|
ปูนซีเมนต์เอเซีย ขอโตแบบ "คนตัวเล็ก"
โดย
สันทิฏฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ปูนซีเมนต์เอเซีย คือหนึ่งในสองปูนใหม่จากยุคเปิดเสรี ที่เจ้าตลาดเดิมต่างจับตา แต่จากนโยบายที่กลัวไม่ได้เกิด และความลังเล ทำให้วันนี้ ปูนซีเมนต์เอเซีย เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ภายใต้สถานกานณ์บีบรัด ปูนซีเมนต์เอเซียกลับหันมาบีบตัวเอง เลือกจำกัดการเติบโตของตนเพื่อทางรอดเท่านั้น
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ในแวดวงธุรกิจเมืองไทย สายตาเกือบทุกคู่ต่างต้องจับจ้อง เมื่อชาตรี โสภณพนิช แห่งแบงกกรุง์เทพขยับการลงทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตปูยซีเมนต์ เมื่อราว 6 ปีก่อน
"ปูนซีเมนต์เอเซีย" คือ ผู้ผลิตปูนรายใหม่ ในขณะนั้น ที่หลายคนมองว่าน่าเติบใหญ่ได้ในอนาคตอันใกล้ พร้อมกับสายอตุสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่จะตามมาเช่นเดียวกับผู้ผลิตปูนเอเซียรายอื่นๆ
แต่มาวันนี้ เมื่อทุกอย่างชัดเจนว่าการมาครั้งนั้นไม่ได้หวังความยิ่งใหญ่แต่อย่างใด ความน่าสนใจในองค์กรแห่งนี้จึงค่อยๆลดระดับลงเหตุผลแห่งนโยบายจำกัดการเติบโตของตนเอง มีที่มาอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจแทนมากกว่า ปูนซิเมนต์เอเซีย เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตปูนแห่งแรกเมื่อปี 2533 และสามารถผลิตได้ปลาย
ปี 2536 ซึ่งถ้าถามว่าล่าช้าหรือไม่ แน่นอนย่อมล่าช้า ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของปูนซิเมนต์เอเซีย ก็ยอมรับว่า ช้ากว่ากำหนดที่วางไว้พอสมควร
ความล่าช้าที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้บริษัทเสียโอกาสทางธุรกิจเท่านั้น
งบประมาณในการก่อสร้างได้บานปลายขึ้นไปถึง 6,500 ล้านบาท จากที่วางไว้ประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งความล่าช้าและงบประมาณที่บานปลายนี้ ส่งผลให้กิจการของบริษัทมีกำไรกลับคืนมาไม่ได้ดังเป้าหมายในแรกเริ่มของการลงทุนกลุ่มผู้ลงทุนตั้งความหวังกันไว้
มาถึงโรงงานปูนซิเมนต์โรงที่สอง จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะสามารถทำการผลิตออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2539 นี้ แต่จากแนวโน้มที่เห็น ผู้บริหารยอมรับว่าโรงปูนโรงทีสองนี้ น่าจะผลิตได้ตอนต้นปี 2540 เสียแล้ว
ความล่าช้าในแผนงานด้านการก่อสร้างทั้งสองโครงการนั้น ทำให้ปูนซิเมนต์เอเซีย ต้องกลับมาดูความผิดพลาดของตนเอง ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นมาโดยตลอด ซึ่งทำให้เสียโอกาสไปมาก
" ผมมันแค่ลูกจ้าง ก็ต้องประชุมกันไปตลอด"
คำกล่าวของ วีระ วีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทปูนซิเมนต์เอเซีย จำกัด ที่บ่งบอกอะไรมากมาย
วีระ วีสกุล นับเป็นนักบริหารมืออาชีพอีกผู้หนึ่ง ที่กลุ่มทุนแห่งนี้ ให้ความไว้วางใจมอบอำนาจบริหารและการตัดสินใจ
ในระยะแรก วีระ มีบทบาทมากทีเดียว และอาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของปูนซิเมนต์เอเซีย ในยุคบุกเบิกมาจากฝีมือของวีระล้วนๆ
ด้วยบุคลิกประสานมิตรภาพกับทุกคน แม้กระทั่งคู่แข่งก็ตาม จนสะท้อนออกมาเป็นนโยบายของปูนซิเมนต์เอเซียเลยทีเดียว
ที่ฮือฮามากพอสมควรในขณะนั้น ก็คือ การที่ปูนซิเมนต์เอเซียได้ทำการแลกสัมปทานเหมืองหินปูนกับทางปูนซิเมนต์ไทยหรือปูนใหญ่
ครั้งนั้น แม้ว่าจะวิเคราะห์กันว่า ปูนใหญ่จะเอาปูนซิเมนต์เอเซีย เป็นตัวปะทะกับทางทีพีไอโพลีน ซึ่งขณะนั้นนับเป็นรายใหม่อีกรายที่ร้อนแรงและดำเนินนโยบายรุกเร็ว ด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่สำคัญดูน่ากลัวไม่น้อย
แต่ วีระ ก็แก้ต่างในประเด็นนี้ อย่างน่าฟังที่ว่า
" การร่วมมือกับทางปูนใหญ่ ทำให้เราได้ภูเขา แหล่งวัตถุดิบสำคัญ เมื่อจะซื้อปูนเม็ดจากเขาก็สะดวกเพราะห่างกันแค่ 2-3 กิโลเมตร ถ้าเครื่องเกิดเสีย หรือสินคาป้อนตลาดไม่ทัน ความร่วมมือส่วนนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้มาก"
พร้อมกับอีกหลายเหตุผลต่าง ๆ นานา ถึงการประสานผลประโยชน์ จนที่สุดปูนซิเมนต์ไทยก็ได้เข้าร่วมถือหุ้น 10% ในปูนซิเมนต์เอเซีย เมื่อกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา
ภาพลักษณ์ของปูนซิเมนต์เอเชียดูจะแตกต่างราวฟ้ากับดินกับปูนซิเมนต์ในนามทีพีไอโพลีน ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ทั้ง ๆ ที่ต่างเป็นโรงปูนขนาดใหญ่ ในยุคเปิดเสรีปูนซิเมนต์ไทยมาด้วยกัน และก็มีเพียง 2 โรงนี้เท่านั้น ที่เป็นโรงปูนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น
ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพระดำเนินนโยบายผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ จึงทำให้ปูนซิเมนต์เอเชีย ดูจะเติบช้าไปเสียหน่อย เมื่อมองถึงศักยภาพของกลุ่มทุนแห่งนี้
เมื่อถามในเชิงเปรียบเทียบกับความรุดหน้าของทีพีไอโพลีน วีระจะตอบว่า ที่นี่เป็นการบริหารงานโดยมืออาชีพที่ถูกจ้างเข้ามา อำนาจตัดสินใจแม้จะมีแต่ก็เป็นเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น การตัดสินใจในโครงการต่าง ๆ เพื่อจังหวะการรุกเร็วจะต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบเสียก่อน
ความหมายของวีระ ก็คือ การตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่จะต้องใช้เงินทุนมาก ๆ ย่อมต้องรอการตัดสินใจจากผู้ร่วมทุน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้แผนงานการขยายโรงปูนล่าช้ามาโดยตลอด
"ที่นี่ไม่ใช่เถ้าแก่ทำเองของทีพีไอ เขาเถ้าแก่ทำเอง ย่อมจะรุกเร็วเป็นธรรมดา" คำกล่าวของวีระ
แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะบุคลิกขององค์กรแห่งนี้
การประสานผลประโยชน์ที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้น ด้วยเกรงว่าจะไม่สามารถเกิดในวงการนี้ได้ เป็นตัวฉุดเสียมากกว่าจนถึงวันนี้ ปูนซิเมนต์เอเชีย จะขยับรุกแต่ละครั้งก็ต้องเกรงใจคู่แข่งที่ดึงมาเป็นพันธมิตรไปเสียทุกเรื่อง แผนงานการขยายกำลังการผลิตจึงกลายเป็นเพียงการก้าวตามเพื่อหวังส่วนแบ่งตลาดเพียงน้อยนิดเท่านั้น มิใช่การก้าวรุกเพื่อหวังฟาดขึ้นหน้าผู้ใด
ผิดกับทางทีพีไอโพลีน ที่ประกาศเจตนารมณ์มาตั้งแต่แรก
แต่จากทิศทางที่แตกต่างกันของสองผู้มาใหม่ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นความยากลำบากที่แตกต่างเช่นกัน
ปูนซิเมนต์เอเชีย ก้าวขึ้นมามีชื่อในวงการนี้ได้ด้วยเส้นทางที่เกือบเรียกได้ว่า โรยด้วยกลีบกุหลาบทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะนโยบายผูกมิตรรอบด้าน
ขณะที่ทีพีไอโพลีน กว่าจะลืมตาอ้าปากได้ก็แทบก็แทบกระอักเลือดทีเดียว และถ้าไม่ใช่นักต่อสู้อย่างประชัย เลี่ยวไพรัตน์ แล้ว ทีพีไอโพลีน ก็อาจไม่ได้เกิดเสียด้วยซ้ำ
เพราะทั้งปูนใหญ่และปูนซิเมนต์นครหลวงหรือปูนกลาง ต่างรุมจิกรุมตีปูนทีพีไอ ทั้งภาคการตลาดและกลยุทธ์แอบแฝงต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องของปูนกลางต่อทีพีไอในเรื่องเครื่องหมายการค้า หรือการปิดกั้นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบของทีพีไอโพลีน ที่เรื่องราวต้องถึงโรงถึงศาลมาแล้ว และอีกหลาย ๆ กรณีที่ทีพีไอโพลีนต้องปากกัดตีนถีบกว่าจะได้เกิด
แต่เมื่อฝ่าฟันมาได้ก็ย่อมสมใจ ผิดกับทางปูนซิเมนต์ ที่ ณ วันนี้ ดูจะหงอยเหงาเหลือเกิน ยิ่งมองถึงอนาคต เมื่อปูนซิเมนต์ล้นตลาด ยิ่งน่าเป็นห่วง
อย่างไรก็ดี วีระ ยืนยันว่า ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า สภาพการแข่งของอุตสาหกรรมยังไม่น่ากังวลมากนัก เพราะผลิตออกมาเท่าไรก็จำหน่ายได้หมดเนื่องจากความต้องการยังมีอยู่มาก และหลังจาก 5 ปี แล้วก็ต้องมาดูอีกครั้งว่า ตลาดจะเป็นอย่างไร
มีการวิเคราะห์กันว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าปริมาณปูนซิเมนต์ที่ผู้ผลิตในไทยผลิตได้จะมากกว่าความต้องการของตลาด และเมื่อถึงตอนนั้น จะต้องมีการส่งออกปูนซิเมนต์จากไทย หรือไม่ การแข่งขันในการทำตลาดจะร้อนแรงขึ้นทันที ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรายเล็กที่ฐานตลาดยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ ย่อมจะเสียเปรียบ และอยู่อย่างยากลำบากขึ้น
ปูนซิเมนต์เอเชีย แม้จะมีกำลังการผลิตมากกว่า 5 ล้านตันต่อปี เมื่อถึงตอนนั้น แต่ก็ใช่ว่า จะปลอดภัยซะทีเดียว ทั้งนี้ เพราะการขยายงานที่ล่าช้าเกินไป
มองถึงกำลังการผลิตของแต่ละบริษัท ในฐานะผู้ผลิตปูนซิเมนต์รายใหญ่ แล้วจะเห็นว่าปูนซิเมนต์เอเชีย ขยับก้าวช้ามาก และเมื่อขยายงานไปสู่โรงปูนแห่งที่สองแล้วก็หยุดนิ่งอยู่กับที่อีก ผิดกับ 3 รายใหญ่ที่ขยับก้าวอย่างต่อเนื่องเกือบตลอดเวลา
อย่างกำลังการผลิตในปี 2540 ปูนซิเมนต์ไทย จะมีกำลังการผลิตถึง 20.4 ล้านตัน ปูนซิเมนต์นครหลวง 12.3 ล้านตัน และทีพีไอ 12 ล้านตัน ขณะที่ปูนซิเมนต์มีเพียง 5 ล้านตันเท่านั้น และยิ่งมองถึงส่วนแบ่งการตลาดแล้วจะพบตัวเลขชัดเจนว่า ยิ่งเวลาผ่านไปส่วนแบ่งการตลาดของปูนซิเมนต์เอเชีย ยิ่งลดต่ำลงที่น่าแปลกใจก็คือ ทิศทางนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารของปูนซิเมนต์เอเชียคาดการณ์ไว้และพร้อมรับสภาพที่จะเกิดขึ้น
ในปี 2540 นี้เองที่ทิศทางว่าปูนซิเมนต์จะล้นตลาดเริ่มต้นขึ้นมา เพราะคาดการณ์กันว่า ในปี 2540 ความต้องการใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศจะมีเพียง 45 ล้านตัน ขณะที่กำลังการผลิตจะมีมากถึง 50 ล้านตันทีเดียว
แนวโน้มที่เกิดขึ้นแม้ว่าวีระจะกล่าวเสมอว่ายังไม่น่ากลัวมากนัก แต่ก็ยอมรับว่าปูนซิเมนต์เอเชีย จะต้องปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์
การปรับตัวในเรื่องของการขยาย กำลังการผลิตเพื่อก้าวให้ทันคู่แข่งเป็นทางเดินที่ปูนซิเมนต์เอเชียไม่เลือก
วีระ กล่าวว่า เราคงไม่เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อที่จะต่อสู้ในเรื่องต้นทุนและความใหญ่โตของธุรกิจ แต่เราจะหันมาเน้นความเป็นคุณภาพขององค์กรมากกว่าเพื่อให้สามารถยืนอยู่ได้ภายใต้การแข่ง
ขันที่รุนแรง
" สร้างโรงปูนทีหนึ่งใช้เงินห้า-หก พันล้าน เราไม่มีเงินขนาดนั้น ต้องดูว่าเรามีเงินหรือเปล่า ถ้ามีเงินมันง่ายนิดเดียว เมื่อไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ แต่สถานการณ์บีบให้เราต้องต่อสู้ เราก็คงต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์ ไม่เช่นนั้นคงอยู่ไม่ได้" วีระ กล่าว
แรงบีบที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ปูนซิเมนต์เอเชีย ต้องปรับเปลี่ยนอยู่ 2 ประการหลัก
ประการแรก จำเป็นต้องนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุน ทั้งนำมาใช้หนี้และขยายงาน
ประการที่สอง เปลี่ยนแปลงนโยบายหลักขององค์กร จากที่วางว่าจะรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในลักษณะครบวงจร กลายเป็นการเน้นเฉพาะอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์เพียงเท่านั้น
ในปี 2540 ปูนซิเมนต์เอเซีย วางแผนว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในปี 2539 นี้เงินทุนที่ได้มาส่วนหนึ่งจะนำไปใช้หนี้าจากการกู้มาลงทุนในโรงปูนแห่งที่สอง และอีกส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ในการขยายโรงงานปูนแห่งที่สาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด และอยู่ระหว่างการประชุมที่ระยะหลังวีระมักกล่าวว่า ประชุมมากเกินไปจนทำให้งานขยายล่าช้า
สำหรับโรงปูนแห่งที่สามของปูนซิเมนต์เอเซียนั้น มีการพูดถึงกันมาอย่างน้อยตั้งแต่กลางปี 2538 แต่จนขณะนี้ทุกอย่างยังไม่สรุป อย่างไรก็ดี ผู้บริหารของปูนซิเมนต์ยืนยันว่า โรงสามเกิดแน่โดยอาจจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ในเขตสัมปทานเดิม หรืออาจเป็นเขตสัมปทานใหม่ บริเวณภาคใต้ตอนบน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการให้สัมปทานเหมืองหิน
มีบางกระแสระบุว่า เงินทุนที่ได้มาจากนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น จะถูกกันออกมาเพื่อเตรียมลงทุนในโครงการเหล็กครบวงจร ซึ่งกลุ่มทุนแห่งนี้วางโครงการไว้นานหลายปีแล้ว แต่การเจรจาครั้งล่าสุดของกลุ่มผู้ถือหุ้น มีแนวทางใหม่ที่ว่าการลงทุนในโครงการเกี่ยวเนื่องนั้น ปูนซิเมนต์เอเซียจะแค่เข้าร่วมทุนเท่านั้นไม่ใช่เป็นตัวหลักอย่างที่วางแนวทางทางไว้แต่ต้น และนี่คือการเปลี่ยนแปลงในประการที่สองขององค์กรแห่งนี้
ปัจจุบันปูนเอเซีย ถือหุ้นโดยตระกูลโสภณพนิช และชาตรี โสภณพนิช 25% กลุ่มน้ำเฮง ซึ่งดำเนินธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จและเหล็กถือหุ้น 25% บริษัท กระเบื้องโอฬาร 10% หุ้นจำนวน 30% ถือโดยรายย่อย และสุดท้ายบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ถืออยู่ 10% ซึ่งเข้ามาถือเมื่อปีเศษที่ผ่านมา และไม่อาจปฏิเสธว่าเพราะสายสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อนสนิทระหว่าง วีระ กับทวี บุตรสุนทร " เบอร์สอง" ของปูนใหญ่
"ปูนซิเมนต์มีโครงการขยายการลงทุนในอนาคตอย่างแน่นอน แต่เป็นเรื่องระยะยาว และเน้นการลงทุนในเรื่องกิจกรรมปูนซิเมนต์เท่านั้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องแต่ไม่ปูนซิเมนต์โดยตรงก็ไม่ทำ" นภดล รมยะรูป กรรมการรองผู้จัดการ กล่าว
ผู้ผลิตปูนซิเมนต์ของไทยที่มีอยู่ส่วนใหญ่มักจะมีอุตสาหกรรม เกี่ยวเนื่องเข้ามารับช่วงตลอด ไม่เว้นแม้กระทั่งรายใหม่อย่างทีพีไอโพลีน หันกลับมามองปูนซิเมนต์ กลับยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่จากคำกล่าวของนภดล ชัดเจนเลยว่า จากนี้ไป ปูนซิเมนต์เอเซียจะก้าวเดินอย่างไร
นภดล ยังให้เหตุผลที่ปูนซิเมนต์ เอเซีย ตัดสินใจทิ้งแนวทางดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องในลักษณะครบวงจรว่า ทำอุตสาหกรรมครบวงจร นั้นบางครั้ง ทำให้มีปัญหา 3 ประการคือ
1. องค์การใหญ่ เกินไป อืดอาด
2. ต้นทุน ค่าใช้สูง
3. บริหารงานยาก
ปูนซิเมนต์เอเซียพิจารณาแล้วเห็นว่า ทิ้งคำว่าครบวงจรแล้วหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กร ดูจะเหมาะสมกว่า
การปรับปรุงนั้น นภดล กล่าวว่าจะเน้นการดำเนินการในส่วนของงานบริการเพื่อที่จะแจ้งให้งานบริการของเราดีที่สุดในประเทศไทย โดยเราไม่เน้นความเป็นยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้
ก่อนหน้านี้ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้วิเคราะห์ไว้ว่า ในอีก 4-5 ปี ข้างหน้า ความต้องการใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศจะถึงจุดอิ่มตัว อย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยความต้องการจะทรงตัวอยู่ที่ 1,000 กก. ต่อคนต่อปี ขณะที่ปัจจุบันไทยมีอัตราความต้องการประมาณ 500 กก. ต่อคนต่อปี
ผลจากตรงนั้น ทำให้ทางปูนใหญ่ ต้องปรับแนวการลงทุนขยายไปสู่ด้านอื่นมากขึ้น เพื่อพยุงให้ผลการดำเนินงานไม่ตกต่ำลง
"เมื่อปูนอิ่มตัว ธุรกิจนี้ก็ไม่คุ้มที่จะลงทุน เพราะโรงงานปูนซิเมนต์แต่ละแห่งจะใช้เงินลงทุนมาก อีกทั้งการแข่งขันปูนในอนาคตก็จะรุนแรงมากขึ้น โดยทุกค่ายจะหันไปเน้นเรื่องคุณภาพ ตลอดจนกลยุทธ์ทางด้านราคา ซึ่งทางเครือเห็นว่าควรที่จะหันไปเพิ่มทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ที่ผลตอบแทนดีกว่า" ผู้บริหารปูนใหญ่กล่าว
จังหวะ ก้าวที่ล่าช้าของปูนซิเมนต์เอเซีย ทำให้ต้องหันมาเน้นการปรับเปลี่ยนทิศทางองค์กรดังที่เห็นกันอยู่
อีกไม่กี่ปีข้างหน้า คงจะได้รู้กันว่า ปูนซิเมนต์เอเซียจะยืนอยู่ได้อย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|