รัฐส่งซิกลอยแพสหวิริยา


ผู้จัดการรายวัน(20 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐบาลส่งสัญญาณเมินช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำเครือสหวิริยา ชี้เสี่ยงปัญหาเอ็นพีแอล ขัดแนว Logistics ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ถนัดแข่งในเวทีค้าโลก แนะให้มุ่งผลิตเหล็กชั้นกลาง-ต่ำแข่งสู้ พร้อมเร่งหาความร่วมมือเปิดเสรีกับยักษ์ใหญ่อย่างต่างชาติดีกว่า ขณะที่กระทรวงอุตฯ เตรียมหารือเครือสหวิริยาแจงรายละเอียดแผนโรงถลุง 21 เม.ย. นี้ก่อนสรุปให้ "วัฒนา" รายงานนายกฯ "เครือสหวิริยา" เตรียมหอบแฟ้มยืนยันโครงการมีอนาคตแน่

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการประเมินผลการจัดทำการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA ) กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ ยืนยันทุกคณะเจรจาจะเจรจาเพื่อผลประโยชน์ที่เหมาะ ดังนั้นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเปิดเสรีประเทศไทยต้องให้ความสำคัญเรื่อง การจัดทำกลุ่ม Logistics ภาคการค้าภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ประเทศไทยถนัด เพื่อสามารถกำหนดจุดอ่อนจุดแข็ง ว่าจะเปิดเสรีกับใครอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่เหมาะสมลงตัวในภาวะการแข่งขันเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญเช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ประเทศไทยต้องยอมเปิดเสรีการนำเข้าบางชนิดเหล็ก ที่ประเทศไทยไทยไม่มีศักยภาพพอจะไปสู้กับบางกลุ่มประเทศได้ จึงควรหันไปเร่งเปิดเสรีสร้างพันธมิตรทางการค้าด้วยเร่งเปิดเสรีกับประเทศอินเดียและออสเตรเลีย เพราะเป็นประเทศยักษ์ที่สุดที่มีศักยภาพสูงในด้านวัตถุดิบสินแร่เหล็กจำนวนมาก รวมถึงประเทศเกาหลีใต้มีประสิทธิภาพสูงด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีขั้นสูงภาคการผลิต

"เสี่ยงด้านวัตถุดิบ เอ็นพีแอล ลงทุนสูงในการผลิตเหล็กต้นน้ำ ทำให้ผู้ใช้เหล็กปลายน้ำอาจต้องซื้อแพง แต่นี้ไม่ได้เป็นการกีดกันการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศแต่ควรเลือกส่งเสริมในสิ่งแข่งขันในสิ่งที่ตนเองถนัด" นายณรงค์ชัยกล่าว

นายณรงค์ชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสั่งให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI ) ไปทบทวนแผนการลงทุนก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก 30 ล้านตัน/ปี มูลค่า 5.2 แสนล้านบาท เพื่อผลิตเหล็กต้นน้ำของเครือสหวิริยา ก็ถือว่าเป็นการส่งสัญญาให้รู้ว่าไม่ต้องการให้ประเทศไทยต้องไปเผชิญความเสี่ยงในภาคอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยไม่ถนัด ดังนั้นกลุ่มเหล็กทั้งหมดในประเทศไทยน่าจะผลิตเหล็กในสิ่งที่ถนัด คือ เหล็กคุณภาพขนาดกลางและต่ำ เช่น เหล็กงานก่อสร้าง

ส่วนประเด็นการเปิดเสรีเหล็กกับประเทศญี่ปุ่นว่าเป็นประเทศที่เจรจาด้วยยากลำบางมากที่สุด มีปัญหากรอบการให้คำจำกัดความภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องเปิดเสรีเหล็ก ที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาดของสื่อมวลชน และผู้ผลิตเหล็กในประเทศ ที่มีความเข้าใจผิดพลาดคิดว่า รัฐบาลจะเปิดเสรีเหล็กทุกชนิด ซึ่งในความเป็นจริงเหล็กมีกว่า 100 ชนิด มีบางชนิดที่ประเทศไทยผลิตเองไม่ได้ เพราะต้องใช้เทคโนโลยีและวัตถุดิบขั้นสูง (Specula light steel) เช่น เหล็กที่ใช้ผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์

"เราไม่ได้ให้ญี่ปุ่นเป็นคนเลือกว่าจะเปิดอะไรให้ แต่จะเป็นชนิดเหล็กที่ผู้ผลิตไทยผลิตไม่ได้จริงๆ ตอนนี้ก็ให้กรมศุลกากรไปดูอยู่ว่ามีอะไรบ้าง" ประธานคณะกรรมการประเมินผลการจัดทำการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กล่าว

**กมธ.วุฒิฯ ชี้ผลกระทบอื้อ

การประชุมวุฒิสภาได้พิจารณารายงานศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี เกษตรกรไทยได้อะไรของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาโดยได้สรุปรายงานถึงผลกระทบจากข้อตกลงเขตค้าเสรีว่า แม้การทำเขตการค้าเสรี จะมีทั้งประโยชน์ที่เป็นโอกาสในการขยายการส่งออก แต่ก็มีผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ผลิตในประเทศที่ด้อยขีดความสามารถในสินค้าเกษตรและไม่สามารถแข่งขันที่จะถูกสินค้าต่างประเทศทดแทนและยังทำลายอาชีพการสร้างงานให้แก่คนไทยซี่งยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องวิถีชีวิตที่ประกอบอาชีพในวงกว้าง โดยเฉพาะข้อตกลงการค่าเสรีระหว่างไทยกับจีนได้มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ทำให้ไม่สามารถส่งออกผลไม้ได้ ผลไม้มีราคาตกต่ำ อาทิ ลำไยและทุเรียน จนมีการร้องเรียนผลกระทบจากข้อตกเขตการค้าเสรีที่รัฐบาลทำสนธิสัญญาข้อผูกพันกับต่างประเทศไปแล้วและที่จะกระทำเพิ่มเติมกับอีกหลายประเทศ จี้รัฐบาลมารับฟัง"เจิมศักดิ์" ติดใจรัฐรีบเร่งทำสัญญากับจีน ส่อผลประโยชน์แอบแฝงขยับดาวเทียมก่อนมีมติถกต่อสัปดาห์หน้า

**ก.อุตฯ เตรียมหารือสหวิริยา

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า วันที่ 21 เมษายน 2548 นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการหารือเพื่อสรุปแนวทางการลงทุนโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยาเพื่อนำเสนอนายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต่อไป หลังจากที่เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 48 นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายให้ไปพิจารณาการลงทุนโดยแสดงความกังวลว่าโครงการมีขนาดใหญ่ หากไม่มีลูกค้าจะมีปัญหาจึงเห็นชอบให้ต้องหาผู้ร่วมทุนที่เป็นผู้ใช้เหล็กเพื่อให้อยู่รอดได้ในระยะยาวเพื่อป้องกันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL

ทั้งนี้ เหล็กต้นน้ำของสหวิริยาจะลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการประมาณ 15 ปี กำลังผลิต 30 ล้านตัน ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆ พบว่า ส่วนแบ่งการตลาดจะเปลี่ยนไปโดยไปอยู่ในมือของเครือสหวิริยาเกือบ 90% ขณะที่ตลาดต่างประเทศมีการเพิ่มกำลังการผลิตในกลุ่มประเทศจีน อินเดีย บราซิล ตุรกี และยุโรปตะวันออก จึงทำให้นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงและให้กระทรวงกลับมากำหนดหลักเกณฑ์การส่งเสริมให้ชัดเจน เช่น การกำหนดให้สหวิริยาต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นผู้ใช้เหล็ก ซึ่งอาจจะเป็นค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เพื่อให้มีลูกค้า การกำหนดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนในสัดส่วน 2 ต่อ 1 เป็นต้น

แหล่งข่าวจากเครือสหวิริยากล่าวว่า บริษัทพร้อมจะมาชี้แจงภายในสัปดาห์นี้ต่อกระทรวงอุตสาหกรรมถึงแผนการดำเนินโครงการอย่างละเอียดว่าโครงการของบริษัทมีความเป็นไปได้และมีตลาดรองรับอย่างแน่นอน โดยในประเทศปี 2547 ความต้องการใช้เหล็กอยู่ที่ 13 ล้านตัน และปีนี้คาดว่าจะเติบโตอีก 5-10% และอีก 5-10 ปีจะเติบโตไปอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตัน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนความต้องการก็จะอยู่ที่ 30 ล้านตันซึ่งถือเป็นตลาดที่เติบโตอย่างมาก ขณะที่การลงทุนของเครือสหวิริยาจะแบ่งเป็นเฟส เฟสแรกแค่ 5 ล้านตัน ลงทุนเพียง 9 หมื่นกว่าล้านบาท หากเทียบกับการลงทุนของจีนที่ประเทศบราซิลที่จะมีการผลิตเหล็ก 3.7 ล้านตันต่อปี ลงทุนถึงแสนล้านบาท

"การลงทุนที่ต้องการให้ทางเครือสหวิริยามองหาผู้ร่วมทุนนั้น ทางเครือสหวิริยาเองก็มีแผนจะหาผู้ร่วมทุนอยู่แล้ว หากแต่การจะไปเจรจาจำเป็นต้องอาศัยเวลา และจังหวะที่เหมาะสม เหมือนกับการจีบสาว การที่เราจะไปบอกเขาตรงๆ โดยยังไม่ได้รู้จักกันมากมายอนาคตจะเป็นอย่างไร อันนี้พูดกันง่ายๆ ไม่ได้หรอก การที่มีคนเป็นห่วงเราก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะเท่ากับเขาแสดงความสนใจเราเยอะทีเดียว" แหล่งข่าวกล่าว

นายพิบูลย์ศักดิ์ อรรถบวรพิศาล ประธานกลุ่มเหล็กสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่ไทยมีเหล็กต้นน้ำจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเหล็กภาพรวมอย่างมากเพราะหากไม่เช่นนั้นไทยก็จะสู้ต่างประเทศไม่ได้เพราะมาร์จิ้นจะไปตกอยู่กับประเทศที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบได้แก่ เศษเหล็ก และเหล็กแท่ง เช่นปัจจุบัน แต่การพัฒนาก็ต้องอาศัยเวลาพัฒนา

"หากดูดีๆ จะพบว่าไทยนำเข้าเหล็กเป็นอันดับ 3 ของโลกทั้งที่เราเป็นประเทศเล็กๆ เราจึงต้องขาดดุลต่อเนื่องทำไมเราไม่บริหารด้วยการทำเองแล้วลดการขาดดุลที่คาดว่าหากมีโรงถลุงจะลดได้ถึง 6 หมื่นล้านบาท" นายพิบูลย์ศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากวงการเหล็ก กล่าวว่า การที่ญี่ปุ่นพยายามเอาอุตสาหกรรมรถยนต์มาอ้างแท้จริงแล้วก็เพียงแค่ขู่ให้ไทยกลัวว่าจะกระทบกับดีทรอยด์ออฟเอเชียทั้งที่ไทยเองต้องรู้เท่าทันว่าอุตสาหกรรมนี้หากมีปัญหาจะกระทบญี่ปุ่นเอง และเบื้องหลังแล้วญี่ปุ่นไม่ต้องการให้ไทยมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ดังนั้นจึงพยายามล็อบบี้ขอให้ญี่ปุ่นร่วมทุนไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใดก็ตาม และหากไทยดูดีๆ จะพบว่าอุตสาหกรรมเหล็กในไทยเกือบทั้งหมดญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่แล้ว โดยมีกลยุทธ์ระยะแรกมีการนำเทคโนโลยี และทำตลาดแบบไม่ดีนักและบีบให้คนไทยขายหุ้นให้กลายเป็นหุ้นใหญ่ทั้งหมดในที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.