|

ความสำคัญของโครงการโทรศัพท์ 1.1 ล้านเลขหมาย
โดย
ขุนทอง ลอเสรีวานิช
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2537)
กลับสู่หน้าหลัก
ความคิดขององค์การโทรศัพท์ (ทศท.) และกระทรวงคมนาคม ในการผลักดันโครงการติดตั้งโทรศัพท์เพิ่มขึ้นอีก 1.1 ล้านเลขหมาย นอกเหนือจาก 3 ล้านเลขหมายที่อยู่ในระหว่างดำเนินการโดยบริษัทเทเลคอม เอเซียและบริษัทไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่นหรือทีทีแอนด์ทีนั้น ก็เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ที่คาดหวังว่า เมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2539 ประชาชนไทยจะมีโทรศัพท์ใช้ในอัตราส่วน 10 คนต่อ 1 เลขหมาย
แนวทางการดำเนินการมีข้อขัดแย้งกันอยู่ระหว่างวิธีที่จะให้เทเลคอม เอเซียและทีทีแอนด์ ที่เจ้าของสัมปทานสามล้านเลขหมายพ่วงเอา 1.1 ล้านเลขหมายเข้าไปด้วย โดยทศท.ร่วมทุนกับสองรายนี้ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา
วิธีการที่สองคือ ทศท.ลงทุนเอง โดยตั้งบริษัทร่วมทุนกับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาล
วิธีการที่สามคือ การเปิดประมูลโดยเสรี ให้เอกชนรายใหม่เข้ามาติดตั้งเหมือนกับเทเลคอม เอเซียและทีทีแอนด์ที
สองแนวทางหลังนั้น มีปัญหาตรงที่ว่า ในสัญญาสัมปทาน 2 ล้านเลขหมายของเทเลคอม เอเซีย กับ 1ล้านเลขหมายของทีทีแอนด์ทีนั้น ทศท.จะให้สัมปทานกับเอกชนรายอื่น ๆ มาติดตั้งโทรศัพท์ใหม่ไม่ได้ จนกว่าจะถึงปี 2540 ซึ่งทั้งสองรายนี้ติดตั้งโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เว้นแต่จะแก้ไขสัญญา ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก และถ้าเปิดประมูลใหม่โดยไม่สนใจเรื่องสัญญา ทศท.จะ เสี่ยงต่อการถูกฟ้อง
นอกจากนั้นแล้ว การเปิดประมูลใหม่จะใช้เวลานานไม่ทันการเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์ให้เป็นไปตามแผน 7 แน่นอน
ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า กระทรวงคมนาคมในสมัยของพันเอกวินัย สมพงษ์ จะเสนอวิธีแรก ซึ่งสามารถทำได้รวดเร็ว เพราะมีโครงข่ายสายโทรศัพท์พื้นฐานอยู่แล้วเพียงแต่เพิ่มตู้ชุมสายก็สามารถขยายหมายเลขได้ เนื่องจากสายเคเบิ้ล ใยแก้วของเทเลคอมเอเซียและทีทีแอนด์ที ยังมีช่องสัญญาณสำหรับโทรศัพท์ได้อีกหลายล้านเลขหมาย
แต่แล้วพลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมก็ขอให้คณะรัฐมนตรีระงับการพิจารณาโครงการนี้ไว้ก่อนรอให้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคนใหม่ตัดสินใจเอง
เหตุผลที่ว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ควรจะให้ผู้ที่มารับหน้าที่คนใหม่รับผิดชอบพอจะ ฟังขึ้น แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงทิศทางธุรกิจโทรคมนาคมแล้ว มีนัยสำคัญที่ต้องวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้ง
ผลประโยชน์ที่เห็นกันชัด ๆ สำหรับผู้ที่ได้เป็นเจ้าของสัมปทานใหม่ 1.1ล้านเลขหมายที่เห็นกันชัด ๆ คือรายได้จากค่าบริการ แต่สิ่งที่มีความหมายสำคัญที่สุดคือการได้สิทธิเป็นผู้บริหารเครือข่ายเคเบิ้ล ใยแก้วซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดที่สามารถสร้างธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมได้อย่างมากมาย ที่เรียกกันว่า บริการเสริมอย่างที่เทเลคอม เอเซียกำลังเริ่มทำอยู่ในปัจจุบัน ทั้งวิดีโอเท็กซ์ และเคเบิ้ลทีวี
สื่อในการส่งสารที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันมีทั้งสายโทรศัพท์พื้นฐาน คลื่นวิทยุและ ดาวเทียม ซึ่งเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน แต่ก็มีขอบเขตและประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ต่างกัน
คลื่นวิทยุใช้สำหรับโทรศัพท์ไร้สายเป็นส่วนใหญ่ดาวเทียมเหมาะสำหรับการส่งสัญญาณจาก ต้นทางจุดเดียวไปยังผู้รับหลาย ๆจุดพร้อมกัน ในบริเวณกว้าง ๆ และห่างไกล ในขณะที่โทรศัพท์มีข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ได้ไม่ทั่วถึง แต่มีความได้เปรียบที่สื่อแบบอื่น ๆ ไม่มีคือควบคุมและกำหนด รูปแบบการสื่อสารได้ เพราะเป็นสื่อที่ใส่ "สมอง" คือระบบคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์กลางหรือชุมสายได้ ซึ่งสามารถพัฒนาให้เกิดเป็นบริการใหม่ ๆ ได้มากมายกว่าคลื่นวิทยุ และดาวเทียม
ที่สำคัญการเป็นเจ้าของสื่อดาวเทียมปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยาก มีดาวเทียมมากมายหลายสิบดวงบนอวกาศที่มีเทคโนโลยีทัดเทียมกัน และเจ้าของพร้อมจะให้เช่าช่องสัญญาณ ส่วนเครือข่ายสายโทรศัพท์แบบเคเบิ้ล ใยแก้วในประเทศไทยมีอยู่เพียงสองราย
เจ้าของเครือข่ายเคเบิ้ล ใยแก้วสามารถหาช่องสัญญาณดาวเทียมได้ทั่วไป ส่วนเจ้าของดาวเทียมก็เช่าสายใยแก้วได้ไม่ยากนักเช่นกัน แต่จะใช้ประโยชน์ได้มากมายเพียงใด และช้าเร็วแค่ไหน อยู่ที่ "สมอง" ของเครือข่ายใยแก้ว ซึ่งผู้กำหนดคือ ผู้บริหารเครือข่ายไม่ใช่ผู้เช่า
นี่คือความสำคัญที่แท้จริงของโครงการ 1 ล้านเลขหมาย จนพลตรีจำลองต้องดึงเรื่องรอรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมชื่อวิชิต สุรพงษ์ชัย ที่มาจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศชื่อทักษิณ ชินวัตร เจ้าของธุรกิจสื่อสารที่มีสัมปทานคลื่นวิทยุ และดาวเทียมแล้วยังขาดอยู่แต่เครือข่ายโทรศัพท์บนพื้นดินเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|