ธปท.เล็งปรับเป้าศก.ส่งซิกรัฐเร่งกระตุ้น


ผู้จัดการรายวัน(19 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าแบงก์ชาติส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงิน เหตุน้ำมันแพงและภัยแล้ง ชี้ต้องประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใหม่ ยอมรับแทรกแซงบาท ตั้งใจให้บาทอ่อนเพื่อสนันสนุนการส่งออกให้ขยายตัวได้ 20% ตามเป้าของรัฐ หวังการลงทุนภาคเอกชนป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ชี้หากยังขยายตัวไม่ดี ธปท.จะเร่งให้รัฐบาลลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 เมษายนนี้ ได้สั่งการให้สายนโยบายการเงินปรับปรุงการประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งหมด โดยนำผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และภัยแล้ง มาประเมินภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใหม่ เพื่อที่จะปรับนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นได้ในระดับสูง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในต่างประเทศไม่ได้สร้างแรงกดดันให้มีเงินทุนไหลออกจากประเทศ

“น้ำมันแพงถือว่าเป็นผลกระทบที่แรงมากกว่าปัญหาภัยแล้ง เพราะระดับราคาในขณะนี้สูงกว่าประมาณการเดิมที่ ธปท.เคยประมาณการเศรษฐกิจมาก ธปท.จึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายสอดคล้องกับหน่วยงานอื่นเพื่อเติมส่วนอื่นที่ขยายตัวได้ให้ขยายตัวมากขึ้นทดแทนส่วนที่ขาดไปจากผลกระทบที่เกิดจากราคาน้ำมัน โดยจะต้องใช้นโยบายการเงินกระตุ้น การลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และสนับสนุนการส่งออก” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม การประกาศตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจใหม่จะประกาศในการรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อสิ้นเดือนเมษายนนี้

ผู้ว่าการธปท. กล่าวต่อว่า เมื่อนโยบายของรัฐบาล รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ขยับเป้าหมายความพยายามในการส่งออกของไทยให้อยู่ในระดับ 20% จากที่ขยายตัวสูงถึง 23-24% ในปีก่อน ธปท.ก็ต้องสนับสนุนอย่างเต็มที โดยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องตั้งใจที่จะให้บาทอ่อนต่อไป เพื่อที่จะช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกให้ขยายตัวได้ 20% ตามเป้าหมายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การส่งออกจะขยายได้ถึง 20% หรือไม่นั้นยังไม่สามารถบอกได้ แต่คาดว่าจะต้องเพิ่มขึ้นมากเท่าที่จะมากได้ เพราะทุกหน่วยงานได้พยายามกันเต็มที่ ตามที่รัฐบาลต้องการให้การส่งออกเป็นตัวนำ

ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์นั้น มีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และมีทิศทางที่จะสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนใหม่เพื่อรอดูทิศทางของราคาน้ำมันก่อนว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเท่าไร เพื่อปรับต้นทุนของการประกอบธุรกิจได้ ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงแล้ว การลงทุนใหม่ก็จะเริ่มเพิ่มขึ้น เพราะเท่าที่ได้รับรายงานจากธนาคารพาณิชย์พบว่ามีโครงการการขยายการลงทุนของภาคเอกชนรอการอนุมัติสินเชื่อเป็นจำนวนมาก และธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมที่จะให้สินเชื่อ

“การลงทุนภาคเอกชนไม่ได้หายไปไหนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่หลายฝ่ายคิดว่าจะขยายตัวลดลงในปีนี้ก็ไม่ลดลงจากเดิมที่คาดกันว่าเมื่อภาคเอกชนซื้อสินค้าคงทนไปแล้วแรงซื้อก็น่าจะลดลง แต่เท่าที่เห็นยังมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับ 5% ซึ่งสูงมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 6% ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ประเมินไว้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะลดลงทั้งโลก การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะขยายสูงถึง 6.2% เท่าปีที่แล้วคงเป็นไปไม่ได้ แต่เชื่อว่ายังขยายตัวได้ดี ” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม คงต้องช่วยกันกระตุ้นเรื่องการส่งออก และการลงทุนให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ แต่หากช่วยกันแล้วดูว่าการขยายตัวยังไปได้ไม่ดี ธปท.คงต้องส่งสัญญาณให้รัฐบาลลงทุน และใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นดาบที่ 4 ดาบสุดท้าย แต่จะต้องเป็นการลงทุนที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศ เช่น การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเตรียมไว้ ซึ่งเดิมคาดว่าจะยังไม่มีการลงทุนในปีนี้ แต่หากภาพรวมเศรษฐกิจออกมาไม่ดี ธปท.คงต้องขอให้รัฐบาลเร่งให้เกิดการลงทุนให้เร็วขึ้นเพื่อที่จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยสามารถขยายตัวต่อได้ในระดับที่น่าพอใจ

**กสิกรไทยคาดธปท.ขึ้นดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมวันที่ 20 เมษายนนี้ โยจะกำหนดทิศทางของอัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วัน ซึ่งเป็นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นการประชุมครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ หลังจากที่ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 4 ครั้งๆละ 0.25 %รวมเป็น 1 % ในการประชุมครั้งที่5 รอบหลังสุดหรือตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 25 สิงหาคม 2547 ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วันอยู่ในระดับ 2.25 %ในปัจจุบัน

ทั้งนี้เชื่อว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทยคงจะต้องทยอยปรับขุ้นสู่ระดับที่มีความเหมาะสมมากขึ้นในอนาคต โดยขนาดการเพิ่มขึ้นที่ 1 %ในปีนี้หรืออัตราดอกเบี้ยอาร์พี14 วัน ที่ 3 % คาดว่าจะเป็นระดับดอกเบี้ยเป้าหมายของธปท.ในปีนี้ ซึ่งหลังจากที่ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 0.25 % ในการประชุมวันที่ 19 มกราคม 2548 ทำให้ยังคงเหลือการประชุมอีก 6 รอบ ในช่วงที่เหลือของปี จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75 % โดยการประชุมวันที่ 20 เม.ย.นี้ ธปท.คงจะมีการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบและรัดกุม เพื่อที่จะให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเป้าหมายเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.