|
กฟผ.ดิ้นหนีเข้าโฮลดิงเร่งจดทะเบียนแปรรูปก่อนสิ้นพ.ค.
ผู้จัดการรายวัน(18 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"กฟผ." ยังคาดหวังที่จะจดทะเบียนเป็น บริษัทเพื่อแปรรูปได้ภายในพฤษภาคมนี้ เร่งดำเนินการทุกด้านหวังให้ระดมทุนไม่เกินปี 2548 หนีการถูกจัดเข้า ซูเปอร์โฮลดิ้ง ขณะที่ สร.กฟผ.ยันจะต่อต้านเต็มที่ แม้หนทางแทบจะเหลือริบหรี่หลังผู้บริหารสกัดทุกทางต่อความ เคลื่อนไหว "วิเศษ" ย้ำท่าทีไม่เร่งรีบต้องการให้ กฟผ. พร้อมจริงๆ ขณะที่วงในแย้มทุกอย่างอยู่ที่ "สมคิด" จะเป็น ผู้ชี้ขาด ด้านคลังเผยความคืบหน้าตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งได้ 2 แนวทางศึกษาหาความเหมาะสม
นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การจดทะเบียนแปลงสภาพ กฟผ. เป็นบริษัทนั้นคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะดำเนินการได้ โดยขณะนี้รอให้กระทรวงการคลังเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายก-รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน หลังจากนั้นจึงจะนำเสนอ ครม. ให้พิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน และภายในไตรมาส 4 จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามแผนที่วางไว้
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า การแปรรูป กฟผ.อาจต้องเลื่อนไป เพราะ ครม.ให้สิทธิประโยชน์แก่พนักงาน กฟผ.ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องนั้นคงไม่ใช่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด เนื่องจาก กฟผ.จะต้อง เข้าเกณฑ์การแปรรูปเหมือนกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากันทั้งหมดที่ 6+2 หรือได้รับผลประโยชน์ 8 เท่าของเงินเดือนเช่นเดิม นอกจากนี้ยัง จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้ทั้งก่อน และหลังแปรรูปรวม 30% ซึ่งภาพรวมถือว่าได้มากกว่าเดิม
ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ 6+2 นั้น ประกอบด้วย 1.พนักงานจะได้รับการจัดสรรหุ้นโดยซื้อในราคาตาม มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) จำนวน 6 เท่าของเงินเดือน ซึ่งพนักงานจ่ายเงินซื้อหุ้นในราคาพาร์ โดยกระทรวงการคลังจะหาแหล่งเงินกู้ซึ่งให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 2.หุ้นให้เปล่าจำนวน 2 เท่าของเงินเดือน ซึ่งพนักงานไม่ต้องจ่ายเงินซื้อหุ้น โดยรัฐวิสาหกิจจ่ายแทน ในราคาพาร์ ซึ่งพนักงานจะได้รับหุ้นในจำนวนที่น้อยกว่าทางเลือกที่ 1 ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณาจัดสรรหุ้นให้พนักงานตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1 และ 2 โดยให้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่พนักงานต้องถือครองหุ้นไว้ด้วย
นายวิเศษ จูภิบาล รมว.พลังงานกล่าวว่า นโยบายกระทรวงพลังงานไม่ต้องการเร่งรีบในการแปลงสภาพกฟผ.โดยต้องการให้เป็นไปตามขั้นตอน และมีความพร้อมทุกด้าน ส่วนการจดทะเบียนที่กำหนดไว้ภายในเม.ย.หรือพ.ค.นั้นเป็นเรื่องที่กฟผ. ต้องการดำเนินการเอง
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ. (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ที่ประชุมสหภาพฯมีมติให้คัดค้านการแปรรูปกฟผ.ต่อไป โดยที่ผ่านมาได้ระบุชัดเจนว่า สร.กฟผ.มิได้เคยเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดๆ เป็นการตอบแทน โดยยังยึดการต่อต้านการแปรรูปกฟผ.ด้วยการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์เช่นเดิมทุกอย่าง หากแต่เมื่อผู้บริหารไปรับปากพนักงานส่วนหนึ่งไว้แล้วเมื่อทำไม่ได้ควรจะต้องพิจารณาตนเองด้วย
"สร.กฟผ.ก็พยายามที่จะคัดค้านแปรรูป แต่ก็ยอมรับว่าบทบาทอาจจะไม่มากนัก เพราะตอนนี้เราถูกผู้บริหารสกัดทุกทาง" นายศิริชัยกล่าว
แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าวว่า การแปรรูปกฟผ.นั้นท้ายสุดแล้วขณะนี้ไม่มีใครทราบนโยบายที่แท้จริงได้แม้แต่กระทรวงพลังงานเนื่องจาก อำนาจการตัดสินใจจะไปอยู่ที่กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่จะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ที่จะต้องมองภาพรวมของการแปรรูปทั้งหมด และในขณะนี้คลังเองก็มีนโยบายที่จะจัดตั้งการบริหารรัฐวิสาหกิจด้วยรูปแบบซูเปอร์โฮลดิ้งซึ่งก็ทำให้กฟผ.เองเริ่มไม่มั่นใจว่าจะถูกไปสังกัดในนี้หรือไม่ จึงต้องพยายามเร่งตัวเองให้มีการแปรรูปเพราะอย่างน้อยการบริหารงานจะคล่องตัวกว่าการถูกจัดไปอยู่ในโฮลดิ้งที่อำนาจทุกอย่างจะหายไป
ทั้งนี้ กฟผ.เคยถูกจัดไว้ให้อยู่นอกโฮลดิ้งเพื่อให้เร่งระดมทุนเพื่อกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์แต่ด้วยระบบบัญชีของกฟผ.มีปัญหาหลายด้านยังไม่พร้อมรองรับการเป็นบริษัทซึ่งทำให้ขณะนี้ฝ่ายบัญชีของกฟผ.ต้องทำงานหนักมากขึ้น ประกอบกับพนักงานกฟผ.ที่มีมากถึง 2.6 หมื่นคนยังคงเป็นปัญหาขององค์กรที่อุ้ยอ้ายรัฐบาลจึงมีนโยบายที่พยายามจะให้ลดคนก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฟผ.เองล่าสุดหลังจากมีความชักช้าเรื่องแปรรูป ก็มีโอกาสจะถูกจัดเข้าไปอยู่ในซูเปอร์โฮลดิ้ง เผยศึกษา 2 แนวทางทำซูเปอร์โฮลดิ้งส์
นายอารีพงษ์ ภู่ชะอุ่ม รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ล่าสุด สคร.ได้ร่างกฎหมายในการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิ้ง (Super Holding Company) แล้ว แต่อยู่ระหว่าง ทบทวนร่างดังกล่าวก่อนเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป โดยร่างกฎหมายนี้จะมีลักษณะเป็น พระราชบัญญัติครอบคลุมถึงการตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
โดยตัวกฎหมายจะระบุว่าเห็นควรให้มีคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมาเป็นเจ้าภาพหลักทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายในภาพรวมของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยมีบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100% ทำหน้าที่ครอบครองทรัพย์สินของรัฐผ่านการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจโดยตรง หรือถือผ่านคลัสเตอร์ของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นบริษัทลูกของบรรษัทได้
สำหรับรายละเอียดของการจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจ สคร.อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสม โดยก่อนหน้านี้ได้มีทีมของ สคร.เดินทางดูงาน การจัดกระบวนทัพรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของต่างประเทศประมาณ 3-4 แห่ง โดยมี 2 รูปแบบที่น่าสนใจ คือ กองทุนเทมาเส็ก (temasek) ของประเทศสิงคโปร์ และบริษัท ทรานส์เน็ต (Transnet Limited) ของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
เทมาเส็ก โฮลดิ้ง เป็นหน่วยงานด้านการลงทุน ของรัฐบาลสิงคโปร์ เริ่มต้นจากลงทุนในสิ่งที่เอกชนไม่สนใจ และบริหารเงินทุนด้วยตนเอง โดยใช้วิธีการ หาแหล่งทุนโดยการหาผู้ร่วมทุน และบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยกเทมาเซกเป็นตัวอย่างของแนวคิดในการดำเนินงานของบรรษัทนี้
ส่วนทรานส์เน็ต มาจากแนวคิดในการดึงรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ต้องการให้มีการปรับปรุงหรือยกเลิกและให้เอกชนซื้อกิจการ ไปบริหารแทนให้หน่วยงานที่มีชื่อว่า Department of Public Enterprises (DPE) กำกับดูแล ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารของ DPE มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่
1. Alexkor บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ทำธุรกิจด้านการทำเหมืองแร่เพชรบริเวณฝั่งแม่น้ำ ชายหาด และในทะเลชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศ 2. Denel บริษัทที่มีรัฐถือหุ้นทั้งหมดทำธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง หลักๆ คือการผลิตอากาศยาน และอาวุธ 3. Eskom ธุรกิจด้านไฟฟ้าทั้งการผลิต สายส่ง จำหน่าย และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งรัฐบาลแอฟริกาใต้มีแผนที่จะแปรรูปกิจการในอนาคตอันใกล้
4. Telkom ธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม รายใหญ่ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลขายหุ้นให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ 30% และมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2003 ถือเป็นผลงานสำคัญ ของ DPE 5.Aventuraธุรกิจด้านการป่าไม้ และ 6. Transnet ธุรกิจด้านการขนส่ง ทรานส์เน็ต แปลงสภาพจาก South Transport Services เป็นบริษัท ในปี 1990 ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Hoding Company ในธุรกิจขนส่งทั้ง ระบบ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจการขนส่งทั้งระบบและมีบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง 9 แห่ง ครอบคลุมถึงการขนส่งระบบราง ถนน ท่าเรือ และท่อส่งก๊าซ รวมทั้งธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันถือหุ้นโดยรัฐบาลทั้งหมด
รูปแบบของ ทรานส์เน็ต ใกล้เคียงกับแนวคิด การพัฒนา Logistic ของประเทศไทยที่ต้องการเชื่อมระบบการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เข้าด้วยกัน เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินหน้าเรื่องนี้ไปล่วงหน้าบ้างแล้ว แต่เพราะการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลทำหน้าที่เชื่อมประสาน ประกอบกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของภาครัฐ จึงต้องมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม สาขาขนส่ง น่าจะเป็นกลุ่มหนึ่ง ที่นำมาจัดเป็นคลัสเตอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ Logistic ของประเทศได้ ปัจจุบันสาขาขนส่งประกอบด้วย รัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง ประกอบด้วย
- การขนส่งทางบก 6 แห่ง ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)
- การขนส่งอากาศ 5 แห่ง ได้แก่ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบิน จำกัด (บวท.) และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.)
- การขนส่งทางน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) และ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บอท.)
ส่วนสาขาอื่น อาทิ สาขาพลังงานเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องการให้มีการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้สามารถระดมทุนสำหรับลงทุนในอนาคต ในสาขานี้ ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่แปลงสภาพและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ส่วน กฟผ. รัฐบาลพยายาม ผลักดันให้มีการแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัด ในปีนี้
สาขาการสื่อสาร เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มุ่งแปรรูป เพื่อให้โครงสร้างธุรกิจโทรคมนาคมมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยปัจจุบันได้แปลงสภาพเป็นบริษัททั้งหมด และมี บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เข้าจดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดแล้ว ขณะที่ บริษัท ทศท คอปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 3-4 ปี 2548 นี้
อย่างไรก็ตาม การจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ และแม้จะอยู่ในสาขาเดียวกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนำมามัดรวมในคลัสเตอร์เดียวกันทั้งหมด ซึ่งการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจจากต่างประเทศ ประเด็นหลักคือ ดูว่า เขาทำทำไมและทำอย่างไร เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับแนวคิด และวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจของไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่จะลืมไม่ได้คือ การมองจุดด้อยหรืออุปสรรคปัญหาที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ยกตัวอย่าง ผลดำเนินงานในช่วง 5 ปี (ค.ศ.2000-ค.ศ.2004) ของทรานส์เน็ตจะพบว่าในช่วง 2 ปีหลังประสบปัญหาขาดทุนเพิ่มขึ้น หลังจากมีผลกำไรต่อเนื่องติดต่อกันใน 3 ปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากธุรกิจด้านสายการบิน บริษัทลูกที่ทรานส์เน็ตถือหุ้นใหญ่อยู่ถึง 95% ซื้อเครื่องบินเพิ่ม ขณะที่ทรานส์เน็ตเองต้องการมุ่งธุรกิจขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นงานที่เขาถนัดเพียงอย่างเดียว และต้องการขาย ธุรกิจนี้ทิ้ง แต่การพ่วงบริษัทลูกเหล่านี้สืบเนื่องจากรัฐบาลใส่ธุรกิจทุกประเภทที่เกี่ยวกับการขนส่ง ทั้งด้านการขนคน และขนสินค้า ไว้ให้ตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การดูแลรัฐวิสาหกิจในแบบคลัสเตอร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการวางแผนยุทธ-ศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งไม่ซ้ำซ้อน แต่ให้วางยุทธศาสตร์ร่วมกันโดยใช้หลักการประหยัดของขนาด (Economy of scale) บรรลุผลอย่างแท้จริง และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเสียแต่ต้น
โดยสรุป หากย้อนดูถึงความพยายามในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ในปี 2543 รัฐบาลไทยมีแผนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจรายสาขา โดยมีแผนแม่บทการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละสาขาเป็นกรอบทิศในการดำเนินงาน และหลังจากรัฐบาลทักษิณ 1 เข้ามาบริหารประเทศในปี 2544 ก็ได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นนโยบายหลัก แต่ในทางปฏิบัติ มีรัฐวิสาหกิจเพียงบางแห่งที่สามารถเดินหน้าได้ตามแผน ขณะที่ ส่วนใหญ่ยังวนเวียนเข้าสู่กระบวนการจัดทัพใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์และกลุ่มที่ต้องฟื้นฟูให้พ้นสภาพขาดทุนและกลับมาสร้างกำไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|