|
ดีซี - ลอจิสติกส์ขุนรายได้มหาศาลในอนาคต
โดย
สมสมัย ศักดาวัฒนานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ปี ค.ศ. 2000 โฉมหน้าธุรกิจค้าปลีก- ค้าส่ง ของไทย กำลังก้าวเข้าสู่การแข่งขันภายใต้รูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม และเป็นยุคที่สุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารธุรกิจขายปลีกในเครือเซ็นทรัลเชื่อมั่นว่า ธุรกิจค้าปลีกของไทย กำลังก้าวเข้าสู่ยุคการบริหารต้นทุนอย่างแท้จริง
" การลดต้นทุนเป็นเรื่องใหญ่ คือ ถ้าใครสามารถลดต้นทุนได้ ก็จะมีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน เทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูลออนไลน์ จะเข้ามามีบทบาทมาก"
ศูนย์กระจายสินค้า หรือ ดีซี ( Distribution Center) และระบบคลังสินค้าและเครือข่ายกระขายสินค้า ( Logistics) จึงกลายเป็นแนวโน้มใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญของวงการค้าปลีกไทย ที่จะมีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
การกำเนิดช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ ในรูปแบบที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในเมืองไทย อาทิ ดิสเคาน์สโตร์ แมส ดีพาร์เม้นท์ ซูเปอร์มาร์เกต สแตนด์ อะโลน ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งทุกค่ายกำลังเร่งรีบขยายสาขา ยังไม่นับรวมบรรดาห้างสรรพสินค้าและคอนวิเนียนสโตร์ที่กระจายอยู่ตามย่านชุมชน ที่ล้วนนำกลยุทธ์เรื่องราคาสินค้าเข้ามาในเกมแข่งขัน
นับเป็นการเปิดช่องทางให้ธุกริจการรับส่งและกระจายสินค้ามีโอกาสแจ้งเกิดได้ไม่ยากเย็น โดยเฉพาะยิ่งเมื่อรูปแบบร้านค้าปลีกเหล่านี้เริ่มขยายตัวไปตามต่างจังหวัดด้วยแล้ว ยิ่งเป็นปัจจัยเอื้อให้ธุรกิจส่งและกระจายสินค้าเพิ่มโอกาสเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว
ทีดีซี ของชมรมค้าปลีกภูธรเป็นรายแรกที่นำระบบดีซี เข้ามา หลังจากนั้นเซ็นทรัลและโรบินสัน 2 พันธมิตร ก็จับมือกับเดวิดโอลดิ้ง ตั้งดีซีอาร์ เป็นโฮลดิ้ง คอมปะนี เข้าซื้อกิจการของทีดีซี และเปลี่ยนชื่อเป็นเดวิด โฮลดิ้ง ขณะที่ค่ายซีพี ก็ให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการเช่นกันแต่ก็พลาดโอกาสไป
ล่าสุดจัสโก้ ดึงเรียวโชกุ ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าและเป็นผู้ค้าส่ง ในญี่ปุ่นเข้าร่วมหุ้น ตั้งบริษัท อาร์เอส-ไทยแลนด์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจดีซีในไทย แต่ภายใต้เงื่อนไขคือรับส่งสินค้าให้เฉพาะจัสโก้ เท่านั้น
ขณะที่บรรดาผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคระดับ แนวหน้า ไม่ว่าจะเป็นลีเวอร์ฯ สหพัฒน์ฯ คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ พี แอนด์ จี ต่างให้ความสนใจในเรื่องของดีซี ถึงแม้ปัจจุบัน ดีทแฮล์ม และเอฟอีซีลิค จะมีศูนย์กระจายสินค้าแต่ก็กำจัดขอบเขตเฉพาะสินค้าในสังกัดเท่านั้น
วิโรจน์ ภู่ตระกูล นักการตลาดที่สร้างลีเวอร์ฯ จนประสบความสำเร็จมาแล้ว บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แห่งสหกรุ๊ป ต่างมีความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจกระจายสินค้าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการบริหารต้นทุนเพราะศูนย์กระจายสินค้าและลอจิสติกส์ นับเป็นตัวจักรที่จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่ง การแบกรับสต๊อกสินค้า การจัดการเกี่ยวกับเอกสาร มีผลทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลงได้
แม้ธุรกิจรับส่งและกระจายสินค้าจะมีแนวโน้มที่สดใส แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ ปัจจุบันจึงพบว่ายังมีผู้ประกอบการด้านนี้น้อยมากที่เปิดตัวในลักษณะพร้อมเปิด บริการกระจายสินค้าให้กับลูกค้าทั่วไป อาทิ เดวิดโอลดิ้ง จากออสเตรเลีย จับมือกับเซ็นทรัลและโรบินสัน ทีเอ็นที จากค่ายล็อกเล่ย์ ซึ่งเป็นระบบจากออสเตรเลีย เช่นเดียวกับเดวิด โอลดิ้ง และอินซ์เคป ลอจิสติกส์
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า อินช์เคป ลอจิสติกส์ หากเป็นมวยก็มีแต้มต่อเหนือคู่ต่อสู้ เนื่องจากความเป็นกลางมากกว่าเดวิด โอลดิ้ง ที่ถือหุ้นโดยเซ็นทรัลและโรบินสัน ซึ่งในระยะหลัง 2 ค่าย เริ่มหันมาให้ความสนใจด้านการผลิตสินค้า อินเฮาส์แบรนด์ การที่ซัปพลายเออร์ จะเลือกใช้บริการอาจจะกังวลเรื่องความเป็นกลางในเรื่องข้อมูลด้านการตลาด
ขณะที่ทีเอ็นที นับเป็นศูนย์กระจายสินค้าน้องใหม่ เมื่อเทียบกับอินซ์เคป ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการจัดจำหน่ายมานานแล้ว ย่อมมีภาษีดีกว่า
" ผมมีความเห็นว่า ในที่สุดแล้ว ซัปพลายเออร์คงจะต้องมองที่ความชำนาญ ของแต่ละบริษัทมากว่าสินค้าของเขา เหมาะที่จะใช้บริการของค่ายใด
ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะเลือกใช้ทั้ง 2 แห่ง คือถ้าเข้าซุปเปอร์มาร์เกตอาจจะเป็นเดวิด โอลดิ้ง แต่ถ้าจะเข้าช่องทางอื่นอินซ์เคป ลอจิสติกส์ ก็น่าจะให้ขอบเขตด้านช่องทางที่กว้างกว่า" สุทธิชาติ กล่าวกับ " ผู้จัดการ"
ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า ในอนาคตอันใกล้นี้
จะมีบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจด้านรับส่งและกระจายสินค้าเข้าสู่เมืองไทยมากขึ้น และกลายเป็นธุรกิจที่มูลค่ามหาศาลอย่างแน่นอน
แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินถิ่นข้างสูง อีกทั้งมาร์จิ้นต่ำ ดังนั้นโอกาสที่จะแจ้งเกิดในตลาดได้คงจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญที่ว่าต้องอาศัยวอลุ่มสินค้าที่มีปริมาณมากเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการบริหารสต๊อกสินค้า การขนส่งเป็นสำคัญ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|