|
ช่องแคบจีน-ไต้หวัน ถมให้เต็มด้วยการค้า-การลงทุน
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัจจุบัน นักธุรกิจไต้หวันเริ่มแห่ไปลงทุนในจีนมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้นำไต้หวันเริ่มมองเห็นแล้วว่าการจะสร้างเศรษฐกิจของตนให้ยิ่งใหญ่ขึ้นได้นั้นจะต้องขึ้นอยู่กับการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจร่วมกับจีนแผ่นดินใหญ่ ศัตรูคู่อาฆาตเก่าของตน
การเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดที่สุดของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เริ่มขึ้นในเดือนมกราคมโดยเหลียน ชาน นายกรัฐมนตรีไต้หวัน ซึ่งเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ ได้เสนอความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจสิงคโปร์และไต้หวันในการเข้าไปพัฒนาบ่อน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเกาะไห่หนานในจีน ทั้งนี้ไต้หวันจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านทุนส่วนสิงคโปร์จะให้เทคโนโลยี
เป็นที่น่าจับตาว่า การเคลื่อนไหวของไต้หวันหนนี้จะไปได้ไกลขนาดไหน ในเมื่อไต้หวันยังไม่ได้ยกเลิกนโยบายการห้ามติดต่อลงทุนโดยตรงกับจีน ดังนั้นการลงทุนครั้งนี้บริษัทไต้หวันจะต้องเข้าไปลงทุนในนามของบริษัทสิงคโปร์ ที่ผ่านมาบริษัทไต้หวันก็ได้เข้าเปิดสำนักงานลงทุนในฮ่องกงหรือประเทศ ที่ 3 อยู่แล้ว เพื่อเป็นทางผ่านเข้าไปรุกตลาดจีน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไต้หวันออกโรงด้วยตัวเอง
เหลียนไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลไต้หวันคนเดียวที่ฝ่าฝืนกฎการติดต่อกับจีน ก่อนหน้านี้ พี.เค เจียง รัฐมนตรีเศรษฐกิจก็ได้ออกมาให้คำแนะนำว่าไต้หวันน่าจะยกเลิกมาตรการที่ว่าได้แล้วถึงแม้ว่าเขา จะต้องออกมาแก้ตัวทีหลังว่ามันเป็นแค่การแสดงความคิดเห็นของเขาเท่านั้น ไม่ใช่ระดับนโยบายของประเทศ จนนักรัฐศาสตร์รายหนึ่งออกมากล่าวว่ารัฐบาลกำลังหาสูตรการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเร่งรีบ กับจีนอยู่ในขณะนี้
เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลไต้หวันแสดงท่าทีต้องการผ่อนคลายข้อจำกัดในการติดต่อค้าขายกับจีนก็คือ ต้องการไล่ให้ทันการลงทุนของภาคเอกชน เนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชนไต้หวันในจีนในตอนนี้จะเป็นรองก็แต่ฮ่องกงเท่านั้น โดยมีมูลค่าการลงทุนเท่ากับ 9,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไต้หวันมียอดเกินดุลการค้ากับฮ่องกงอันเป็นทางผ่านของนักธุรกิจเข้าไปลงทุนในจีน เพิ่มขึ้น 22% เป็นมูลค่า 16,700 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
การลงทุนของไต้หวันส่วนใหญ่จะมาจากภาคเอกชนไล่ตั้งแต่โรงงานตุ๊กตาขนาดเล็ก ไปจนถึงบริษัทอาหารชั้นนำของประเทศอย่างเพรสซิเดนต์ เอ็นเตอร์ไพรส์ คอร์ป และชุน ชิง เท็กซ์ไทล์ แต่ปัจจุบันภาครัฐวิสาหกิจของไต้หวันก็กำลังเร่งเข้าไปลงทุนในจีนบ้างแล้ว อาทิ ไชนิสปิโตรเลียม คอร์ป ที่เพิ่งยื่นในสมัครขอเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทจีนทำการสำรวจแหล่งน้ำมันในจีน ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายเปิดเผยตัวเลขว่า การส่องออกของสตีลคอร์ปของรัฐบาลไต้หวันจำนวน 6% เป็นการส่งออกไปยังจีนโดยผ่านทางฮ่องกง
การรุกเข้าไปลงทุนในจีนของไต้หวันนั้นมีแนวโน้มว่าจะเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ และไต้หวันเอง ก็ไม่มีปฏิกิริยาต่อนโยบายใหม่ของจีนที่เพิ่งประกาศไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ยิ่งกว่านั้นการที่ไต้หวันจะจัดให้มีการเลือกตั้งแบบระบอบประชาธิปไตยในปี 1996 ยิ่งจะทำให้การเมืองของไต้หวันไม่สามารถแบ่งแยกตนเองออกมาจากภาคธุรกิจได้อย่างเด็ดขาด ตรงข้ามกลับจะต้องหาทางช่วยภาคเอกชนให้มีโอกาสมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ นั่นหมายความว่านโยบายการประสานเศรษฐกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันนั้นกำลังเดินหน้าในอัตราที่เร็วขึ้นทุกที
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|