|
เรียลเอสเตทฮ่องกงของจริงหรือฟองสบู่
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)
กลับสู่หน้าหลัก
นับจากปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงก็ยังไม่คลายความร้อนแรงราคาซื้อขายในตลาดพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แทบทุกวันและเป็นเช่นนั้นมาตลอด แม้จะโดนกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในจีนแผ่นดินใหญ่บ้าง อย่างการปราบปรามครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่นักวิเคราะห์ในวงการอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงก็เชื่อมั่นว่า อัตราการเติบโตนี้จะ ไม่เข้าขั้นอันตรายเพราะมันคือภาวะ “รุ่งโรจน์ที่สุด” ไม่ใช่ภาวะ “ฟองสบู่”
ราคาอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงที่ถีบตัวสูงขึ้นทุกวันยังไม่มีทีท่าว่าจะหาจุดสูงสุดได้ มอร์แกน สแตนลี่ย์ บริษัทวาณิชธนกิจธนาคารชั้นนำของโลกเปิดเผยว่า ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมาราคาอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นในอัตราระหว่าง 10-45% แตกต่างกันไปตามประเภท เช่นราคาสำนักงานเพิ่มขึ้น 35-40% ขณะที่ราคาแฟลตระดับกลางถีบตัวขึ้นไปมากกว่าเดิมขึ้นถึง 75 %
แม้ภาวะธุรกิจเรียลเอสเตทของฮ่องกงจะยังไม่เทียบเท่ากับของญี่ปุ่นซึ่งรุ่งเรืองสุดขีดในปี 1989 ซึ่งว่ากันว่า ราคาที่ดินผืนเล็กในโตเกียวผืนหนึ่งนั้นมีมูลค่าเท่ากับ 1 ส่วน 10 ของอัตราหนี้สินทั้งหมดของออสเตรเลียเลยทีเดียว แต่ภาวะที่เป็นอยู่ก็ทำให้เกิดความหวั่นเกรงในสายตาผู้อยู่วงนอกทั้งหลายว่า ฮ่องกงจะก้าวเข้าสู่วงจรเดียวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น คือภาวะฟองสบู่เสียแล้ว
แต่นักลงทุนของฮ่องกงเองกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะเชื่อว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องของสองตลาดนี้ต่างกัน ดังความเห็นของนักวิเคราะห์รายหนึ่งที่กล่าวว่า “การไต่ระดับของราคาที่ดินในฮ่องกงไม่เหมือนกับตลาดของประเทศอื่น ๆ เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงพุ่งขึ้นนั้นไม่ใช่ผลจากความหละหลวมของการปล่อยสินเชื่อ, ความร้อนแรงของการแข่งขัน, การเร่งมือสร้างของนักพัฒนาที่ดินหรือจากการเก็งกำไรที่ดิน แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงเป็นตลาดที่อยู่ในความควบคุม ของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพียงหยิบมือหนึ่งซึ่งมีทุนมหาศาลพอที่จะกระจายอุปทานลงตลาดได้อย่างไม่จำกัด”
นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการก่อสร้างเพื่อสนองความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ทำให้การขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงเฟื่องฟูไม่รู้จบด้วย
แม้จะยังมีเสียงแย้งจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยที่คาดว่า อย่างไรเสียภาวะรุ่งเรืองนี้ก็ดำรงอยู่ได้อีกราว ๆ 5-6 ปีเท่านั้น ในปี 1999-2000 จะเกิดภาวะการพัฒนาจนมากเกินความต้องการขึ้นแน่นอน แต่ผู้ที่เห็นว่าตลาดจะยังดีอยู่นั้น ก็มองในแง่ของการเป็นประตูเปิดไปสู่จีนของฮ่องกงเสียมากกว่า เพราะประเมินว่า ฮ่องกงก็คล้ายกับเซินเจิ้นของจีน ซึ่งชาวจีนต่างแห่กันเข้าไปเพื่อใช้เป็นจุดที่จะออกไปติดต่อกับโลกภายนอกนั่นเอง
ไม่ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงจะรุ่งโรจน์ต่อไปอีกนานเท่าใดอย่างน้อยนักลงทุนก็จับแนวโน้มได้ว่าเงินลงทุนจากนักธุรกิจจีนจะเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญในอนาคต เพราะนักธุรกิจเหล่านี้กำลังผงาดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดหลังจากที่ซุ่มสร้างสายสัมพันธ์ผ่านนักธุรกิจคนกลางในแวดวงอุตสาหกรรมมานาน พลังด้านการเงินของนักธุรกิจจีนรวมถึงความแข็งแกร่งที่สร้างสมมาจะปรากฎให้เห็นภายในไม่กี่ปีข้างหน้า จึงไม่ผิดหากจะคาดว่า หลังการส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีนในปี 1997 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงก็จะระอุขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|