|
คลื่นลูกที่สามของณรงค์ชัย อัครเศรณี
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2537)
กลับสู่หน้าหลัก
ณรงค์ชัย อัครเศรณีเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักคิด นักพูดและนักบริหารในระดับดีตั้งแต่ยังอยู่ธรรมศาสตร์ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จีเอฟ(มหาชน)ในวันนี้
ความเห็นของดร.ด้านเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ บ่อยครั้งที่ได้รับการยอมรับว่าน่าสนใจ
ล่าสุด ณรงค์ชัยเสนอแนวคิดเรื่อง “คลื่นเศรษฐกิจ” ขึ้นมา โดยเขาอธิบายว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของต่างประเทศที่ส่งผลกระทบในรูปแบบของ “คลื่นเศรษฐกิจ” 2 ลูก
ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกลุ่มจีเอฟ อธิบายถึงคลื่นลูกแรกว่า เป็นผลจาก “สงครามเวียดนาม” และอิทธิพลที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอินโดจีนในช่วงปี 2505-2518
“ผลจากคลื่นนี้ก็คือสหรัฐอเมริกาทุ่มเททรัพย์สินเงินทอง ผู้คน อาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลในการทำสงครามครั้งนี้ ในช่วงเวลานี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวปีละเฉลี่ยร้อยละ 7.2 ภาคที่มีผลกระทบมากที่สุดคือภาคอีสานและภาคตะวันออก สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่นท่าเรือและสนามบินบางแห่งยังใช้ได้ถึงปัจจุบัน” ณรงค์ชัยอธิบาย
แน่นอน รูปธรรมที่ยังเหลือจากผลการพัฒนาในคลื่นที่หนึ่งก็คือ สนามบินทหารที่อู่ตะเภา สนามบินที่อุดรธานีและถนนสายมิตรภาพที่เริ่มจากกรุงเทพไปยังภาคอีสานยังไม่นับถึงสถานบันเทิงบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่อีกจำนวนมากที่ยังหลงเหลืออยู่
คลื่นทางเศรษฐกิจลูกที่สองที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในความเห็นของณรงค์ชัย ก็คือ การไหลทะลักเข้ามาของทุนต่างชาติ ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2530-2534 ที่ดูเหมือนว่า ผลกระทบของการเกิดขึ้นเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าวยังมีผลต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้
ประธานกลุ่มจีเอฟกล่าวถึงคลื่นเศรษฐกิจลูกที่สองว่ามีแบ่งชัดเป็น 2 รูปแบบคือการลงทุนโดยตรงและการลงทุนทางอ้อมผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“การไหลทะลักเข้ามาของทุนจากต่างประเทศในระหว่างปี 2530-2534 ที่ลงทุนโดยตรงคือจากญี่ปุ่นและไต้หวัน และที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มาจากอังกฤษและยุโรป ช่วงเวลานี้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10.7%” ดร.ณรงค์ชัยกล่าวถึงผลที่เกิดจากคลื่นเศรษฐกิจลูกที่สองในไทย ที่ส่งผลโดยตรงในทางบวกกับคนที่เป็นเจ้าของที่ดินในกทม.และในปริมณฑล รวมทั้งกับคนที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
รูปธรรมในช่วงดังกล่าวก็คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มจาก 207.2 จุดในตอนเริ่มช่วยคลื่นเป็น 711.36 เมื่อคลื่นพัดผ่าน พร้อมทั้งเงินเดือนระดับจัดการและระดับบริหารเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 เท่า แต่ส่งผลเสียที่เห็นชัดก็คือ การกระจายรายได้เลวลง ผลดีตกกับคนไม่กี่กลุ่ม
และปี 2537 นี้ ณรงค์ชัยให้ความเห็นว่า คลื่นเศรษฐกิจลูกที่สามมาถึงแล้ว!!
“ความเห็นของผมคลื่นเศรษฐกิจลูกที่สามที่มากระทบไทย จะเกิดขึ้นจากบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง คือจากประเทศเวียดนาม ลาว เขมร พม่าและมณฑลยูนนาน” เขากล่าวถึงคลื่นที่กำลังมา ที่มีการมองเห็นแล้วว่า 4 ประเทศทางเหนือของไทย มีการรวมตัวรับด้วยการเกิด “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ”
ในสายตาของเขา เขมรและเวียดนาม คือพื้นที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง !!!
ที่มาของคลื่นดังกล่าวนั้นณรงค์ชัยอธิบายว่า มาจากการที่ประเทศเหล่านี้เริ่มปลอดจากสงคราม จึงเริ่มหันมาสร้างบ้านสร้างเมือง และส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยมีเงินจากต่างประเทศไหลมาบูรณะถนน ท่าเรือ สนามบิน รวมถึงระบบไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม
ตัวอย่างของการพัฒนาจากนานาชาติ อย่างเช่นลาวได้รับเงินช่วยเหลือจากออสเตรเลียสร้างสะพานแม่น้ำโขงมูลค่า 500 ล้านบาท (ซึ่งจะเปิดเป็นทางการวันที่ 8 เมษายนนี้) เวียดนามได้รับเงินช่วยเหลือจากนานาชาติมาพัฒนาประเทศหนึ่งหมื่นล้านบาท เขมรก็ได้รับการช่วยเหลือจากสหประชาชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ดูจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง
ปัญหาที่น่าสนใจก็คือประเทศไทย ซึ่งควรจะได้รับประโยชน์จากการบูรณะและฟื้นฟูเศรษฐกิจดังกล่าว โดยเฉพาะในเขมรและเวียดนามมากที่สุด สามารถที่จะทำได้หรือไม่?
ดูจะเป็นเรื่องท้าทายภาครัฐมาก เพราะขนาดประเทศอยู่ไกลอย่างสหรัฐอเมริกา ยังสนใจถึงขั้นยกเลิกเอ็มบาโก้เพื่อให้กลุ่มทุนสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามได้
ในฐานะนักธุรกิจเอกชนวันนี้ณรงค์ชัย จึงเริ่มมองเห็นศักยภาพรองรับ “คลื่นที่สาม” ดังกล่าวแล้ว โดยการลงทุนของบงล. จีเอฟ
กล่าวคือโครงการลงทุนของบริษัท ทุ่งสงครามอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) ซึ่งจีเอฟถือหุ้นอยู่ 10% แต่ได้รับการยินยอมให้เป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารได้เริ่มลงทุน ในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดหนองคายและสกลนคร พัฒนาโครงการปลูกป่ายูคาลิปตัส ไผ่ตง ในพื้นที่เสื่อมโทรม โดยส่งเสริมเกษตรกร 70,000 ครอบครัว ปลูกพืชทั้งสองชนิดปีละ 500,000 ตัน เพื่อป้อนโรงงานเยื่อและกระดาษ ซึ่งบริษัท H.A.SIMONS จากแคนาดากำลังศึกษาอยู่ โดยจะเริ่มโครงการในปีหน้า
ยังไม่รวมถึงโครงการที่บริษัท ได้ติดต่อเช่าที่ดินในประเทศลาวประมาณ 200,000 ไร่เพื่อปลูก ยูคาลิปตัสป้อนโรงงานในอนาคต ซึ่งมีการติดต่อทางการแขวงคำม่วน ซึ่งอยู่ตรงข้ามจังหวัดหนองคายแล้ว
แผนต่าง ๆ นี้ ณรงค์ชัย ยอมรับว่า เป็นเสมือน “ความฝัน” ในการพัฒนาที่ตั้ง ในทำเลเดียวกันกับโครงการของบริษัท เกษตรอุตสาหกรรมอีสาน(มหาชน) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นและโรงงานผลิตโคนมของบริษัทชัยเดรี่ ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตน้ำนมดิบป้อนโรงงานต่าง ๆ หลายแห่ง
และเป็นความฝันที่จะทำให้โครงการต่าง ๆ ในเครือจีเอฟ ตรงนั้นเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาพื้นที่ในประเทศที่มีผลจากการพัฒนาข้างต้น
แผนต่าง ๆ เหล่านี้แหละที่จะพิสูจน์ว่า “คลื่นเศรษฐกิจลูกที่สาม” ของเขาถูกหรือผิด !!!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|