เดียน เบียน ฟู - เซิ่น ลา-ล่าว กาย สามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคเหนือเวียดนาม

โดย ทรงฤทธิ์ โพนเงิน
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

เดียน เบียน ฟู คือฐานที่มั่นสุดท้ายของกองทัพอาณานิคมฝรั่งเศส ก่อนที่จะถอนตัวออกจากเวียดนามเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันดินแดนที่มีชื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกแห่งนี้ คือ เป้าหมายการพัฒนาของรัฐบาลเวียดนาม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจตอนเหนือที่จะเชื่อมโยงกับภาคใต้ของจีนและลาว....

พื้นที่ราบขนาดใหญ่ที่ถูกล้อมรอบด้วยเทือกเขานับพันแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบ ที่ดุเดือดและยาวนานนับสิบปี ระหว่างทัพทหารฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคมกับกองทัพเวียด มินห์ของขบวนการกู้ชาติเวียดนาม ในฐานะผู้ดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคม ด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพราะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ตลอดปี ซึ่งเมื่อประกอบกับการเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่กลางหุบเขาสูงชันนับพันเทือกแล้ว จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมฝรั่งเศสจึงได้เลือกพื้นที่แห่งนี้เป็นฐานบัญชาการทางทหารเขตภาคเหนือ ในการสู้รบกับกองทัพเวียดมินห์ในช่วงระหว่างปี 1945-1954

แต่สิ่งที่อยู่เหนือความคาดคิดของเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส และถือเป็นความผิด พลาดของฝรั่งเศสอย่างไม่น่าเชื่อ ก็คือ ยอดเขาสูงชันนับพันเทือกเหล่านั้น ได้แปรสภาพจากเกราะ คุ้มภัยให้เหล่าทหารฝรั่งเศส กลายเป็นฐานปืนใหญ่ของกำลังทหารเวียดมินห์จำนวนถึง 49,000 นาย ที่ล้อมรอบและยิงกระหน่ำเข้าใส่กองทหารฝรั่งเศสจำนวน 11,000 นาย อย่างไม่ขาดสาย เมื่อกองทัพเวียดมินห์ของขบวนการกู้ชาติเวียดนาม ได้ใช้เวลานับแรมปีในการขนลำเลียงปืนใหญ่และกระสุนเหล่านั้นข้ามสันเขาลูกแล้วลูกเล่า จนสามารถขึ้นไปตั้งมั่นบนยอดเขาและปิดล้อมฐานที่มั่นของ ฝรั่งเศสแห่งนี้ หรือที่เรียกว่า "เดียน เบียน ฟู" ได้เป็นผลสำเร็จ

"ในวันที่ 6 พฤษภาคม 1954 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนที่ฝรั่งเศสจะถอนกำลังทหารทั้งหมดออกไปจากเดียน เบียน ฟู กำลังสนับสนุนทางอากาศของฝรั่งเศสได้ระดมกำลังที่มีอยู่ทั้งหมด ทำการทิ้งระเบิดเพื่อทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างหนัก ซึ่งเหยื่อของการทิ้งระเบิดในครั้งนั้น ก็คือชาวไทยดำ 35 ครอบครัว ที่จมอยู่ใต้เถ้าถ่านที่เกิดจากการระเบิดของฝรั่งเศส" พ่อเฒ่าลอ วันฮาย อดีตผู้นำของชาวไทยดำจำนวน 450 ครอบครัวที่บ้านหนองใหญ่ ในเขตเดียน เบียน ฟู จังหวัดไหล่เจา กล่าวย้อนถึงอดีตที่ ฝังใจของชาวไทยดำ เมื่อครั้งที่พ่อเฒ่าเริ่มก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มฉกรรจ์ด้วยอายุ 35 ปีบริบูรณ์ และพ่อเฒ่ายังได้อธิบายถึงสาเหตุที่ชาวไทยดำทั้ง 35 ครอบครัวต้องสังเวยชีวิตในสมรภูมิรบเดียน เบียน ฟูด้วยว่า

"เป็นเพราะพี่น้องของพวกเรามีความหวงแหนผืนแผ่นดินบ้านเกิด จึงไม่ยอมอพยพหลบหนีเข้าไปซ่อนตัวในป่าเขาที่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าทุกคนจะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าฝรั่งเศสจะบอมบ์ เดียน เบียน ฟู ก่อนที่จะถอนกำลังทหารออกไปก็ตาม แต่ทุกคนก็พร้อมที่จะตายในบ้านเกิดของตน"

ด้วยความหวงแหนผืนแผ่นดินเกิดของชาวไทยดำเช่นนี้ ได้ส่งผลให้คนเวียดนามหรือที่ชาวไทยดำเรียกว่า "คนพื้นราบ" ไม่สามารถที่จะย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ที่เดียน เบียน ฟูได้ ถึงแม้ว่ากองทัพ เวียดมินห์จะสามารถขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากเดียน เบียน ฟู ได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคมปี 1954 แล้ว ก็ตาม

"พวกเราอยู่ที่นี่และตายที่นี่มาเป็นเวลากว่า 6 ชั่วอายุคน เราอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุข แต่ พอมีคนต่างถิ่นเข้ามา ความสงบสุขของพวกเราก็หายไป เพราะคนต่างถิ่นเหล่านั้นเข้ามาพร้อมกับความหายนะการเข่นฆ่าล้างผลาญเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยปราศจากความปราณีต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน" พ่อเฒ่าลอ วัน ฮาย ให้เหตุผลถึงการไม่ยอมรับคนต่างถิ่นหรือ "คนพื้นราบ" ให้เข้าไปอยู่ร่วมในพื้นที่ เดียน เบียน ฟู

แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการรวมประเทศในปี 1975 สภาพทางสังคมเศรษฐกิจการเมือง และวัฒนธรรมในเวียดนามเปลี่ยนไป

ระบบการจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจากส่วนกลางที่กรุงฮานอย ได้แผ่ขยายเข้าไปในทุกพื้นที่และทุกชนเผ่าทั่วประเทศ ชุมชนต่าง ๆ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยของพรรคฯ ที่เรียกว่า "คอมมูน" ซึ่งจะต้องปฏิบัติและขึ้นตรงต่อระเบียบและกฎข้อบังคับจากศูนย์กลางพรรคฯ และพ่อเฒ่า ลอ วัน อาย ในฐานะผู้นำอาวุโสของชาวไทยดำในขณะนั้น ก็ได้รับการแต่งตั้งจากศูนย์กลางพรรคฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธาน "คอมมูนชาวไทยดำ" แห่งเดียน เบียน ฟู

"คนพื้นราบ" จากกรุงฮานอยและจังหวัดต่าง ๆ ของเวียดนาม จึงได้เริ่มหลั่งไหลกันเข้ามา ที่เดียน เบียน ฟู มากขึ้นทุกวันและทุกขณะ ด้วยการเข้ามาตั้งรกรากแออัดกันอยู่ภายในตัวเมือง ซึ่งบ้างก็เปิดเป็นร้านขายของชำ ร้านอาหาร โรงแรม คาราโอเกะ ร้านซ่อมรถจักรยาน-มอเตอร์ไซด์ รวมถึงร้านรับซื้อข้าวและสินค้าเกษตรทุกชนิดจากชาวไทยดำเพื่อจัดส่งเข้าไปจำหน่ายในเมืองใหญ่ ๆ จังหวัดใกล้-เคียง และกรุงฮานอยฯ

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวไทยดำเปลี่ยนไป จากการผลิตทางการเกษตรเพื่อการยังชีพภายในครัวเรือนและชุมชน สู่การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของพรรคฯ และคอมมูน และยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลกลางของเวียดนามเริ่มประกาศใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ หรือ โด่ย เหม่ย (Doi Moi) นับตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลให้ธุรกิจภาคเอกชนของเวียดนาม ได้มีโอกาสแสดงบทบาททางเศรษฐกิจโดยเสรีเป็นครั้งแรกภายหลังจากที่ภาครัฐทำการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวมาเป็นเวลาถึง 11 ปีเต็ม

ผลของการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ได้แทรกซึมไปทุกชุมชนและสังคม ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว และวิถีการผลิตทางการเกษตรของชาวไทยดำก็ได้ผันตัวเข้าสู่การผลิต เพื่อป้อนความต้องการของตลาดเช่นกัน

ลอ วัน จั่น ผู้นำของชาวไทยดำคนปัจจุบันในฐานะกำนันตำบลหนองใหญ่ในเขตเดียน เบียน ฟู กล่าวว่า ในปัจจุบันนอกจากชาวไทยดำจะปลูกข้าวเพื่อสนองนโยบายการส่งออกของรัฐบาลแล้ว ยังมีการขยายสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นเช่น ข้าวโพด มันเทศ มันสำปะหลัง ชา กาแฟ ยางพารา อ้อย ผักและผลไม้อีกด้วย โดยสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี

ผลผลิตการเกษตรเหล่านี้ บางส่วนจะมีพ่อค้าลาวจากเมืองขัวและเมืองใหม่ในหลวง พงสาลี ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนเตี่ยน จางของเดียน เบียน ฟู เพียง 10 กิโลเมตร เดินทางเข้ามารับซื้อโดยตรง จากชาวไทยดำที่เดียน เบียน ฟู โดยพ่อค้าลาวจากเมืองขัวและเมืองใหม่ในแขวง พงสาลี จะเข้ามารับซื้อข้าวเหนียวกับข้าวเจ้าเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นก็จะเป็นสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ และอุปกรณ์ในการทำครัวที่เวียดนาม สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ

แสง คำล้วน พ่อค้าลาววัย 60 ปี จากเมืองขัว แขวงพงสาลี ซึ่งทำการค้าที่ชายแดนกับชาวไทยดำ และพ่อค้าเวียดนามที่เดียน เบียน ฟู มาเป็นเวลากว่า 40 ปี เล่าย้อนถึงอดีตการทำการค้าชายแดนที่นี่ว่าเป็นการไปมาหาสู่ระหว่างกันแบบเครือญาติชาวไทยดำด้วยกัน โดยจะมีกองคาราวานเกวียนขนผลผลิตการเกษตร สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงจากฝั่งลาวเดินทางเข้ามาที่เดียน เบียน ฟู ในฤดูร้อนและฤดูหนาวของ ทุกปี เพื่อนำไปแลกกับผลผลิตการเกษตรและสิ่งทอที่ชาวไทยดำที่เดียน เบียน ฟูสามารถผลิตได้เอง

"เราไปมาหาสู่ระหว่างกันอย่างนี้ มาเป็นเวลานาน จนกระทั่งถึงปี 1954 กองทัพเวียด มินห์ สามารถรบชนะฝรั่งเศส หลังจากนั้นรัฐบาลจีนก็ได้ให้การช่วยเหลือลาวและเวียดนามในการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างจีน-ลาว-เวียดนาม และสร้างเสร็จในปี 1965 การไปมาหาสู่ระหว่างกันก็เปลี่ยนไป สู่การใช้รถยนต์บรรทุกของจีนและรัสเซีย และกองคาราวานเกวียนขนส่งสินค้าก็หมดบทบาทลง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา" แสงกล่าวย้อนอดีตเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มฉกรรจ์

เมื่อมีรถบรรทุกขนส่งสินค้าเข้ามาแทนที่กองคาราวาน เกวียน ประกอบกับการมีถนนที่สะดวกมากขึ้นแล้ว ยิ่งทำให้การค้าชายแดนที่เดียน เบียน ฟูนี้ขยายตัว โดยนอกจากจะเป็นการค้าระหว่างลาวกับเวียดนามแล้ว ยังได้ขยายไปสู่การค้ากับจีนอีกด้วย ทั้งนี้ขบวนคาราวานรถบรรทุกสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกจากจีน ก็เริ่มทะลักเข้าไปทั้งในลาวและเวียดนามอย่างไม่ขาดสาย

แสงก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการทำการค้าชายแดนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้โดยการเช่าเหมารถบรรทุกของวิสาหกิจขนส่งของรัฐบาลลาว เพื่อเดินทางไปซื้อสินค้าจากเมืองหล้าในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนานของจีน ครั้งละ 5-10 คัน รถบรรทุก แล้วแบ่งสินค้าบางส่วนเอาไว้ขายในแขวงพงสาลี และส่วนที่นอกเหนือจากนั้น แสงก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะนำเข้าไปขายที่เดียน เบียน ฟู และอีกส่วนหนึ่งก็จะนำเข้ามาขายที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งจะถูกส่งเข้ามาขายต่อที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายอีกทอดหนึ่ง

"การทำการค้าแบบนี้ ความจริงแล้วเหนื่อยมาก แต่ก็สนุกดีและยังได้รับผลตอนแทนที่คุ้มค่าเหนื่อยด้วย เพราะมันก็เหมือนกับว่า เราเป็นคนอาสาที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลผลิตและสินค้าระหว่างคน 4 ชาติได้ในเวลาเดียวกัน โดยไม่ว่าจะเป็นผลผลิตและสินค้าจากจีน เวียดนาม ไทยและลาว ต่างก็สามารถที่จะกระจายไปถึงกันได้ด้วยวิธีการนี้ แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่าคนในแต่ละท้องถิ่นมีความต้องการผลผลิตและสินค้าประเภทใดด้วย เพราะนี่คือการแลกเปลี่ยนสินค้าและผลผลิตระหว่างกัน โดย มีเราเป็นตัวกลาง" แสง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 15 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลาวและเวียดนามในปี 1975 เป็นต้นมาจนถึงปี 1990 การค้าชายแดนระหว่างลาวกับเวียดนามก็ทำได้ด้วยความยากลำบากมากขึ้น เพราะต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนสินค้าจากฝั่งลาวเพื่อที่จะนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าเวียดนาม เนื่องจากบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนาม-ลาวกับจีน-ไทยไม่ค่อยดีนัก

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ลาว-ไทย-เวียดนาม จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่แสงก็ยังคงไม่สามารถที่จะเพิ่มปริมาณและมูลค่าการค้าชายแดนให้เหมือนอย่างในอดีตได้ ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากต้องประสบกับปัญหาภาษีศุลกากร ที่ต้องชำระให้กับ ด่านศุลกากรทั้ง 4 ชาติในอัตราที่สูงมากขึ้นอีกทั้งยังไม่มีมาตรฐานในการจัดเก็บ หากแต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรมากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด่านศุลกากรเตี่ยน จาง ของเมืองเดียน เบียน ฟูนั้น เก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 50% ของราคาสินค้าเข้า ในขณะที่ด่านศุลกากรเมืองหล้าในสิบสองปันนา ก็กำหนด กฎ ระเบียบในการตรวจสอบสินค้า และขั้นตอนในการจัดเก็บภาษีที่ซับซ้อนมากขึ้น ทางด้านไทยก็ยังคงมีการถือปฏิบัติตามกฎระเบียบสินค้าต้องห้ามที่ถือเป็นยุทธปัจจัย ส่วนทางด้านลาวนั้น ก็เริ่มที่จะเข้มงวดในการจัดเก็บภาษีมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

"ด้วยค่าใช้จ่ายในการชำระภาษีที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าขนส่งที่ยิ่งนับวันก็ยิ่งแพงขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าแพงยิ่งกว่า ในขณะที่รายได้ของคนซื้อสินค้ากลับไม่เพิ่มขึ้นเลย สินค้าที่เคยขายได้ในปริมาณมากก็ขายได้น้อยลง ที่ผมทำอยู่ในตอนนี้ก็เป็นเพียงการค้าย่อย ๆ โดยนำผ้าถุงและผงชูรสจากไทยเข้าไปขายแล้วซื้อข้าว เส้นหมี่และของใช้ในครัวเรือนกลับมา เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองให้ได้เท่านั้น เผื่อในอนาคตมันอาจจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้" แสงกล่าว

ร.อ. ทองสะหวัด สะหวัดสี หัวหน้าตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ชายแดนเมืองขัวในแขวงพงสาลีของลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับด่านเตี่ยน จางของเมืองเดียน เบียน ฟู กล่าวว่า ปริมาณสินค้าผ่านด่านฯ เข้าไปที่เดียน เบียน ฟูในปัจจุบันนี้ลดลงจากในอดีตมากกว่า 70% โดยนอกจากจะมีสาเหตุมาจากการตั้งกำแพงภาษีสินค้าเข้าระหว่างกันแล้ว ยังต้องประสบกับสภาพถนนที่ชำรุดทำให้การขนส่งเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากอีกด้วย

ระยะทางจากด่านฯ ไปถึงเมืองขัว 70 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งทำให้เจ้าของรถบรรทุกไม่ค่อยอยากจะรับเหมามาในเส้นทางนี้ นอกจากจะได้ค่าจ้างดี ๆ หรืออย่างน้อยก็ตกประมาณ 180,000 กีบหรือ 6,000 บาทต่อวัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบราคานี้กับระยะทางแล้ว ถือว่าเป็นราคา ที่แพงมาก นี่ยังไม่นับการที่พ่อค้าลาวต้องเผชิญกับกำแพงภาษี 50% ที่ด่านฯ เวียดนามเรียกเก็บจากสินค้าเข้า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การค้าชายแดนที่นี่ซบเซาลงมาก

"ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ เราเก็บภาษีได้ไม่ถึง 500,000 กีบด้วยซ้ำ" ร.อ. ทองสะหวัดกล่าว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการค้าชายแดน จะยังคงประสบปัญหากำแพงภาษีศุลกากรสินค้าเข้าที่เวียดนามกำหนดไว้ในอัตราที่สูง ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการไหลทะลัก เข้ามาของสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยและจีนเป็นสำคัญ แต่สำหรับในด้านการส่งออกผลผลิตการเกษตรและสินค้าแล้ว เวียดนามกลับมีนโยบายให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเต็มที่

เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่ามีพ่อค้าคนกลางจากจังหวัดเซิ่น ลา และจังหวัดล่าว กาย นำรถบรรทุกมารับซื้อผลผลิตการเกษตรจากชาวไทยดำที่เดียน เบียน ฟู และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงโดยตรง ทั้งนี้เพื่อส่งไปขายให้พ่อค้าชาวจีนที่เมืองเหอโขว่ในมณฑลยูนนานของจีนต่อไป

"แม้จีนจะสามารถผลิตพืชผลการเกษตรได้มากกว่าเวียดนาม แต่เมื่อเปรียบเทียบระยะทางและค่าขนส่งสินค้าจากเดียน เบียน ฟู - เชิ่น ลา- ล่าว กาย ของเวียดนามกับเมืองคุนหมิงในมณฑลยูนนาน ไปยังเมืองเหอ โขว่ของจีน ซึ่งเป็นเมืองชายแดนตรงข้ามกับด่านจังหวัด ล่าว กาย ของเวียดนามแล้ว พบว่าการขนส่งจากเวียดนามประหยัดเวลาและค่าขนส่งได้มากกว่า เพราะระยะทางใกล้กว่าการขนส่งจากคุณหมิงมาที่เหอโขว่" ร.อ. บุ่ย ด๋าง ก๋า หัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ เตี่ยน จาง กล่าว

ถึงแม้ว่าพื้นที่กว่า 85% ของพื้นที่ทั้งหมดของเดียน เบียน ฟู - เซิ่น ลา - ล่าว กาย รวมกันจะเป็นภูเขาสูง แต่ก็มีสภาพภูมิอากาศและแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งนี้โดยสินค้าการเกษตร ซึ่งพ่อค้าจีนที่เมืองเหอโขว่นำเข้าจาก 3 เมืองหลักในการค้าชายแดนของเวียดนามนี้ คือ ใบชา กาแฟ ข้าวโพด มันเทศ มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และข้าว

แต่เนื่องจากสภาพการค้าชายแดนระหว่างเวียดนามกับจีนที่ล่าว กายนี้จะมีเพียงบริษัทของรัฐบาลเท่านั้น ที่สามารถดำเนินธุรกิจนำเข้าและส่งออกได้กล่าวคือบริษัท "ล่าว กาย อิมปอร์ต เอ็กซ์ ปอร์ต จำกัด" จะเป็นบริษัทเดียวที่มีสิทธิผูกขาดการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ล่าว กายนี้

ดังนั้น บริษัทของเอกชนเวียดนาม จึงสามารถทำได้เพียงการเป็นคนกลางรับซื้อสินค้าการเกษตรจากเกษตรกรเวียดนาม หลังจากซื้อมาแล้ว บริษัทเอกชนเวียดนามเหล่านี้ จะมีทางเลือกปฏิบัติได้ 2 วิธีคือ นำสินค้าเหล่านั้นไปขายต่อให้กับบริษัทล่าว กายฯ เพื่อส่งออกต่อไป หรือ การนำสินค้าเหล่านั้นไปขอใช้สิทธิการส่งออกจากบริษัทล่าว กายฯ แต่บริษัทเอกชนจะต้องยินยอมจ่ายค่าคอมมิสชั่นโควต้าการส่งออกให้กับบริษัทล่าว กายฯ ด้วย

"ค่าขนส่งสินค้าที่นี่แพงมาก แต่เช่าเหมารถบรรทุกสินค้าจากเซิ่น ลาไปเดียน เบียน ฟู แล้วต่อเนื่องด้วยการนำสินค้าไปส่งที่ล่าว กายนี่ ก็ตกประมาณ 600 เหรียญสหรัฐต่อเที่ยว แถมยังต้องจ่ายหัวคิวให้กับบริษัทของรัฐอีก จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าชายแดนที่นี่มากพอสมควร" ร.อ. เหงียน เตียน แข่ง อดีตตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ผันตัวเองมาทำธุรกิจโรงแรมที่เซิ่น ลา และกำลังเริ่มบุกเบิกธุรกิจ ท่องเที่ยวในเขต 3 เมืองในภาคเหนือของเวียดนาม กล่าว

ร.อ. เหงียน เตียน แข่ง กล่าวว่า สาเหตุที่ค่าขนส่งสินค้าแพง ก็เนื่องจากว่าสภาพถนน ตลอดเส้นทางจากเซิ่น ลา-เดียน เบียน ฟู (180 กม.) - ล่าว กาย (250 กม.) และจากเซิ่น ลา-ล่าว กาย (180 กม.) นั้น นอกจากจะเป็นถนนแคบที่กว้างเพียง 5 เมตร แล้วยังขาดการซ่อมแซมมาเป็นเวลาถึง 30 ปี จึงทำให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วที่จำกัดเพียง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนในตอนกลางคืนไม่สามารถเดินทางได้เลย และในช่วงฤดูฝนนั้นสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วเพียง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามก็ได้กำหนดแผนและตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะพัฒนาให้เดียน เบียน ฟู - เซิ่น ลา - ล่าว กาย เป็นเมืองศูนย์กลางสินค้าเกษตรเพื่อทำการส่งออกไปยังจีนและลาว ทั้งนี้โดยกำหนดที่จะพัฒนาให้จังหวัดเซิ่น ลา เป็นเมืองศูนย์กาลาง ในการเชื่อมต่อการระดมผลผลิตและขนส่งจากจังหวัดอื่น ๆ ภายในประเทศ แล้วส่งต่อผลผลิตหรือสินค้าเหล่านั้นไปยังล่าว กายเพื่อส่งออกไปจีน และ เดียน เบียน ฟู เพื่อส่งออกไปลาว

ทั้งยังสามารถที่จะส่งต่อเข้ามาจำหน่ายที่จังหวัดเชียงรายของไทยได้ โดยผ่านชายแดนลาวที่เมืองขัวในแขวงพงสาลี และขนส่งต่อมายังแขวงหลวงพระบางแล้ว ขนถ่ายสินค้าลงเรือเพื่อขนส่งสินค้าตามแนวแม่น้ำโขงมาที่ท่าเรือเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับท่าเรือ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายของไทย

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีแผนการที่จะยกระดับเมืองเดียน เบียน ฟู ขึ้นเป็นจังหวัดโดยแยกออกจากจังหวัดไหล่เจา ภายในปี 2538 ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของชาติแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในเขตภาคเหนือภายในปี 2543 โดยการผนวกจังหวัดเซิ่น ลา และจังหวัด ล่าว กาย เข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมชนเผ่าและธรรมชาติในเขตภาคเหนือของเวียดนาม ที่สามารถเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปยังลาวและจีนได้ด้วย

"ที่นี่ยังคงรักษาความบริสุทธิ์แห่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นบ้านที่เรียบง่ายของชาวไทยดำ ไว้ได้ดีที่สุด พวกเรายังคงทอผ้าเพื่อใช้เองในครัวเรือน เรายังคงรักษาเอกลักษณ์และธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพชนไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งเมื่อประกอบกับสภาพทางธรรมชาติและภูมิประเทศที่สวยงามแล้ว ที่นี่จึงไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เรียกว่า สวรรค์บนดินที่มนุษย์สัมผัสได้" ดำ วัน ดวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเซิ่น ลา ซึ่งเป็นชาวไทยดำกล่าว

ด้วยเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการที่จะพัฒนาเซิ่น ลา-เดียน เบียน ฟู-ล่าว กาย เป็นเขตสาม-เหลี่ยมเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวในภาคเหนือให้ได้ภายในปี 2543 นี้ ดังนั้น รัฐบาลเวียดนาม จึงได้เตรียมแผนกระจายอำนาจ เพื่อให้อิสระในการตัดสินใจและการบริหารงานแก่คณะบริหารการ ปกครองในเขต 3 จังหวัดนี้มากขึ้นเป็นกรณีพิเศษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวแล้ว คณะบริหารการปกครองทั้ง 3 จังหวัดนี้ สามารถที่จะตัดสินใจในการพัฒนาตามแผนหลักและการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทั้ง ภายในและต่างประเทศ สามารถที่จะร่วมมือหรือร่วมทุนกับภาครัฐในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ได้โดยอิสระเพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้แนวนโยบายและแผนแม่บทของรัฐเท่านั้น

"เราพร้อมที่จะให้การส่งเสริมและร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งจากภายในและต่างประเทศ อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แหล่งผลิตผลการเกษตร แหล่ง พลังงาน ไฟฟ้าพลังน้ำตกเหนือเขื่อนซุง ดำ และงานศิลปหัตถกรรมชาวไทยดำ และชนเผ่าต่าง ๆ" คำ วัน ดวน พูดถึงแนวทางที่รัฐบาลและจังหวัดจะให้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเซิ่น ลา กล่าวต่อไปว่าในปัจจุบัน พื้นที่ทำการเกษตรของจังหวัดเซิ่น ลา เมื่อรวมกับพื้นที่ของเดียน เบียน ฟู จังหวัดไหล่เจาและจังหวัดล่าว กายแล้ว จะมีพื้นที่ที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปีมากกว่า 2 แสนเฮกต้าหรือมากกว่า 1.25 ล้านไร่ ซึ่งเหมาะต่อการปลูกพืช เศรษฐกิจ เช่น ชา กาแฟ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา ส่วนแหล่งพลังงานไฟฟ้าน้ำตกนั้น ที่บริเวณตอนบนของแม่น้ำซุง ดำ มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าเขื่อนซุง ดำ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้เวียดนามทั้งประเทศในขณะนี้

ควบคู่กับการพัฒนาเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคเหนือ รัฐบาลเวียดนามยังได้กำหนดแผนการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งแบบไฮเวย์ เพื่อเชื่อมต่อระหว่าง 3 จังหวัดกับจังหวัดต่าง ๆ ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงฮานอย ท่าเรือไฮฟองและจังหวัดหล่าง เซิน ที่เป็นด่านชายแดนขนาดใหญ่ที่ทำการค้ากับจีนที่หนานหนิง ซึ่งสามารถผ่านไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่กวางตุ้ง รวมถึงการเชื่อมต่อการคมนาคมกับลาวและจีน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2543 อีกด้วย โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติ ภายในต้นปี 2538

ส่วนการขนส่งทางรถไฟนั้นในปัจจุบันสามารถเชื่อมการขนส่งจากโฮจิมินห์ ซิตี้ขึ้นมาที่ กรุงฮานอยไปจนถึงล่าว กาย แล้วเชื่อมเส้นทางรถไฟของจีนที่เมืองเหอ โขว่ไปจนถึงเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนานได้ เพียงแต่ยังคงประสบกับปัญหาการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงเชื่อมการเดินรถไฟกับรัฐบาลจีนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แผนการพัฒนาเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคเหนือของเวียดนาม ย่อมไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง ตราบใดที่ความขัดแย้ง ในการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลหรือสแปรตลี่ระหว่างจีนกับเวียดนาม ยังไม่สามารถที่จะตกลงระหว่างกันได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากตลาดที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคเหนือของเวียดนาม คือ จีนภาคใต้นั่นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.