ดนตรีเปลี่ยนโครงสร้างสมองพัฒนาเชาวน์ให้เด็ก


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

William Congreve นักประพันธ์บทละครชาวอังกฤษผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1670-1729 เคยพูดประโยคอมตะเมื่อกว่า 300 ปีมาแล้วและยังเป็นที่ยอมรับจำกันได้ดีถึงทุกวันนี้ว่า

"ดนตรีมีความงดงามมีเสน่ห์ในการกล่อมเกลาจิตใจของคนปาเถื่อนให้อ่อนโยนลงได้ ถ้าลูกชายของคนคนนั้นเป็นผู้เล่นดนตรีให้ฟัง"

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ดนตรีสามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดจากจิตใต้สำนึกได้

เคยมีรายงานว่า ดนตรีของคีตกวี Brahms กล่อมทารกที่กำลัง ร้องไห้งอแงให้นอนหลับได้

เชื่อกันว่าดนตรีของคีตกวี Mozart ช่วยให้เด็กสามารถทำคะแนนสอบได้ดีขึ้น

และกล่าวกันว่า ดนตรีไพเราะทุกประเภทสามารถขจัดปัดเป่าความรู้สึกสลดหดหู่ บรรเทาอาการกระวนกระวาย และบรรเทาอาการปวดของคนไข้โรคมะเร็งให้ทุเลาลงได้

การที่ Jim Wilson ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Popular Mechanics ฉบับเดือนมีนาคม ใช้คำพูดเลี่ยงๆ เช่นกล่าวกัน ว่า มีรายงานว่า เชื่อกันว่า ในทุกครั้งที่พูดถึงคุณประโยชน์ของดนตรีในทางการแพทย์และวิชาการ เป็นเพราะปัจจุบันจิตแพทย์มีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ค่ายสำหรับการสรุปผลการบำบัดรักษาคนไข้ ซึ่งมีอาการดีขึ้นว่า เป็นเพราะการได้ฟังดนตรีที่ใช้ในการเยียวยา หรือเป็นเพราะผลจากการใช้ยาหลอก (Placebo effect) กันแน่

แต่ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดดังกล่าว แต่จิตแพทย์ต่างก็ยอมรับว่า เสียงสามารถกระตุ้นระบบประสาทได้จริง

ตัวอย่างสนับสนุนข้อสมมุติฐานนี้ได้ดีที่สุดคือ เสียงที่มีผลต่อการกลับมามีอาการชักอย่างฉับพลันของคนไข้โรคลมบ้าหมู (epileptic seizures) 2 ชนิดคือ

audiogenic seizures ซึ่งเป็นอาการชักที่เกิดจากการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงกระตุ้น และ

musicogenic seizures ซึ่งเป็นอาการชักที่เกิดจากคนไข้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์ของดนตรีที่ได้รับฟัง

คราวนี้มีอีกเรื่องหนึ่งที่กลุ่มผู้เคลือบแคลงหัวเก่าต้องยอมรับเกี่ยวกับอิทธิพลของเสียง นั่นคือ การเล่น ดนตรีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพของสมองได้!พบศูนย์กลางดนตรีของสมอง

ในอดีตที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ที่ใช้วิธีผ่าสมองเพื่อศึกษาความเป็นไปต่างๆ นั้นพบว่า มีอุปสรรคทำให้การเรียนรู้ศึกษาเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย จนกระทั่งเมื่อไม่นาน มานี้ เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเอื้ออำนวยให้สามารถผลิตอุปกรณ์สำหรับสแกนสมอง (brain-scanning equipment) ซึ่งมีหัวใจหลักของการทำงานคือ การตรวจวัดปริมาณแก๊สออกซิเจนที่กลุ่มเซลล์ประสาทต่างๆ รับเข้าไป ทำให้นักวิจัยสามารถศึกษา ความสัมพันธ์ของการใช้พลังงานของสมองแต่ละส่วนได้ โดยผลที่เกิดกับระบบประสาท จะปรากฏเป็นแถบสีอยู่รอบๆ สมอง

เมื่อเร็วๆ นี้ Takashi Ohnishi แห่ง National Center of Neurology and Psychiary ในโตเกียว ก็ค้นพบสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางดนตรีของสมองโดยใช้เครื่อง MRI (magnetic resonance imaging) นั่นเอง

ศูนย์กลางดนตรีของสมอง (brain's music center) นี้เป็นส่วนหนึ่งของสมองส่วนที่เรียกว่า planum temporale ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเหนือช่องหูเยื้องมาทางด้านหน้า

ทำลายทฤษฎีสมมาตร

โดยเหตุที่สมองเป็นอวัยวะที่คล้ายกับอวัยวะส่วนใหญ่ในร่างกายคือ มีลักษณะของโครงสร้างแบบสมมาตร (symmetrical structure) จึงมีสมองส่วน planum temporale ทั้งสองข้าง-ซ้ายและขวา

การที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถศึกษาความเป็นไปของสมองได้นั้น วิธีหนึ่งคือ การศึกษาความแตกต่าง ของโครงสร้างสมองทั้งสองข้าง

และด้วยหลักการเรียนรู้นี้เอง ทำให้ Ohnishi พบว่า ในกรณีของนักดนตรี planum temporale ด้านซ้ายจะมีขนาดใหญ่กว่าด้านขวา ทำให้เขาเชื่อว่า ประสบการณ์ด้านดนตรีในวัยเด็กสามารถมีอิทธิพลต่อการ พัฒนา planum temporale ได้แต่ก็เฉพาะด้านซ้ายเท่านั้น

นอกจากนี้ หนึ่งในผลการศึกษาล่าสุดของ Ohnishi คือการใช้ MRI ศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นภายใน planum temporale เมื่อให้ผู้ถูกทดลอง 28 ราย ฟังเพลง Italian Concerto ของ Bach

Ohnishi พบว่า ในผู้ถูกทดลองที่มีพรสวรรค์ทางดนตรีสูงมากชนิดหาตัวจับยากซึ่งวงการเรียกว่า perfect pitch นั้น พวกเขาล้วนมี planum temporale ด้านซ้ายใหญ่กว่าด้านขวาทั้งสิ้น!

สำหรับนักวิจัยสมองแล้ว การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นเรื่องเขย่าวงการและน่าประหลาดยิ่ง เพราะจากการศึกษาก่อนหน้านี้ พวกเขาค้นพบแต่เพียงว่า ด้านขวาของ auditory cortex (ซึ่งเป็นกลุ่มเซลล์สมองที่อยู่เหนือ หูขวา) เป็นส่วนสำคัญของการซึมซับเอาระดับเสียง ความไพเราะ ความกลมกลืน การแยกแยะความแตกต่างของเสียง และจังหวะของดนตรี

นอกจากนี้ Ohnishi ซึ่งตีพิมพ์การค้นพบ planum temporale ของเขาในวารสารวิทยาศาสตร์ Cerebral Cortex เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมายังเชื่อมั่นว่า ความแตกต่างเชิงกายวิภาคในสมองของนักดนตรีนี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้พวกเขาฟังดนตรีในแง่มุมและความไพเราะที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ "มันเป็นไปได้ที่นักดนตรีแต่ละคนจะพัฒนาวิธีฟังดนตรีที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ให้มากขึ้นถึงสิ่งที่พวกเขาได้รับมาตั้งแต่เกิด"

ดนตรีกับยีน

Mark Jude Tramo นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงผู้ซึ่งทำงานในช่วงเวลากลางวันในฐานะ neuroscientist ของ Harvard Medical School ด้วย ได้ยืนยันคำพูดของ Ohnishi ด้วยหลักที่ว่า

"ดนตรีมีอยู่ในยีนของเราทุกคนอยู่แล้ว มันมีความเป็นสากลที่เป็นลักษณะเฉพาะที่เผยแผ่ ไปทั่วโลก ดนตรีทุกประเภทล้วนมีโครงสร้างของเสียงคู่แปด (octave) ผู้คนในทุกวัฒนธรรมต่างก็ร้องเพลง และต่างก็มีเพลงที่พวกเขามีส่วนร่วมในความหมายและอารมณ์ของเพลงนั้นๆ เด็กทุกคนต่างก็ชอบที่จะมีคนร้องเพลงให้ฟัง"

Tramo ยังตั้งสมมุติฐานว่า ขณะที่ความซาบซึ้งในเพลงมีบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมเป็นตัวควบคุมนั้น ความซาบซึ้งในดนตรีก็อยู่ในลักษณะเดียวกันคือ มีเซลล์สมองของผู้ฟังแต่ละคนเป็นตัวควบคุม

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นภายในสมองของเด็กขณะที่กำลังเล่นเปียโน ดีดกีตาร์ หรือสีไวโอลิน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนก็คือ "เมื่อคุณกระตุ้นและฝึกความสามารถทางด้านดนตรีให้แก่เด็กๆ นั่นคือ คุณได้เข้าไปโอบอุ้มการพัฒนาเชาวน์ให้พวกเขาแล้ว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.