ยนแปลงให้บ้างก็ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.