|
คอนยัค : ดัชนีชี้เศรษฐกิจเอเชีย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)
กลับสู่หน้าหลัก
กิลล์ เฮนเนสซี่ รองประธานของเฮนเนสซี่ แอนด์โค ผู้ผลิตคอนยัคชื่อดังของโลก “เฮนเนสซี่” วิเคราะห์ตลาดคอนยัคในเอเชียว่า “การบริโภคคอนยัคเป็นดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ดีได้ตัวหนึ่ง เพราะยอดขายของสินค้าของเรานั้นผูกติดกับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศใน เอเชียอย่างเห็นได้ชัด”
และในจำนวนประเทศในเอเชียที่เป็นตัวอย่างที่ดีในขณะนี้คือ จีนและญี่ปุ่นซึ่งธุรกิจคอนยัคในเครือของ แอลวีเอ็มเอชผู้ผลิตสินค้าหรูหราชั้นนำของโลกเจ้านี้เผยว่า ตลาดคอนยัคในญี่ปุ่นขณะนี้เรียก ได้ว่าเข้าขั้น “หายนะ” ได้ทีเดียว แต่พร้อมกันนั้นอนาคตในการเติบโตก็ส่องแสงสว่างขึ้นในตลาดจีนเช่นกัน และแนวโน้มนี้มิใช่เพียงเฮนเนสซี่เท่านั้นที่ประจักษ์แจ้งแต่เป็นความเห็นร่วมกันของผู้ผลิตคอนยัคเจ้าใหญ่ของโลกทั้ง 3 รายคือ เฮนเนสซี่, เรมี่ และมาร์แตล
ความแตกต่างของตลาดทั้ง 2 แห่งนี้คือ ผู้บริโภคจีนกำลังสนใจลิ้มลองสินค้าที่ตนไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสมาตลอดยุคของการปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ขณะที่ตลาดส่วนนี้ในญี่ปุ่นได้อิ่มตัวมานานแล้ว และกำลังหดตัวลงในภาวะเศรษฐกิจลูกโป่งแตกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สร้างความกังวลให้กับผู้ผลิตคอนยัคของโลกอยู่มากพอสมควร เพราะปริมาณการบริโภคคอนยัคของตลาดเอเชียสูงถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณยอดขายทั่วโลก 116 ล้านขวดในปีที่ผ่านมา
ปัญหาของตลาดญี่ปุ่นนั้นเกิดจากทั้งสภาพเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของญี่ปุ่นทำให้ผลประกอบการของธุรกิจซามูไรตกต่ำไปด้วย ซึ่งส่งผลไปถึงงบประมาณที่เป็นสวัสดิการด้านความบันเทิงของแต่ละบริษัท และตามมาด้วยการปิดตัวเองลงของธุรกิจบาร์และร้านอาหารในกินซ่ากันเป็นทิวแถว ราคาคอนยัคระดับวีเอสโอพีตกฮวบลงจากขวดละ 10,000 เยนเหลือขวดละ 6,000 เยน แม้แต่เฮนเนสซี่ซึ่งเป็นเจ้าตลาดคอนยัคของญี่ปุ่นอยู่ก็ยังอดหนาว ๆ ร้อน ๆ ไม่ได้
หนึ่งในทางออกที่เฮนเนสซี่คิดจะทำอยู่ในขณะนี้คือ การนำสินค้าเข้าไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็เสี่ยงมากกับการเสียภาพพจน์ของสินค้าเพราะเฮนเนสซี่เป็นที่นิยมซื้อเป็นของขวัญที่มีค่าในความรู้สึกของคนรับ หากวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตซึ่งราคาจะต่ำลงนั้น สินค้าจะเสียภาพพจน์ของขวัญอันมี ค่าไปทันที
ขณะที่ผู้ผลิตทั้งหลายต้องปรับตัวอย่างสูงในตลาดญี่ปุ่น ตลาดจีนก็กลับเปิดโอกาสสำหรับการเติบโตล่อใจอยู่รำไรปัญหาที่สำคัญเพียงประการเดียวก็คือตลาดจีนจะนิยมบริโภคคอนยัคได้เท่ากับตลาดญี่ปุ่นในยุคก่อนเศรษฐกิจผันผวนได้หรือไม่ ? ซึ่งหากมองอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในขณะนี้ ความหวังที่จะทำตลาดได้ถึงระดับนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงพอสมควร
เฮนเนสซี่ประเมินตลาดส่วนนี้ว่าแม้รัฐบาลจีนจะยังผูกขาดระบบจัดจำหน่ายสินค้าประเภทนี้อยู่ในปัจจุบัน แต่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าการควบคุมในส่วนนี้คงจะหมดไป ส่วนหนึ่งเพราะจีนต้องก้าวเข้าสู่ตลาดโลกภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยอัตราภาษีการค้า และศุลกากร (แกตต์) นั่นเอง
ที่สำคัญก็คือ แม้ตัวเลขการบริโภคคอนยัคของทางการจีนชี้ว่า จีนยังเป็นตลาดคอนยัคเล็ก ๆ ด้วยปริมาณการซื้อเพียง 2.5 ล้านฟรังก์ในปี 1993 แต่ตัวเลขการซื้อขายผ่านร้านค้าตามชายแดนในฮ่องกงและมาเก๊านั้น แตกต่างกับตัวเลขของทางการโดยสิ้นเชิง และการลักลอบซื้อขายด้วยวิธีนี้เอง ทำให้ฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ผลิตคอนยัคของโลกเพียงประเทศเดียวอยู่ในทุกวันนี้
เหตุที่การลักลอบซื้อขายสินค้านี้เป็นที่นิยมกันมากก็เพราะอัตราภาษีที่เก็บต่างกันระหว่างจีนและฮ่องกง ขณะที่จีน รัฐบาลจีนเรียกเก็บภาษีถึง 245% ฮ่องกงเรียกเก็บเพียง 40% และยังมีร้านค้าปลอดภาษีคอยให้บริการอยู่อีกทางหนึ่งด้วย
แต่ถึงแม้สินค้าคอนยัคในจีนจะมีวี่แววรุ่งเรืองได้ในระยะยาว เฮนเนสซี่ก็ยังเชื่อว่า ไม่มีอะไรไว้ใจได้ วันข้างหน้าบริษัทอาจต้องปรับตัวให้ทันกับความนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปได้เร็วของตลาดแห่งนี้ก็ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|