ทีพีไอเร่งทำแผนโรงไฟฟ้าใหม่


ผู้จัดการรายวัน(20 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้บริหารแผนฯ ทีพีไอเร่งจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยกลั่นน้ำมันและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีก 200-300 เมกะวัตต์ เพื่อเสนอให้ปตท.ในฐานะผู้ร่วมทุนรายใหม่ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.6-2 หมื่นล้านบาท และมั่นใจหาเงินชำระหนี้ได้มากกว่าที่แผนฟื้นฟูฯ กำหนด 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 4 พ.ย.นี้ ภายหลังปตท.เสนอซื้อทีพีไอเบื้องต้น 3-4 บาทต่อหุ้น "บิ๊กหมง" ประกาศวิสัยทัศน์องค์กร "มุ่งให้ TPI เป็นบริษัทปิโตรเคมีครบวงจรที่เป็นเลิศในอาเซียน"

วานนี้ (19 เม.ย.) พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)(TPI) และทีมผู้บริหารแผนฯ ได้จัดงานคณะผู้บริหารแผนฯ พบพนักงาน ครั้งที่ 7 โดยมีการออนไลน์ให้กลุ่มพนักงานที่จังหวัดระยองรับทราบด้วย โดยกล่าวถึงความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการ พร้อมประกาศวิสัยทัศน์องค์กร โดยมุ่งให้ TPI เป็นบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรที่เป็นเลิศในอาเซียน เน้นบรรษัทภิบาล มีการบริหารที่เป็นสากล โดยยึดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และหลักการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม

นายพละ สุขเวช หนึ่งในคณะผู้บริหารแผนฯ TPI กล่าวว่า ขณะนี้คณะผู้บริหารแผนฯ ได้จัดทำแผนงานปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของทีพีไอให้ดีขึ้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.6-2 หมื่นล้านบาท เพื่อเสนอให้ผู้ร่วมทุนรายใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานต่อ

โดยรายละเอียดของแผนดังกล่าวนั้น จะเสนอให้มีการปรับปรุงและสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 200-300 เมกะวัตต์ ใช้เงินประมาณ 4-5 พันล้านบาท เพื่อใช้ในคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีใน TPI เนื่องจากขณะนี้ TPI ต้องจ่ายค่าไฟให้กฟภ.เดือนละ100 กว่าล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีไอน้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ในโรงงานปิโตรเคมี รวมทั้งการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยกลั่นน้ำมันให้สามารถกลั่นได้น้ำมันกำมะถันต่ำทำให้เพิ่มกำลังผลิตได้เป็น 2 แสนกว่าบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่ไม่สามารถกลั่นให้เกิน 1.8แสนบาร์เรล/วันได้ เพราะน้ำมันที่ผลิตได้จะมีกำมะถันสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องขายเป็นน้ำมันเขียวให้กับชาวประมง ทำให้มีราคาถูก รวมทั้งพัฒนาท่าเรือ คลังสินค้า เป็นต้น
สำหรับผลประกอบการ TPI ในปีนี้ คาดว่าจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อนที่มี EBITDA 2.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันมีความผันผวน และราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทรงตัวอยู่ในระดับสูงแต่ก็มีราคาต่ำกว่าปลายปีที่แล้ว

"ในช่วง 3-4ปีที่ผ่านมา TPI ไม่ได้ทำการปรับปรุงซ่อมแซมโรงงาน ดังนั้นผู้บริหารแผนฯ ต้องการให้นักลงทุนใหม่เข้ามาดูแลปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งโรงกลั่นและโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ ส่วนผู้ลงทุนใหม่จะต้องเพิ่มทุนใหม่อีกครั้งเพื่อลงทุนหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของผู้ร่วมทุนใหม่" นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้บริหารแผน TPI กล่าว

ส่วนความคืบหน้าในการขายหุ้นเพิ่มทุนของ TPI ให้พันธมิตรนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่ผู้ร่วมทุนทำการตรวจสอบสถานะของบริษัทเรียบร้อย ก็จะร่วมกำหนดราคาในวันที่ 29 เม.ย. นี้หลังจากนั้นจะมีการเจรจาตกลงเงื่อนไขการขายหุ้นภายในวันที่ 30 พ.ค. และในวันที่ 20 มิ.ย. 2548 จะจัดทำข้อตกลงและเซ็นสัญญาให้กับผู้ร่วมลงทุนหลัก โดยจะต้องมีการชำระค่าหุ้นแล้วเสร็จไม่เกิน 4 พ.ย.2548

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังได้ลงนามเอ็มโอยูเสนอขายหุ้น TPI ให้บมจ.ปตท. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และธนาคารออมสิน ปัจจุบัน TPI มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูงถึง 1 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาว่าจะหาประโยชน์จากเงินดังกล่าวอย่างไร ภายหลังจากกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับซื้อน้ำมันดิบเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตที่มีราคาค่อนข้างผันผวน

เมินนำTPIออกรีแฮปโก้

ขณะนี้ ผู้บริหารแผนฯยังไม่ทราบเรื่องที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) จะให้TPIออกจากหมวดฟื้นฟูกิจการ (รีแฮปโก้) เพราะยังไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้บริหารแผนฯ ต้องการให้ตลท.พิจารณาเรื่องดังกล่าวภายหลังจาก TPI หาผู้ร่วมทุนใหม่ได้แล้วในช่วงไตรมาส 3/2548 จึงจะมีความเหมาะสม หากตลท.ให้ TPI ออกจากรีแฮปโก้ จะทำให้นักลงทุนรายย่อยเข้าใจว่าบริษัทฯ แก้ปัญหาทุกอย่างได้หมดแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงยังไม่มีความแน่นอนในประเด็นนักลงทุนใหม่และสัดส่วนการถือหุ้น

แหล่งข่าวจากทีมผู้บริหารแผนฯ TPI กล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ ฉบับแก้ไข ทีพีไอจะต้องหาเงินไม่ต่ำกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ มาชำระหนี้ โดยจะมาจากการขายหุ้นส่วนทุนและหุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวน 1.75 หมื่นล้านหุ้น ให้กลุ่มนักลงทุนใหม่ รวมกับการขายหุ้นทีพีไอโพลีนจำนวน 249 ล้านหุ้น ในราคาไม่ต่ำกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคณะผู้บริหารแผนฯ มีความมั่นใจว่าจะสามารถจัดหาเงินมาชำระหนี้ได้มากกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างแน่นอน โดยจะนำเงินที่เหลือมาชำระหนี้ในส่วนTranche C/D วงเงิน 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-4%เท่านั้น

ส่วนประเด็นการขายหุ้น TPIPL นั้นทางกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ แต่อาจจะส่งเรื่องให้ผู้บริหารแผนฯ ก็ได้ โดยเชื่อว่าคลังจะพิจารณาภายหลังจากเซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นทีพีไอแล้ว ซึ่งล่าสุดทางปตท.ได้มีการเสนอราคาซื้อหุ้น TPI เบื้องต้นไว้ที่ 3-4 บาทต่อหุ้น ทำให้น่าจะมีเงินจากการขายหุ้นได้ถึง 650 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมกับหุ้น TPIPL ที่จะเสนอขายอีก

นายนิพัทธ พุกกะนะสุต ที่ปรึกษาคณะผู้บริหารแผนฯ TPI กล่าวว่า หลังจากบริษัทดำเนินการลดทุนจดทะเบียนจากเดิมหุ้นละ 10 บาทเหลือ 1 บาท ทำให้สามารถล้างขาดทุนสะสมไปได้ 7.8 หมื่นล้านบาท และเมื่อเพิ่มทุนใหม่เข้ามาจะทำให้ตัวเลขขาดทุนสะสมที่มีอยู่หมดไป ส่งผลให้บริษัทมีงบการเงินแข็งแกร่ง หากผลการดำเนินงานปีนี้มีกำไรมาก ก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลจากงวดปี 2548 ได้ โดยบริษัทไม่เสียประโยชน์ในการหักภาษีเงินได้จากยอดขาดทุนสะสมเดิมที่มีอยู่จำนวน 5 หมื่นล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.