วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ไล่ตามเทคโนโลยีเพื่อสร้างความทันสมัย?

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ในโลกยุค digital ที่ผู้คนถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยเครือข่ายสารสนเทศ อุปกรณ์ที่มีพื้นฐานจากคอมพิวเตอร์ ทวีความสำคัญ ขณะที่การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้กลายเป็นวาทกรรมในแวดวงการศึกษาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่เมื่อพิจารณาจากหลักสูตรระดับอุดมศึกษา ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และยังมีความไม่ชัดเจนในทิศทางอีกมากเช่นกัน

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง ที่สะท้อนกระบวนทัศน์ในการจัดวางหลักสูตร เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตขึ้นของระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่โลกยุคใหม่

การเกิดขึ้นของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. ในปี 2530 มีลักษณะที่ไม่แตกต่างจากพัฒนาการของภาควิชาดังกล่าวในสถาบันการศึกษาแห่งอื่นๆ ที่ล้วนแต่มีรากฐานมาจากภาควิชาวิศวกรรม ไฟฟ้ามากนัก อันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการ ขององค์ความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมไฟฟ้า ที่ได้งอกเงยและข้ามกลายไปเป็นพื้นฐานในความรู้ว่าด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนที่จะเคลื่อนสู่การสร้างอุปกรณ์ที่เรียกว่า คอม พิวเตอร์ในปัจจุบัน

จุดที่น่าสนใจประการหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นความสับสนและความล้มเหลวในเชิงของการจัดวางนโยบายการศึกษา และแนวทางในการพัฒนาประเทศ น่าจะอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่าด้วยการก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. เมื่อต้น ปี 2531 โดยโครงการจัดตั้งดังกล่าวมิได้อยู่ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดม ศึกษา ฉบับที่ 6 (2530-2534) และแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2531 แต่อย่างใด

ปรากฏการณ์ในลักษณะดังกล่าวอาจได้รับการนิยาม ในฐานะที่เป็นข้อขัดข้องทางเทคนิควิธีของระเบียบราชการ แต่ในความเป็นจริง กรณีเช่นนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งในอีกหลายกรณีของการไม่สอดประสาน และการขาดวิสัยทัศน์ในการจัดหลักสูตรทางการศึกษา ทั้งที่ควรจะเป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญในระดับต้นๆ ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหลักในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมจากสังคมเกษตรกรรม ไปสู่การเป็นสังคมอุตสาหกรรมและสังคมสารสนเทศ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนของสังคมไทยในห้วงเวลาดังกล่าวแล้ว กล่าวได้ว่านี่เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศอีกครั้งหนึ่ง

"การจัดวางบทบาทหน้าที่ระหว่างหน่วยงานของรัฐ ขาดความชัดเจน ขณะที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยพึงใจที่จะเป็นผู้บริโภค ด้วยการซื้อและรับนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ มากกว่าที่จะคิดสร้าง และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจึงทำให้มีผลกระทบรุนแรง เพราะสังคมธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยไม่มีพื้นฐานที่แท้จริงรองรับ" ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. ชี้ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ไว้อย่างน่าสนใจ

สอดคล้องกับปรัชญาและวัตถุ ประสงค์ของหลักสูตรปริญญาตรี ที่ระบุว่า เพื่อผลิตบัณฑิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่มีความรู้ด้านสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ ทั้งด้าน hardware และ software ตอบสนองความต้องการทั้งภาครัฐและเอกชน และการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาที่ใช้คอม พิวเตอร์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี เส้นแบ่งระหว่างวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Enginerring) วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ดู จะมีความซ้ำซ้อนและใกล้เคียงกันจนหลายครั้งก่อให้เกิดความสับสนไม่น้อย

"ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสามวิชามีเส้นแบ่งที่ชัดเจนพอสมควร ในลักษณะที่ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เป็นการศึกษาในเชิงทฤษฎีและวิชาการ ขณะที่วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ จะเน้นที่วิวัฒนาการของเทคโนโลยีและการปรับปรุงแก้ไขดัดแปลง ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการศึกษาในฐานะผู้ใช้งานเป็นหลัก" ดร.บัณฑิต ทิพากร หัวหน้า ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พยายามชี้ให้เห็นความแตกต่าง

แม้ว่าโดยหลักการ หลักสูตรของวิชาการทั้ง 3 แขนงจะมีความแตกต่างกัน แต่ปรากฏว่าในโลกของตลาดแรงงานที่เป็นจริง ผู้สำเร็จการศึกษาก็เผชิญกับปัญหาความชัดเจนในการประกอบอาชีพอยู่ไม่น้อย

"ตลาดแรงงานและผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย ยังขาดความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของบัณฑิต และองค์ความรู้ที่บัณฑิตจากทั้ง 3 แขนงวิชามีทำให้ในหลายกรณีมีการจ้างบัณฑิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ไปทำหน้าที่ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้ความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่ามีวิศวกรคอม พิวเตอร์อยู่ในสำนักงานจะได้ประโยชน์กว่า ซึ่งในความเป็นจริงประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมอบหมายงานที่ถูกต้องให้วิศวกรต่างหาก" ดร.บุญเจริญ ศิริเนาวกุล ชี้ให้เห็นปัญหา

ความไม่ชัดเจนของระบบการจ้างงานมิได้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในแวดวงธุรกิจเอกชนเท่านั้น หากแต่ บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการจัดการและพัฒนาระบบสารสนเทศ และคอมพิวเตอร์ ก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

"ปัญหาหลักน่าจะอยู่ที่ความชัดเจน ในแนวนโยบายและการส่งเสริมของภาครัฐ ในการนำผลงานการวิจัยทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่อย่างมากมาย ไปพัฒนา และเผยแพร่ให้เกิดผลต่อสังคมวงกว้าง ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาและคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างให้บุคลากรในแต่ละระดับเข้าใจบทบาทและให้ความสนใจในการผลิตงานวิจัย มากกว่าที่จะหยุดหรือพึงใจที่จะเป็นผู้ใช้ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน" ทั้ง ดร.บุญเจริญ และดร.บัณฑิต ซึ่งต่างเป็นหัวแรงสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ร่วมแสดงทัศนะในการพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ไว้อย่างน่าสนใจ

ในทัศนะของพวกเขา ประเด็นว่าด้วยเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการวิจัยไม่ใช่ปัญหาหลักในการพัฒนางานวิจัย หากแต่ทำอย่างไรที่จะเกิดสะพานเชื่อมระหว่างหน่วยงานวิจัย และภาคอุตสาหกรรมเอกชน เพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่

"บุคลากรในแวดวงการศึกษามีความสามารถที่จะผลิตผลงานการวิจัย ซึ่ง ที่ผ่านมา มจธ. มีผลงานการวิจัยในระดับมาตรฐานสากลมากกว่า 90 ชิ้นต่อปี ขณะ ที่เทคโนโลยีหลายประการสามารถผลิตขึ้นใช้ได้เองภายในสังคมมหาวิทยาลัย แต่ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม กลับต้องพึ่งพาการซื้อหาเทคโนโลยีเหล่านี้จากต่างประเทศในราคาที่แพงอย่างที่ไม่ควรจะเป็น"

การพัฒนาหลักสูตรเป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขยายหลักสูตรปริญญาโท และเอกภาคภาษาอังกฤษ ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในระดับสากลมาในช่วงก่อนหน้านี้ ล่าสุดในปีการศึกษาที่ผ่านมา ภาควิชาวิศวกรรมคอม พิวเตอร์ ได้เปิดรับนักศึกษาปริญญาตรีภาค พิเศษ ในหลักสูตรนานาชาติ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่งด้วย

ดร.บุญเจริญ กล่าวถึงหลักการในการเปิดหลักสูตรนานาชาติว่า ในสถานการณ์ของโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน บัณฑิตวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นอย่างดีและจะต้องมีความสามารถทางภาษา สำหรับการปฏิสัมพันธ์กับประชาคมวิชาการและวงการอุตสาหกรรมระดับนานาชาติในอนาคต

ความพิเศษของหลักสูตรนานาชาติ ดังกล่าวอยู่ที่การเป็นหลักสูตรทวิปริญญา โดยนักศึกษาที่เรียนจบชั้นปีที่ 2 และมีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.75 สามารถเลือกที่จะเดินทางไปศึกษาต่อจนจบหลักสูตรใน University of Missouri-Columbia ประเทศสหรัฐอเมริกา และรับวุฒิปริญญาตรีจากทั้งสองสถาบัน หรือเลือกที่จะศึกษาต่อในมจธ. จนสำเร็จการศึกษาและรับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจาก มจธ.ต่อไป

สำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนในระดับปริญญาตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์หลักสูตรนานาชาตินี้ อยู่ในระดับประมาณ 1.3-1.5 แสนบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นค่าบำรุง การศึกษาปีละ 50,000 บาท และค่าหน่วย กิตในแต่ละวิชาที่ลงทะเบียนเรียนอีก หน่วยกิตละ 2,400 บาท ปีละประมาณ 38 หน่วยกิต

ดร.บัณฑิต ซึ่งในอดีตเป็นนักศึกษา ปริญญาตรีในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาไฟฟ้า ของ มจธ. ก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกใน University of Missouri-Columbia สหรัฐอเมริกา ระบุว่า สิ่งที่จะได้จากการเปิดหลักสูตรนานาชาติเช่นนี้ ในด้านหนึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างให้เกิด recognition ในหลักสูตรที่ได้มาตรฐานในระดับสากลของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. แล้ว นักศึกษา ยังมีโอกาสในการได้รับประสบการณ์จากการไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน ในสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศด้วย

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากเงินค่าใช้จ่ายสำหรับหลักสูตรนานาชาติ ที่แม้จะเพิ่มขึ้นจากหลักสูตรกว่าปกติในสัดส่วน ประมาณ 4-5 เท่าตัวแล้ว พวกเขายังเชื่อว่านักศึกษาจำนวนไม่น้อยจะยังให้ความสนใจ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศตลอดหลักสูตร แล้ว จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกว่านี้อีกมาก

"ต้องเข้าใจก่อนว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ มิได้รับเงินช่วยเหลือ จากงบประมาณของรัฐเหมือนหลักสูตร อื่นๆ ทำให้สถาบันต้องเก็บค่าใช้จ่ายในอัตราที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งนักศึกษาและผู้ปกครองที่สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่ มีแนวโน้มที่จะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศอยู่แล้ว การเปิดหลักสูตรเช่นนี้จึงเป็นการวางพื้นฐานก่อนจะไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และเป็นการช่วยประหยัดเงินอีกทางหนึ่ง"

กระนั้นก็ดี ประโยชน์จากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการศึกษาอาจเป็นกรณีที่มีคุณูปการน้อยกว่าความสามารถ ที่จะพัฒนาหลักสูตรและการผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์ ที่มีทัศนะก้าวหน้าในมิติของการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับเป็นฐานของการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างไม่อาจเทียบได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.