|
งง"กิตติพัฒน์"ฟ้องรอยเนทกู้
ผู้จัดการรายวัน(12 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คดี "รอยเนท" ฟ้องกันนัวเนีย พบยอดส่งฟ้องรวม 16 คดี "กิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์" ทำพิลึกฟ้องตัวบริษัทเรียกค่าเสียหายให้กู้ 5 ล้านบาท ด้านกลุ่ม "ฮาร์มิท คัวร์ ชอว์ลา" ขายหุ้นออกเกือบทั้งหมดเหลือแค่ 500 หุ้นหลังอัดเงินเข้ามาหนุนเบ็ดเสร็จขาดทุนกว่า 10 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่คนล่าสุดทุ่มเงินเข้าซื้อทั้งที่ยังไม่รู้ว่าบริษัทกำลังถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ใหม่
นายเด่นพงศ์ จันทรดี ผู้จัดการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เปิดเผย ว่า ความคืบหน้ากรณีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยยื่นฟ้องร้อง นายกิตติพัฒน์ เยาวพฤกษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยเนท จำกัด (มหาชน) หรือ ROYNET ว่า ขณะนี้การพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นซึ่งกำลังนัดสืบพยานจำเลย คือ นายกิตติพัฒน์ ซึ่งถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ฟ้องร้องในข้อหาฉ้อฉล รวมถึงใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น (อินไซเดอร์เทรดดิ้ง) ซึ่งนอกจากนี้ยังมีการฟ้องร้องจากผู้เสียหายอีกรวม 16 คดี มีทั้งการฟ้องร้องในคดีแพ่งและคดีอาญา
"ทั้งนี้ยังรวมถึงคดีที่นายกิตติพัฒน์ อดีตกรรมการผู้จัดการของบริษัทรอยเนท ได้ยื่นฟ้องร้องบริษัทตัวเองในกรณีที่บริษัทมีการกู้ยืมเงินจากนายกิตติพัฒน์ จำนวน 5 ล้านบาท ซึ่งหลักฐานและข้อมูลของนายกิตติพัฒน์ ในเรื่องการกู้ยืมค่อนข้างมีความชัดเจน มาก การสืบพยานในคดีนี้คงใช้เวลาอีกนาน เพราะมีการฟ้องร้องหลาย คดี รวมถึงกรณีนายกิตติพัฒน์ฟ้องบริษัทกรณีกู้ยืมเงินตัวเองกว่า 5 ล้านบาท โดยเขาอ้างว่ามีหลักฐานตรงนี้ชัดเจน" นายเด่นพงศ์กล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า หลังจากที่เกิดปัญหาภายในของบริษัทรอยเนท ได้มีผู้ถือหุ้นหลายกลุ่มที่ต้องการเข้ามา บริหารงานในบริษัท แต่เมื่อได้มีการตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัทรอยเนทแล้วปรากฏว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวที่หวังจะเข้าบริหารต่างกลับลำขอถอนตัวออกไปหมด เนื่องจากไม่สามารถรับภาระขาดทุนของบริษัทได้
ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ประมาณ 2-3 แสนบาท ขณะที่รายจ่ายแต่ละเดือนอยู่ที่ 6-7 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งทำให้ผู้ที่เข้ามาบริหารต้องรับภาระในเรื่องดังกล่าว เช่น กลุ่มนายฮาร์มิท คัวร์ ชอว์ลา ซึ่งเข้ามาบริหารต่อหลังจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ขับนายกิตติพัฒน์และคนในครอบครัวออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท แต่ด้วยภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายทำให้ต้องใส่เงินเข้าไปแล้วกว่า 10 ล้านบาทในช่วงที่บริหาร ทำให้ภายหลังจึงตัดสินใจขอถอนตัวออกมาจากการเป็นผู้บริหาร โดยได้ขายหุ้นออกเกือบหมดคงเหลือหุ้นที่ยังถืออยู่ 500 หุ้นเท่านั้น
"ตอนที่กลุ่มคุณฮาร์มิทเข้ามา บริหาร ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี ต้องเสียเงินกว่า 10 ล้านบาทเพราะต้องรับภาระที่ต้องจ่ายมากกว่ารายได้รับ ทำให้ต้องถอนตัวออกไปในขณะที่กลุ่มใหม่นักธุรกิจด้านวิศวกรรม บัญชี รวมถึงบุคคลทั่วไป ที่ต้องการเข้ามาบริหารภายหลังเข้ามาดูสิ่งที่คาด ว่าจะบริหารได้ก็ต้องผิดหวังเพราะปัญหาภายในบริษัทมีค่อนข้างมาก" นายเด่นพงศ์กล่าว
นายเด่นพงศ์กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้อนุญาตให้บริษัทรอยเนท กลับมาเปิดซื้อขายใหม่อีกรอบนั้น ได้มีนักลงทุนกลุ่มใหม่เข้ามารับซื้อหุ้นต่อ ซึ่งเป็นกลุ่มวิศวกร นักบัญชี ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยกับนักลงทุนกลุ่มนี้ หลายคน ไม่รู้ว่าบริษัทกำลังถูกเพิกถอนกิจการออกจากตลาด หลักทรัพย์ใหม่หรือเอ็มเอไอ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีการเพิกถอนกิจการทางบริษัทก็ได้จัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อหารือเกี่ยวกับการทำธุรกิจของบริษัท ซึ่งนักลงทุน กลุ่มนี้ก็ได้เข้ามาร่วมประชุมด้วยโดยมีประมาณ 30 ราย คิดเป็นสัดส่วนผู้ถือหุ้นรวม 70-80% โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่รายล่าสุดหลังการเข้ามาบริหารงานได้ให้คำมั่นว่าจะหาแนวทางเพื่อฟื้นฟูบริษัทโดยหลังจากนี้อีก 3 เดือนเมื่อสามารถหาแผนใหม่ได้แล้วจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้ง
ปัจจุบันบริษัทรอยเนทยังมีใบอนุญาต (ไลเซนส์) ในการประกอบธุรกิจอินเทอร์เน็ตจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และยังคงให้บริการอยู่ตามต่างจังหวัด โดยหากมีผู้ล็อกอินเข้าใช้ก็จะถูกบันทึกเป็นรายได้ของบริษัท
ทั้งนี้เหตุการณ์อื้อฉาวของบริษัท รอยเนท เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2545 หลังจากบริษัทได้แจ้งผลประกอบการว่ามีผลกำไรสุทธิ แต่ภายหลังสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบพบความไม่ปกติจึงสั่งให้แก้ไขงบการเงินใหม่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวนายกิตติพัฒน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลับได้ขายหุ้นที่ถืออยู่สัดส่วน 60% กว่า ออกมาหมด โดยไม่มีการรายงาน ไปยังสำนักงานก.ล.ต. ซึ่งเข้าข่ายว่าจะมีการใช้ข้อมูล ภายในเพื่อการซื้อขายหุ้นและฉ้อฉลนักลงทุนผู้ถือหุ้น จนถูกสำนักงาน ก.ล.ต.กล่าวโทษในที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|