|
การประชุมเอเปค
โดย
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2537)
กลับสู่หน้าหลัก
ในปัจจุบันความร่วมมือระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ มีให้เห็นเป็นโครงข่ายที่ครอบคลุม และเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆเข้าไว้ด้วยกันทั้งในแนวลึกและในแนวกว้าง จนในบางครั้งความร่วมมือต่าง ๆ มีความซับซ้อนหรือมีความขัดแย้งกัน กลายเป็นสงครามการค้าระหว่างเขตไป หรือมีความเป็นกลุ่มของการกีดกันทางการค้า (DISCRIMINATORY TRADING BLOCS ) แต่อย่างไรก็ดีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีอยู่มักจะเป็นผลพวงของการผลักดันเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันในหมู่สมาชิก
เช่นเดียวกันกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปก (APEC: ASIA PACIFIC ECONOMIC COOPERATION ) ที่ก่อตั้งขึ้นจากข้อเสนอของนายบ๊อบ ฮอว์ค นายก รัฐมนตรีออสเตรเลีย โดยมีสมาชิกทั้งสิ้น 17 ประเทศ คือ ประเทศในกลุ่มอาเซี่ยน 6 ประเทศ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เม็กซิโก และปาปัวนิวกินี ในขณะที่ชิลี จะเข้ามาเป็นสมาชิกในเดือนพฤศจิกายน 2537 โดยในการก่อตั้งเริ่มแรกนั้น เอเปกมีความหมายของการเป็นเวทีเพื่อการปรึกษาหารือ ( CONSULTATIVE FORUM) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภาวะทางเศรษฐกิจทั่วไปของประเทศสมาชิก รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ การพัฒนาทางด้านทรัพยากรบุคคล และลดอุปสรรคทางด้านการค้าระหว่างประเทศสมาชิก โดยมีกลุ่ม อีพีจี (EPG: EMINENT PERSON GROUP) ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่จะคอยให้คำแนะนำถึงทิศทางและบทบาทของเอเปก
กลุ่มเอเปกนี้จะครอบคลุม ประชากรจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ในขณะที่มีการ ปฏิสัมพันธ์ทางการค้าสูงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของโลก เป็นความร่วมมือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงที่สุดในยุคนี้และมีการขยายตัวของประชากรที่สูงเช่นกัน
ในวันที่ 15 พฤศจิกายน นี้จะมีการประชุมผู้นำเอเปก ที่เกาะ BOGOR ประเทศอินโดนีเซียโดยเป็นการประชุมหารือในระดับของเจ้าหน้าที่อาวุโสในระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. และการประชุมในระดับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย. ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมผู้นำเอเปก โดยจะมีการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในการที่จะผลักดันให้ความร่วมมือนี้ก้าวไปสู่การเป็นเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเสรี ตามข้อเสนอของกลุ่มอีพีจีโดยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความสำเร็จดังกล่าวได้ที่ปีค.ศ. 2020 อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับเนื้อหาข้อตกลงของแกตต์
กลุ่มอีพีจีได้เสนอให้ใช้นโยบาย "ภูมิภาคเปิด" ( FREE AND OPEN TRADE AND INVESTMENT IN THE REGION ) โดยเปิดให้สมาชิกมีการค้าขายในภูมิภาคอย่างเสรี ในขณะเดียวกันก็เปิดเสรีให้สมาชิกนอกกลุ่มที่ต้องการทำตามเงื่อนไขของเอเปกด้วย และให้ประเทศสมาชิกเอเปกได้เริ่มปรับลดอุปสรรคทางด้านการค้าและการลงทุนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นเขตการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์ให้ได้ในปี ค.ศ. 2020 โดยระบุแยกหมวดประเทศในการปรับลดภาษีตามสถานภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ให้เวลากับประเทศที่พัฒนาแล้วในการเปิดเสรีอย่าง สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ภายในระยะเวลา 10 ปี ให้เวลา 15 ปีสำหรับประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่าง เกาหลีใต้ และไต้หวันในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเปิดเสรีภายในระยะเวลา 20 ปี ได้แก่ประเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นต้น และยังได้เสนอให้มีการส่งเสริมการลงทุน และการค้า ความร่วมมือทางด้านการเงิน การคลัง นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน เป็นต้น
ความเห็นของกลุ่มอีพีจีนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสหรัฐ ฯ และออสเตรเลีย ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียอย่างมาเลเซีย ปฏิเสธการกระชับบทบาทของเอเปกดังกล่าว เนื่องจากความหวาดกลัวในการเข้าครอบงำทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯโดยให้การสนับสนุนต่อการร่วมมือกันในหมู่ประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ความร่วมมือทางเขตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEC:EAST ASIA ECONOMIC CAUCUS) อันประกอบด้วยประเทศในกลุ่มเอเซียน ( 6 ประเทศ) เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศเจ้าภาพในการประชุมในปีนี้อย่างอินโดนีเซียได้เริ่มที่จะให้ความสนับสนุนต่อคำแนะนำของอีพีจี ถึงแม้ว่า อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีการปกป้องเศรษฐกิจภายในอยู่มากก็ตาม ทว่าจีนกลับมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความร่วมมือในข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลของสภาพความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจนั้นเอง
สภาพความแตกต่างทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิกนี้เอง ที่ทำให้ความสอดประสานของความเต็มใจในการดำเนินตามแนวทาง ของกลุ่มอีพีจี เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น
แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ในการที่จะกระชับความร่วมมือในกรอบของเอเปก ก็คงไม่พ้นบทบาทของประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวจักร ในการที่จะส่งเสริมหรือฉุดรั้งให้ประเทศที่มีการพัฒนาที่น้อยกว่าทั้งหลาย ได้รับผลพวงจากการรวมกลุ่มดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทางด้านบุคลากร การสนับสนุนทางด้านเงินทุน การส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น เพื่อเป็นการลบเลือนภาพลักษณ์ของการมุ่งเข้ามากอบโกยของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เพราะหากความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกเอเปกเหล่านี้ มิได้รับความใส่ใจประสาน อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างกันได้ในที่สุด
อย่างไรก็ดี ในกรอบของเอเปกนี้ถือได้ว่าเป็นแนวทางที่จะสนับสนุนมติของแกตต์ ในการขจัดอุปสรรคทางด้านการค้าต่าง ๆ การลดบทบาทของความตกลงใด ๆ ในระดับทวิภาคี ทั้งยังจะเป็นการลดแนวโน้มการรวมกลุ่มเพื่อการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างภูมิภาคต่าง ๆทั้งอาฟต้า อียู หรืออาเซียน
สำหรับประเทศไทยเอง ได้แสดงท่าทีรับข้อเสนอในการเปิดเขตการค้าเสรี แต่ยังมีข้อติดขัดในบางประเด็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดตั้งกลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสมาชิกและในประเด็นของความร่วมมืออื่น ๆ และยังคงต้องการที่จะให้มีการปรึกษาหารือถึงท่าทีต่อข้อเสนอดังกล่าวก่อนในกรอบของอาเซียนด้วย
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ยังคงยึดถือแนวทางในการสนับสนุนการค้าเสรีในด้านต่าง ๆ ทั้ง ภายใต้กรอบของแกตต์ และอาฟต้า แต่การเปิดเสรีถึงแม้ว่าจะให้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะ เป็นอำนาจต่อรองทางการค้า การถ่ายทอดทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนาในด้านทรัพยากรมนุษย์ การ สื่อสารทางด้านข้อมูลต่าง ๆ หรือการใช้เวทีดังกล่าวเพื่อการลดแรงกดจากมาตรการที่ได้รับจากความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีการเปิดเสรีดังกล่าวย่อมต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ภายใต้ความพร้อมทางเศรษฐกิจภายในที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงในกรอบใหญ่อันประกอบด้วยสมาชิกเป็นจำนวนมากที่มีระดับของการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกันอย่างมากเช่นนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของอุตสาหกรรมที่เคยได้รับการคุ้มครองมาโดยตลอด หรือสภาพศักยภาพทางการแข่งขันของภาค ต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจว่า มีความพร้อมและมีเครื่องมือในการต่อสู้ กับกระแสความเป็นเสรีทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|