|

ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ ขายที่ดินริมทะเลเพื่อสร้างป่า
โดย
นฤมล อภินิเวศ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)
กลับสู่หน้าหลัก
โครงการอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำแม่สอย คงจะไม่สำเร็จเห็นผลในชั่วเวลาสั้น หากปราศจาก เงินสนับสนุน 17 ล้านบาทจากกระเป๋าเงินส่วนตัวของม.ร.ว. สมานสนิท สวัสดิวัตน์ หรือเท่ากับสอง ในสามส่วนของเงินที่ใช้ทั้งหมด 25 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มโครงการปลายปี 2529 จนถึงปัจจุบัน
เงินช่วยเหลือก้อนแรก 400,000 บาท เป็นเงินที่ใช้ในการล้อมรั้วลวดหนามป่าต้นน้ำนั่นเอง
ในขณะนั้นน้อยคนนักที่รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ “ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์” แม้กระทั่งในระหว่างการพิจารณา เรื่องการโยกย้ายชาวเขาลงพื้นราบของคณะรัฐมนตรีสมัยนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อมีการพูดพาดพิงถึง คุณหญิงกลายเป็น “แม่ชีคนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าหม่อมหลวง แต่การแต่งตัวเหมือนชาวเขา”
ม.ร.ว.สมานสนิท เป็นธิดาคนที่สามของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท หรือท่านชิ้น และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ ท่านพ่อของคุณหญิงเป็นพระเชษฐาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาล ที่ 7 และยังเป็นราชองครักษ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติแล้วเสด็จไปประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
คุณหญิงเติบโตและเล่าเรียนที่อังกฤษจนจบการศึกษาปริญญาตรี เมื่อกลับมาเมืองไทยเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อมาย้ายมาสอนวิชาศิลปะและภาษาอังกฤษที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี รวมทั้งสอนศิลปะการเขียน ภาพและการทำผ้าบาติกด้วย จนเกิดสตูดิโอ “งองู” เพ้นท์และย้อมผ้าบาติกขายในไทยและส่งนอก เงิน สี่แสนบาทที่ใช้รักษาป่าก็มาจากรายได้ธุรกิจที่ทำมานานกว่าสิบปี
โลกของพระอาจารย์พงษ์ศักดิ์และลูกศิษย์ม.ร.ว.สมานสนิทอาจจะไม่บรรจบกัน ถ้าหาก หม่อมเสมอ-หม่อมแม่ของคุณหญิงไม่ได้สร้างบ้านอยู่ในบริเวณของวัดผาลาด บนดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ ในความดูแลของเจ้าอาวาสพระพงษ์ศักดิ์
“ตอนที่พระอาจารย์เล่าปัญหาป่าต้นน้ำแม่สอย เหตุการณ์กำลังตึงเครียด ต้องการเงินมารักษา ป่าต้นน้ำโดยการล้อมรั้วให้เร็วที่สุด ดิฉันคิดแล้วไม่มีทางใดเร็วเท่ากับว่าดิฉันบริจาคเงินเอง เพราะในเวลานั้นการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าปัจจุบัน” ม.ร.ว.สมานสนิทเล่าอดีต ณ จุดเริ่มต้นที่เข้ามาร่วมโครงการอนุรักษ์และพัฒนาป่าต้นน้ำแม่สอยกับชาวบ้านและพระพงษ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่คุณหญิงเคารพและรู้จักไม่ต่ำกว่า 20 ปี
ระยะแรก มีคนเคลือบแคลงใจว่า ม.ร.ว.สมานสนิท ให้เงินมากมายสร้างป่าในที่ดินที่ไม่ใช่ของตน “เพื่ออะไร” ในขณะเดียวกันก็มีบางคนแสดงความห่วงใยว่า “ระวังถูกพระหลอก”
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ตั้งมูลนิธิธรรมนาถแล้ว คุณหญิงตัดสินใจเลิกธุรกิจผ้าบาติกเพื่อทุ่มเต็มตัวกับการเขียนโครงการหาทุนสร้างป่า
“จำได้ว่าครั้งแรกที่เริ่มเขียน กินเวลา 20 นาทีกว่าจะได้ออกมาสักหนึ่งประโยค การเขียนหนังสือเป็นสิ่งที่ดิฉันไม่ถนัดเลยไม่เหมือนเขียนรูปอีกทั้งก็ไม่รู้ว่าเขาเขียนโครงการหาทุนกันอย่างไร” ม.ร.ว.สมานสนิทพูดถึงความลำบากของการเขียนหนังสือเพื่อขอเงิน
นอกจากนี้แล้ว ในตอนนั้น พระพงษ์ศักดิ์ถูกทางราชการเพ็งเล็งและตรวจสอบอยู่ มีจดหมายร้องเรียนอ้างว่าจากชาวบ้านวังน้ำหยาด มีหนังสือจากสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่สมัยนั้นชื่อทองวอแสวง และสุรพันธ์ ชินวัตร ในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ แจ้งกรมป่าไม้ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องพระพงษ์ศักดิ์ บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเพื่อตั้งอาณาจักรสงฆ์เถื่อน
กรมป่าไม้และกองทัพภาคที่ 3 ใช้เวลาสืบสวนและสรุปผลเสร็จภายในปีเดียว ข้อความจริงก็กระจ่าง ทำให้ความพยายามของคุณหญิงในการเขียนโครงการขอทุนไม่สูญเปล่ามี UNEP-United Nations Environmental Program ให้เงินสนับสนุน 75,000 บาท และสถานทูตเยอรมันให้ 225,000 บาท ประเดิมเป็นรายแรก ๆ
เป็นเรื่องที่น่าแปลกแต่เป็นความจริงที่ว่า โครงการนี้อยู่ในเมืองไทย เพื่อแก้ปัญหาของป่าไทย แต่คนไทยจะไม่ค่อยรู้จักและให้ความสนใจมากนักตรงข้ามกับชาวต่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ป่าเขตร้อนจะตื่นเต้น และอยากมาเห็นของจริง และเมื่อเห็นแล้วก็ยังเผยแพร่ต่อในรูปของวิดีโอสารคดีทางโทรทัศน์ ABC และ BBC และสถานีโทรทัศน์ของออสเตรเลีย
ผู้ให้ทุนส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ สถานทูตองค์กรเอกชน( NGOs) ระหว่างประเทศ เช่น Ford Foundation Canadian Friends Service Committee หรือ เควเกอร์ Environmental Policy Institute ( New York ) สถานทูตอังกฤษ สถานทูตแคนาดา และองค์กรอื่น ๆ อีก 20 แห่ง
รายบุคคลที่บริจาคก็มีมากเช่นกัน บุคคลที่คนรู้จักทั่วโลกคือ เจ้าฟ้าชายชารล์ส แห่งอังกฤษ
“ประมาณสามปีมาแล้วท่านแสดงปาฐกถา ตรัสถึงความห่วงใยป่าเขตร้อนที่นับวันจะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ดิฉันและเพื่อนชาวอังกฤษซึ่งมาช่วยทำงานที่สำนักงานมูลนิธิธรรมนาถสาขาอังกฤษ คิดว่าเราควรส่งโครงการของเราให้ท่านอ่าน ผลปรากฏว่า ท่านมีจดหมายตอบมา ขอมีส่วนช่วยด้วยเงินจำนวนหนึ่ง” คุณหญิงเล่าความเป็นมา
แวน เมล เจ้าของธุรกิจลูกอม Mentos ซึ่งเข้ามาสู่ตลาดบริโภคของคนไทยนานเป็นสิบปี ได้ยินเกี่ยวกับโครงการนี้จากเพื่อน เขาเกิดความสนใจขึ้นทันทีเพราะมาสอดคล้องกับความคิดที่ว่าอยากจะ ช่วยเหลือการปลูกป่า โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นป่าฝนเขตร้อน เนื่องจากโรงงานของเขาปล่อยก๊าซคาร์บอน-ไดออกไซด์ออกมามากในการทำขนม จึงอยากปลูกต้นไม้ทดแทน
บุคคลอื่น ๆ ก็มีที่เป็นญาติพี่น้อง และเพื่อน ๆ ทั้งคนไทยและต่างประเทศ ซึ่งบางคนเป็นศิลปินเขียนรูป ทำเครื่องปั้นดินเผา และนักเปียโนคอนเสิร์ต จะมอบรายได้จากงานแสดงมาช่วยสร้างป่า
ถึงแม้จะมีเงินบริจาคเข้ามาช่วยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่รายรับก็มักจะน้อยกว่ารายจ่ายเสมอ เงินส่วนใหญ่จึงยังต้องเป็นเงินของม.ร.ว.สมานสนิท ซึ่งได้มาจากการขายที่ดินมรดก อยู่ริมทะเลชาย หาดหัวหิน ได้เงินมาราว 17 ล้าน
เงินจำนวนนี้สำหรับคนบางคน อาจจะนำไปเล่นหุ้น หรือซื้อรถหรู หรือใช้เป็นทุนทำธุรกิจ แต่สำหรับม.ร.ว.สมานสนิทใช้เงินเหล่านี้ซื้อรถแทรกเตอร์ รถบรรทุก รถกระบะ รถจี๊ป ซื้อที่ดินเพื่อสร้างอาคารร้านค้าสหกรณ์สำหรับหมู่บ้านวังน้ำหยาด ตั้งกองทุนข้าวธนาคารให้เงินกู้ยืมในการลงทุนเพื่อการเกษตรโดยไม่คิดดอกเบี้ยและอื่น ๆ อีกเพื่อให้โครงการนี้สมบูรณ์ครบวงจรการช่วยเหลือตัวเอง
“ดิฉันมักเจอคำถามว่า เอาเงินส่วนตัวมาสร้างป่า เพื่ออะไร ดิฉันคิดว่าถ้าเราจะทิ้งมรดกให้ลูก จะมีอะไรดีกว่าการให้โลกเขียวเพราะที่ทำมาทั้งหมด มิใช่ว่าต้องการเพียงฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่สอยแห่งเดียว เราทำที่นี่เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการสร้างป่าให้เขียวทำได้จริง และหวังว่าจะมีคนมาช่วยกันสร้างป่า ในที่แห่งอื่น ๆ ทั่วประเทศ” คือความในใจของม.ร.ว.สมานสนิท
โครงการอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำแม่สอยสำเร็จ 80% แล้วเหลือเพียงอีก 20% ก็จะสมบูรณ์เมื่อถึงตอนนั้น ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ ตั้งใจจะวางมือและกลับไปเขียนรูปอีกครั้งหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|