เบื้องลึกปิกอัพ Tonla รุ่นใหม่ของฟอร์ด ยืมแนวคิดจากของเล่นเด็กมาเต็มๆ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

คอรถที่ได้เห็น Tonka ปิกอัพรุ่นใหม่จากค่ายฟอร์ด นอก จากจะสะดุดตากับสีเหลืองสดใสของตัวรถแล้ว รูปลักษณ์ที่ปรากฏก็ยังใหม่แปลกตาจากงานออกแบบตัวถังที่เป็นรูปทรงเหลี่ยม และ บังโคลนผายออกเต็มที่ ซึ่งถือเป็นนัยสำคัญแห่งแนวโน้มการออก แบบรถปิกอัพของฟอร์ดในอนาคตด้วย

Popular Science ฉบับเดือนกุมภาพันธ์รายงานนวัตกรรม น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดนี้ว่า อยู่ที่ระบบขับเคลื่อน hydraulic hybrid drive system ที่สามารถประหยัดน้ำมันได้มากราว 25-50% จากตัวเลขการกินน้ำมันเพียง 16-18 ไมล์ต่อแกลลอนหรือกว่านั้นเล็กน้อย รวมทั้งการใช้เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นใหม่คือ Navistar ที่มีกำลัง แรง 350 แรงม้าและกำลังบิด (torque) 600 ปอนด์ต่อฟุต

แนวคิดในการออกแบบ Tonka ของฟอร์ดซึ่งใช้ chassis ของรุ่น Super Duty 350 ซีรี่ส์ ก็เพื่อให้เป็นปิกอัพที่ทรงพลังและรับงานหนักได้มากที่สุดเท่าที่รถปิกอัพจะทำได้

และเบื้องลึกของการออกแบบปิกอัพ Tonka ของฟอร์ด ที่เน้นเรื่องการประหยัดพลังงานและการเพิ่มสมรรถนะด้วย hydraulic accumulator คือ การยืมแนวคิดจากรถเด็กเล่นของเด็กวัยเตาะแตะที่ทำด้วยโลหะ และใช้ชื่อเดียวกันด้วยคือ Tonka

สาเหตุสำคัญที่วงการรถยนต์ต้องหันมาค้นคว้าและเน้นผลิตรถประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจังยิ่งขึ้น ก็เพราะความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล จนทำให้ความพยายามในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงแทบจะไร้ผลเอาเสียเลย

ปิกอัพ Tonka ของค่ายฟอร์ด จึงหันมาสู่วิธีการประหยัดพลังงานแบบใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในขณะขับเคลื่อนนั่นคือ การเบรกและ เร่งเครื่อง (stop-and-go driving)

กุญแจสำคัญอยู่ที่การต้องดึงพลังงานซึ่งตามปกติจะสูญเสียไปในระหว่างการเบรกกลับคืนมา

ที่ผ่านๆ มา ระบบส่วนใหญ่พึ่งการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า นั่นคือ การใช้พลังงานจากหม้อแบตเตอรี่เข้าช่วยในระหว่างเร่งเครื่อง จากนั้นก็ใช้มอเตอร์เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อประจุแบตเตอรี่ใหม่ (recharge) ในระหว่างการลดความเร็วของรถ

"ปัญหาคือคุณเปลี่ยนรูปแบบของพลังงานมากเกินไป ทำให้ เกิดการสูญเสียพลังงานในแต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนรูปแบบพลังงาน" Cliff Carlson ตำแหน่ง senior specialist of advanced technologies ของฟอร์ดอธิบายให้เห็นภาพ "พลังงานกลเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า จากนั้นพลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมีในแบตเตอรี่ แล้วคุณก็เปลี่ยนรูปแบบกลับไปอีก"

การที่ฟอร์ดให้หลักประกันว่าในอีก 5 ปีจะสามารถผลิตรถบรรทุกขนาดเบาประหยัดพลังงานได้ถึง 25% นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของทางการด้วย

Carlson ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงทางเลือกที่ฟอร์ดเสนอให้ครั้งนี้ว่า hydraulic accumulator จะทำหน้าที่เป็นตัวสงวนพลังงานกลโดยตรง

Accumulator เป็นถังที่มีแรงดันสูง เพราะอัดแก๊สไนโตร เจนเข้าไปส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังปั๊มของเหลวคือ Hydraulic fluid เข้าไปในตัวถัง ซึ่งจะเข้าไปไล่ให้แก๊สในถังลอยตัวขึ้นอยู่เหนือของ เหลว ส่วนแรงดัน hydraulic ก็สามารถเรียกกลับคืนมาได้ด้วยการใช้ปั๊มเป็นมอเตอร์ hydraulic "คุณสามารถสงวนพลังงานมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นพลังงานที่จำเป็นมากในระหว่างการเบรก" Carlson เพิ่มเติม

จุดเด่นของปิกอัพ Tonka อีกอย่างหนึ่งคือ แนวคิดเรื่องการ มี 2 ถังติดตั้งอยู่ระหว่างรางของโครงรถ โดยแต่ละถังมีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ฟุตเพียงเล็กน้อยและยาวประมาณ 2 ฟุต เสริมแรงด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ทนทานต่อแรงอัดซึ่งอาจสูงถึง 5,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้วได้ และฉาบด้วยวัสดุที่สามารถดูดซับความร้อนซึ่งเกิดจากการอัดแก๊สได้ และโดยเหตุที่แรงอัดในถังสูงมาก จึงต้องมีการทดสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและถ้วนถี่

ในส่วนของมอเตอร์ hydraulic ซึ่งติดตั้งอยู่กลางระหว่างถังสองถังจะมีขนาดกะทัดรัดไม่ต่างจากขนาดมาตรฐานเท่าไรนัก

เมื่อมีการชาร์จเกิดขึ้นในถัง ระบบการทำงานจะให้กำลังแรงแบบเดียวกับเครื่องดีเซลซึ่งเพิ่มกำลังบิด (torque) อีก 600 ปอนด์ต่อฟุต เพื่อขับเคลื่อนรถที่จอดนิ่งอยู่ กำลังแรงขนาดนี้เทียบ ชั้นกับ BMW roadster ได้สบายๆ และยังหมายความว่า เครื่องยนต์จะยังไม่ต้องเข้ามามีบทบาทจนกว่ารถจะแล่นไปด้วยความเร็ว 20-30 ไมล์ต่อชั่วโมง จึงเป็นผลดีต่ออายุการใช้งานของเบรกด้วย

ข้อเสียสำคัญของปิกอัพ Tonka อยู่ที่เสียงดัง ซึ่งเกิดจากตัวมอเตอร์ hydraulic นั่นเอง "เราคิดว่าจะสามารถกำจัดข้อเสียนี้ได้ในช่วง 5 ปีของการพัฒนาต่อเนื่อง" Carlson คาดหมาย

นอกจากคุณสมบัติของการประหยัดพลังงานได้อย่างมหาศาล ปิกอัพ Tonka ยังเพิ่มคุณสมบัติด้านความปลอดภัยควบคู่กันไปด้วย คุณสมบัติสำคัญใน 2 ส่วนนี้ถือเป็นโจทย์หินของ วงการที่เน้นพัฒนากันมานานและทำได้ยากยิ่ง ซ้ำร้ายกว่านั้น การเพิ่มคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ เข้าไปยังหมายถึงภาระน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แทบไม่น่าเชื่อว่า การที่ Tonka ได้แนวคิดจากรถเด็กเล่นนี้ จะสามารถส่งผลกระทบต่อโลกยานยนต์ของผู้ใหญ่ได้อย่างรุนแรงถึงขนาดปฏิวัติวงการได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.