พรรธระพี ชินะโชติ สื่อกลางแห่งการสื่อสาร


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายของเทเลคอมเอเชียใช้เงินลงทุนในส่วนของอุปกรณ์ในการติดตั้งชุมสายและเดินสายไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เม็ดเงินนี้กระจายลงไปเป็นทอด ๆ ไปสู่ซัพพลายเออร์ ผู้รับจ้างวางโครงข่ายทั่วกรุงเทพและผู้จัดหาอุปกรณ์มาป้อนให้กับโครงการหลายสิบราย

เทเล-ไดนามิค เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ได้รับอานิสงค์จากโครงการนี้ เมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการทั้งหมด แม้จะคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เพียงพอแล้วสำหรับกิจการเล็ก ๆ ที่มีอายุไม่มากไม่น้อยแค่ 15 ปีเท่านั้น

“ก่อนที่จะมีโครงการ 2 ล้านเลขหมาย เรามียอดขายปีละ 60-70 ล้านบาท พอเกิดโครงการนี้ขึ้นมายอดขายเพิ่มขึ้นเป็นปีละราว ๆ 210 ล้านบาท” พรรธระพี ชินะโชติ กรรมการผู้จัดการบริษัท เทเล-

ไดนามิคกล่าว

ธุรกิจของเทเล-ไดนามิค คือการขายอุปกรณ์สำหรับการวางสายโทรศัพท์ในส่วนที่เรียกกันว่า OUTSIDE PLANT หรืออุปกรณ์นอกชุมสายทุกชนิดที่จำเป็นต้องใช้ในการวางสายจากชุมสายย่อยไป ยังบ้านเรือนของผู้ใช้ เช่นหัวต่อ ตู้พักสัญญาณ ราวกันฟ้า ยกเว้นสายเคเบิ้ลอย่างเดียวก่อนหน้านี้ลูกค้าก็คือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แต่พอเกิดโครงการ 2 ล้านเลขหมายขึ้นมา ยอดขายที่เพิ่มขึ้นพรวดเดียวถึงปีละ 150 ล้านบาทเป็นการขายให้กับผู้รับเหมาช่วงการวางโครงข่าย อย่างเช่น ฟูรูกาวา สุมิโรโมและฮิตาชิ เป็นต้น ซึ่งรับงานมาจากบริษัทซีเมนส์อีกต่อหนึ่ง

ซีเมนส์เป็นหนึ่งใน 3 ซัพพลายเออร์หลักของโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายที่รับงานวางโครงข่ายโทรศัพท์ในย่านทิศตะวันออกของกรุงเทพไปจนถึงสมุทรปราการจำนวน 1 ล้านเลขหมายจากเทเลคอมเอเชีย ซัพพลายเออร์อีก 2 รายคือ เอที แอนด์ ทีและเอ็นอีซี

“เราเป็นบริษัทเดียวที่มีอุปกรณ์ตอนนอกที่จำเป็นต้องใช้ครบทุกชนิดกว่า 300 อย่าง” พรรธระพีพูดถึงจุดเด่นของเทเล-ไดนามิคที่เขาบอกว่าเป็นข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งในกิจการประเภทเดียวกันที่มีอยู่ 10 กว่ารายในตอนนี้

ธรรมชาติของธุรกิจที่เทเล-ไดนามิคทำอยู่ก็คือ ซื้อมาขายไป เป็นตัวกลางสั่งซื้ออุปกรณ์ที่ผู้รับเหมาต้องการเป็นกิจการพื้น ๆ ในธุรกิจไฮเทคที่ กำลังขยายตัวอย่างสูงสุด พรรธระพีจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเซ้าท์ โอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา กลับมาทำงานด้านตลาดให้กับสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปของไทยเพรสิเด็นท์ ฟู้ดส์ อยู่พักหนึ่ง แล้วก็ลาออกไปขายเครื่องคิดเลข จนกระทั่งมาถึงบริษัทซัมมิท ซึ่งเป็นผู้ขายอุปกรณ์โทรคมนาคมให้กับองค์การโทรศัพท์ ในสมัยที่ทศท.ยังวางสายโทรศัพท์เอง

ที่ซัมมิทนี่เอง เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาในวงการหลังจากที่รู้จัก คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ ทศท. ในระดับหนึ่ง ด้วยความที่ต้องติดต่อขายอุปกรณ์ 3 ปีต่อมา ในปี 2521 พรรธระพีก็ตั้งบริษัท เทเล-ไดนามิคของตัวเองขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 3 แสนบาท จากวันนั้นถึงวันนี้ เทเล-ไดนามิคยึดมั่นในแนวทางของการเป็นสื่อกลางแห่งโลกการสื่อสารในฐานะผู้จัดหาฮาร์ดแวร์ให้กับการวางสายโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และแม้ว่าอนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมจะเจิดจรัสแค่ไหนก็ตาม พรรธระพียืนยันว่า จะไม่ขยายธุรกิจให้ใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว ด้วยเหตุผลว่า “ถ้าเราจะใหญ่กว่านี้ ก็ต้องเจอกับคู่แข่งระดับ อินเตอร์แน่ จึงตัดสินใจอยู่แค่นี้”

แต่ใช่ว่าจะหยุดอยู่เพียงแค่นี้ เขาเลือกเอาวิธีขยายตัวเข้าไปในธุรกิจอื่น ๆ เป็นการขยายฐานธุรกิจ การตั้งบริษัทแบงคอก เอ็กซ์ฮิบิชั่น เซอร์วิสเซส หรือบีอีเอส ( BESBANGKOK EXHIBITION SERVICES ) ขึ้นมาเมื่อปี 2532

จากบทบาทผู้จัดหาฮาร์ดแวร์ ในโลกการสื่อสารผ่านสายโทรศัพท์มาสู่ตัวกลางในวิถีการสื่อสารโดยตรงแบบตัวต่อตัวโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใด ๆ ทั้งสิ้น บีอีเอสคือบริษัทจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าที่เป็นตัวกลางให้ผู้ซื้อมาพบกับผู้ขาย ซึ่งจัดอยู่ในชั้นแนวหน้าเช่นเดียวกับรีด เทรดเด้กซ์ เท็มส์และเซ็มส์ โดยมีหุ้นส่วนสำคัญคือ กลุ่มมอนต์โกเมอรี่แห่งอังกฤษ ซึ่งมีเครือข่ายการตลาดของธุรกิจจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าทั่วโลก ร่วมถือหุ้นอยู่ 49%

จุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าของพรรธระพีเกิดจากการชักชวนของเพื่อนชาวสิงคโปร์ที่ทำกิจการด้านนี้อยู่แล้ว และเสนอให้เขาดึงเอางานแสดงทางด้านการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์ ของผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเคยจัดที่สิงคโปร์ แต่มีผู้ร่วมงานน้อยลงทุกปี มาจัดที่เมืองไทยแทนเพราะเห็นว่ามีธุรกิจการแปรรูปอาหารอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมากเขาจึงตั้งบีอีเอสขึ้นมา และประสบความสำเร็จกับงานนี้จนขยายไปรับงานแสดงสินค้าด้านอื่น ๆ หลายงานเช่น นิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการโรงแรม นิทรรศการและการประชุมเรื่องน้ำมันและแก๊สและ ELENEX THAILAND 94 ซึ่งเป็นนิทรรศการนานาชาติเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ที่จัดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยมีหน่วยงานด้านไฟฟ้าจากประเทศกลุ่มอินโดจีนเข้าร่วมด้วย

รายได้จากการขายพื้นที่จัดนิทรรศการของบีอีเอสอยู่ในระดับปีละ 70-80 ล้านบาทโดยประมาณ

เครือข่ายอาณาจักรธุรกิจของพรรธระพีภายใต้ชื่อ “เทเลไดนามิค โฮลดิ้ง” ไม่ได้มีเพียงเทเลไดนามิคและบีอีเอส เท่านั้นยังมีกิจการผลิตสวิทช์สร้างพลังงานให้กับอุปกรณ์สื่อสารส่งออกไปขายในสหรัฐ ฯ และยุโรปในชื่อบริษัท โกแฮม ซึ่งเขาถือหุ้นอยู่ทั้งหมด บริษัทสปอร์ต สปอต เป็นตัวแทนจำหน่ายรองเท้ากีฬา “นิวบาล้านซ์” นอกจากนี้ยังมีกิจการร่วมทุนในสิงคโปร์คือ เทเล-ไดนามิค (สิงคโปร์) ที่เขาถือหุ้นอยู่ 70% เป็นผู้ติดตั้งตู้โทรศัพท์ทั้งหมดในสถานีรถไฟใต้ดินสิงคโปร์และอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ของสนามบินชางกี รวมทั้งการทำธุรกิจโทรคมนาคมในบรูไน อินโดนีเซียด้วย

กิจการร่วมทุนอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทยคือ อัลคาเทล เคเบิล ไทยแลนด์ที่ถือหุ้นอยู่ 13% โดยมีบริษัทอัลคาเทล อิตัลไทยและสินเอเชียร่วมถือหุ้นใหญ่ เป็นกิจการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการโทรคมนาคมในแถบอาเซี่ยน

ทั้งหมดนี้ พรรธระพีใช้เวลา 15 ปีในการสร้างขึ้นมาโดยเริ่มต้นจากกิจการขายฮาร์ดแวร์การ วางเครือข่ายโทรศัพท์เป็นฐานในการสะสมทุนและสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.